...

ขันถมเงินลายสัตว์หิมพานต์

      ขันถมเงินลายสัตว์หิมพานต์

      ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๓-๒๔

      ขุดได้ที่ลัดคลองสุภา อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ย้ายมาจากห้องกลางกระทรวงมหาดไทย

      ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข หมู่พระวิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

      ขันถมเงินทรงมะนาวตัด ปากกว้างก้นแคบ ขึ้นรูปด้วยโลหะเงินตกแต่งลวดลายโดยการถมดำ ปากขันถมลายบัวคว่ำ ตัวขันถมลายสัตว์หิมพานต์ ๔ ชนิด ได้แก่ กินรี อัปสรสีหะ คชสีห์ และราชสีห์ ล้อมรอบด้วยกระหนกเปลวในช่องสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบหก พื้นตัวขันถมลายดอกลอย ก้นขันด้านนอกตกแต่งลายราชสีห์ในช่องกลม 

       ขันถมเงินใบนี้เป็นตัวอย่างงานเครื่องเงินถมดำในศิลปะอยุธยา จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบโบราณวัตถุศิลปะอยุธยาทำด้วยวัสดุเงินหลายประเภท เช่น พระพุทธรูป ภาชนะ จารึกลานเงิน เป็นต้น ประกอบกับหลักฐานประเภทลายลักษณ์อักษร อาทิ กฎมณเทียรบาล มีข้อความกล่าวถึงการพระราชทานเครื่องเงินเป็นรางวัลแก่เจ้าพนักงานที่ทำความดีความชอบ เช่น หากเจ้าพนักงานพบช้างสำคัญหรือช้างเผือกที่เหมาะจะเป็นช้างต้นและนำความกราบบังคมทูล จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ขันเงินและเสื้อผ้า ดังความว่า

 

“...ข้าหลวงกลับมากราบทูลเปนมั่นแม่น พระราชทานขันเงิน เสื้อผ้า...” อีกทั้งในเอกสารคำให้การชาวกรุงเก่ากล่าวถึงการพระราชทานเครื่องเงินเป็นเครื่องยศประจำตำแหน่งขุนนาง และเอกสารว่าด้วยแผนที่กรุงศรีอยุธยา* ระบุว่ามี “ย่านขันเงิน” เป็นตลาดขายขัน จอก ผอบ ตลับเงินเลวและแบบถมดำ ในเกาะเมืองกรุงศรีอยุธยา

 

      นอกจากนี้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ กล่าวถึงรูปแบบลวดลายของเครื่องถมเงินไว้ความว่า 

 

“...เครื่องถมนั้นชอบกล เป็นของที่มีทำนานมาแล้ว ของเก่าเรียกกันว่า “ถมดำ” เพราะลายห่างเห็นพื้นดำมาก เกล้ากระหม่อมได้สังเกตเห็นของเก่าทีเดียว เป็นพื้นดำลายเงินถัดมามีตะทองสลับกับเงิน ถัดมาอีกเป็นลายตะทองล้วน ต่อนั้นมาก็เปลี่ยนเป็นทำพื้นแคบเข้า ลายถี่แน่นเข้า ตกมาถึงถมบางขุนพรหมมีพื้นน้อยเต็มที มีลายเป็นทองอร่ามไปทั้งนั้น เข้าใจว่าเป็นด้วยคนสมัยหลังต้องการให้มีทองมาก ถือกันว่าเป็นของดี...”

 

     *สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า แต่งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยผู้แต่งทันเห็นสภาพบ้านเมืองกรุงศรีอยุธยาก่อนการเสียกรุง และต่อมาพระยาโบราณราชธานินทร์ได้สอบชำระเกี่ยวกับสถานที่ต่าง ๆ ในเกาะกรุงศรีอยุธยา เรียบเรียงขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙

 

อ้างอิง

ยุทธนาวรากร แสงอร่าม. โลหศิลป์ ณ พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๖๐.

(จำนวนผู้เข้าชม 485 ครั้ง)


Messenger