ตู้พระธรรม บนฐานแบบขาหมูเขียนภาพทิวทัศน์ ในป่า และบุคคลจากเรื่องรามายณะ (อย.๓)
วันที่ประกาศ : 22/09/2564 00:00 น. จำนวนผู้เข้าชม 931

ฝีมือช่าง :          สมัยอยุธยา
ประวัติ :            เดิมอยู่วัดเทพากร (บางพลู) กรุงเทพมหานคร
ลักษณะลาย :    ตู้ลายกำมะลอ ประกอบด้วยสีเทา สีแดงคล้ำ และสีทอง บนพื้นรักดำโดยเฉพาะสีทองใช้เป็นเส้นตัด และใช้เขียนภาพบุคคลในเรื่องรามเกียรติ์ สำหรับสีเทาและสีแดงคล้ำนั้นคงจะเขียนภายหลัง คือเขียนทับไปบนสีทองอีกชั้นหนึ่ง ทั้งนี้จะสังเกตได้จากลายเส้นสีทองนั้นจะเห็นเป็นเงาจาง ๆ อยู่ใต้สีเทาและสีแดงคล้ำ การตกแต่งเขียนเป็นภาพทิวทัศน์ในป่า มีโขดหินลักษณะเป็นเขามอซึ่งตกแต่งชะง่อนหินให้มีรูปลักษณะคล้ายหน้าคนบ้าง หน้าสัตว์ชนิดต่าง ๆ บ้าง กับทั้งประกอบด้วยต้นไม้ดอกไม้อยู่เป็นหย่อม ๆ เคล้าภาพสัตว์มีนกและแมลงนานาชนิดเกาะตามกิ่งไม้ โขดหิน เนินดิน และบ้างก็บินในอากาศ มีกระรอกอยู่ตามโพรงไม้ โขลงช้าง ฝูงวัว และมฤคทั้งหลายอยู่ในราวป่า กระต่ายและบรรดาสัตว์จตุบาท ทวิบาท ปรากฏตามซอกหิน โพรงดิน กอหญ้า และสุมทุมพุ่มพฤกษ์ ทั้งหมดนี้ประกอบกันเป็นภาพธรรมชาติของป่าเขาลำเนาไพร เคล้าภาพบุคคลในเรื่องรามเกียรติ์ ภาพจับ และภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์ สำหรับภาพตัวบุคคลในเรื่องรามเกียรติ์แต่ละตัวนั้นช่างเขียนภาพไว้ด้วยความวิจิตรงดงามยิ่ง สุดที่จะบรรยายเป็นตัวอักษรได้ครบทุกอย่างทุกกระบวนความ สุนทรียภาพดังกล่าวบรรจุความเด่นล้ำทางด้านศิลปะไว้อย่างสมบูรณ์ยิ่ง นับตั้งแต่ส่วนละเอียดของลายผ้าที่ตัวละครสวมใส่ เครื่องประดับกาย อากัปกิริยาของตัวพระ ตัวลิง และตัวยักษ์ ท่วงท่าการสู้รบกัน ช่องไฟ และการจัดลำดับภาพ ซึ่งกำหนดให้มองจากที่สูงลงมาทั้งหมดนี้ศิลปินผู้เขียนภาพ ได้แสดงความสามารถในเชิงศิลปะไว้อย่างเอกอุ สมควรได้รับความยกย่องเป็นจิตรกรรมไทยประเภทลายกำมะลอชิ้นเอกชิ้นหนึ่งได้อย่างเต็มภาคภูมิ
 


Star vote. Star vote. Star vote. Star vote. Star vote.