...

จารึกโคมป่องทรงปราสาท
จารึกโคมป่องทรงปราสาท
โคมป่องทรงปราสาทสำหรับจุดไฟบูชาพระธาตุ
เป็นทรงปราสาท ฐานสูง รองรับตัวเรือนธาตุซึ่งลฉลุโปร่งเป็นลวดลาย
โดยด้านหน้าทำเป็นประตูขนาดเล็ก ฉลุลายดอกไม้และลายกระหนก
สองข้างประตูทำเป็นรูปบุคคลยืนเหนือฐานแสดงอัญชลี (พนมมือ)
ส่วนอีกสามด้าน ตรงกลางทำเป็นกรอบสี่เหลี่ยมและภายในฉลุลวดลายดอกไม้สี่กลีบ มุมทั้งสี่ประดับด้วยนาคมีปีกและขาทอดตัวลงมาตามแนวสันหลังคา ถัดขึ้นไปเป็นหลังคาซ้อนกัน ๒ ชั้น ส่วนยอดทำเป็นดอกบัวตูม
ที่ขอบฐานชั้นบน มีจารึกตัวอักษรฝักขาม ระบุ พ.ศ. ๒๐๕๑
นอกจากโคมป่องทรงปราสาทที่อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย
นี้แล้ว ที่มุมทั้ง ๔ ทิศของกำแพงรั้วพระธาตุหริภุญไชย
ยังมีโคมป่องทรงปราสาทที่มีการประดับประดาตกแต่งอย่างงดงาม
มีรูปแบบศิลปะที่คล้ายคลึงกันกับโคมป่องใบนี้
อาจสร้างขึ้นในระยะเวลาใกล้เคียงกันเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแก่พระธาตุหริภุญไชย
จารึกโคมป่องกำหนดทะเบียนจารึกเป็น ลพ. ๔๒
อยู่บริเวณขอบฐานด้านบน มีจำนวน ๔ ด้าน จารึกด้วยอักษรฝักขาม ความว่า
"ศักราชได้ ๘๗๐ ตัว ตรงกับ พ.ศ. ๒๐๗๑ รัชกาลพระเมืองแก้ว  พระรัตนปัญญาเป็นประธานพร้อมด้วยพระมหาสามีศรีวิสุทธิ์วัดต้นแก้ว ชักชวนศรัทธาชาวยางหวานทั้งหลายที่อยู่ทิศตะวันตก ตะวันออก ทิศใต้และทิศเหนือ ได้รวบรวมทองสัมฤทธิ์หล่อเป็นปราสาทหลังนี้ หนัก ๕๘๐๐๐  สำหรับจุดไฟ บูชาพระมหาธาตุเจ้าตราบจนถึง ๕,๐๐๐ ปี"
 นอกจากนี้ด้านในโคมยังมีจารึกที่แผ่นรองด้านใน ทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย   
จะได้นำภาพถ่ายมาให้ทุกท่านชมในโอกาสต่อไป
อ้างอิง
ก่องแก้ว วีระประจักษ์ (และคนอื่นๆ). จารึกล้านนา ภาค ๒ เล่ม ๑-๒ : จารึกจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน. กรุงเทพฯ :กรมศิลปากร, ๒๕๕๑.
ณัฏฐภัทร จันทวิช (บรรณาธิการ). โบราณวัตถุและศิลปวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย . กรุงเทพฯ :ส.พิจิตรการพิมพ์, ๒๕๔๘.











(จำนวนผู้เข้าชม 186 ครั้ง)


Messenger