...

จารึกวัดบุนบาน
จารึกวัดบุนบาน พ.ศ. ๒๐๔๖ ลพ.๒๐
จารึกวัดบุนบาน ทำจากหินทราย จารึกด้วยอักษรฝักขาม มีด้านเดียว
จำนวน ๑๙ บรรทัด ตั้งแต่บรรทัดที่ ๑ - ๑๐ โดยเฉพาะส่วนข้อความช่วงต้นบรรทัดกระเทาะหายไป ทำให้การอ่านจารึกไม่สมบูรณ์
เนื้อหาจารึกสามารถสรุปใจความได้ว่าเมื่อศักราช ได้ ๘๖๖ ตัว
ตรงกับปีพุทธศักราช ๒๐๔๖ ตรงกับรัชกาลพระเมืองแก้ว
กษัตริย์ล้านนาในราชวงศ์มังราย ซึ่งครองราชย์ใน พ.ศ. ๒๐๓๘-๒๐๖๘
ได้มีพระสงฆ์ ๒ รูป ได้แก่ พระมหาเถรเจ้าจุล....(ข้อความขาดหาย)
อยู่วัดท่าแพ กับ มหาเถรผาสาทหรือมหาเถรปราสาท และเจ้าพันนาหลัง  สันนิฐานว่าเป็นชื่อของขุนนางท่านหนึ่ง ได้ถวายข้าคนไว้อุปฐากวัดบุนนาน อัน “มหาราชตนพ่อ” ได้สร้างไว้ ซึ่งมหาราชตนพ่อนี้ สันนิษฐานว่าเป็นการกล่าวถึงวัดนี้สร้างโดยพระเจ้ายอดเชียงราย กษัตริย์ล้านนาพระองค์ที่ ๑๐ แห่งราชวงศ์มังราย อันเป็นพระชนกของพระเมืองแก้ว
ครองราชย์ใน พ.ศ. 2030-2038 ข้อความจารึกตอนท้าย กล่าวถึงการถวายทองคำสำหรับวัดแห่งนี้ มีการระบุชื่อขุนนางในตำแหน่งต่างๆ เช่น
เจ้าหมื่น พัน แสน และพระสงห์ในตำแหน่งต่างๆ
เช่น พระมหาสังฆราชา  พระมหาสามี มหาเถร เพื่อเป็นสักขีพยานในครั้งนี้
จารึกวัดบุนบาน เรียกตามชื่อวัดที่ให้สร้างตามที่ปรากฏในจารึก ซึ่งปัจจุบันไม่สามารถระบุได้ว่าอยู่ในบริเวณใด แต่เดิมอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งมณฑลพายัพ วัดพระธาตุหริภุญชัย มีเพียงข้อมูลทะเบียนที่ระบุว่าได้มาจากวัดกู่เส้า ปัจจุบันมีชื่อว่าวัดกู่เรือง ตำบลเหมืองจี้ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ห่างออกไปจาตัวเมืองลำพูนทางทิศใต้ราว ๑๕ กิโลเมตร
อ้างอิง
ก่องแก้ว วีระประจักษ์  (และคนอื่นๆ). จารึกล้านนา ภาค ๒ เล่ม ๑-๒ : จารึกจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน. กรุงเทพฯ :กรมศิลปากร, ๒๕๕๑.
คงเดช ประพัฒน์ทอง, วิเคราะห์ศิลาจารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๒๒.





(จำนวนผู้เข้าชม 475 ครั้ง)


Messenger