...

จารึกหริปุญชปุรี
จารึกหริปุญชปุรี (ลพ.15)
ขนาด สูง ๑๔๒ ซม.
กว้าง ๔๗.๕ ซม.
หนา ๑๑.๕ ซม.
ศิลาจารึกหินทราย จารึกด้วยอักษรธรรมล้านนา มีจารึกจำนวน ๒ ด้าน ด้านที่ ๑ จำนวน ๓๒ บรรทัด  ขึ้นต้นด้วย ศุภมัสตุ อันเป็นคำขึ้นต้นหรือลงท้ายประกาศ หมายความว่า ขอความดีความงามจงมี ระบุศักราช  ๘๖๒ ตรงกับปี พ.ศ.๒๐๓๔ รัชสมัยพระ พระเจ้าศิริธรรมจักรพรรดิ หรือพระเมืองแก้ว  กษัตริย์ในราชวงศ์มังราย องค์ที่ ๑๑
จารึกกล่าวถึง สมเด็จบพิตรมหาราชเจ้า ตนเป็นอธิบดีในศรีพิงคราษฎร์เชียงใหม่พร้อมด้วยพระราชมารดามีศรัทธาในพระพุทธศาสนาหมายจะให้เป็นหลักมั่นคงในเมือง “หริบุญชบุรี” ซึ่งคงเป็นชื่อเดิมของเมืองลำพูนที่สืบมาจากคำว่า หริภุญไชย จึงได้สร้างหอพระธรรมมณเฑียร อันอาเกียรณ์ไปด้วยคำมาส ซึ่งก็คือหอไตรสำหรับเก็บรักษาพระไตรปิฎก ที่เกลื่อนกล่นหรือประดับไปด้วยไปด้วยทองคำ  ทรงให้สร้างพระไตรปิฏก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พร้อมทั้งอรรถคาถาฎีกาและอนุฎีกา รวมทั้งสิ้น เป็นคัมภีร์ ๔๒๐ คัมภีร์ และพระพุทธรูปทองคำประดิษฐานไว้ในพระธรรมมนเฑียรนี้ อีกทั้งยังมีภาชนะที่ทำจากโลหะมีค่าชนิดต่างๆ เช่น  กลวนน้ำนาก น้ำต้นเงิน น้ำซ่วยมือเงิน (ภาชนะใส่น้ำทำจากเงิน) ทรงให้เงินทุนเพื่อนำดอกผลมาเป็นค่าใช้จ่ายซื้อหมากเมี่ยงและข้าวบูชาพระธรรม ทรงถวายข้าคน ๑๒ ครอบครัว เพื่อปฏิบัติรักษาหอพระไตรปิฎก
ด้านที่ ๒ มี ๑๙ บรรทัด กล่าวถึงทรงห้ามให้ใช้ผู้คนเหล่านี้ (จำนวน ๑๒ ครอบครัว) ไปทำงานอย่างอื่น ขอให้ลุกหลานที่สืบไปแต่นี้จงมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาและรักษาสถานที่แห่งนี้ ตอนท้ายเป็นการขอบุญกุศลให้พระองค์เจริญด้วยทรัพย์ เกิดความแตกฉานในธรรมสามารถเทศนาสั่งสอนธรรมแก่มนุษย์และเทวดาทั้งหลายให้บรรลุถึงยังพระนิพพาน นอกจากนี้ทั้งสองพระองค์ยังได้อุทิศพระราชกุศลผลบุญแกสมเด็จพระบิดา(พญายอดเชียงราย)  พระอัยกา(ท้าวบุญเรือง) และพระอัยยิกา และเทพทั้งหลายได้แก่ พระอินทร์ พระพรหม พระยมราช และจตุโลกบาล รวมถึง เทวดาองคืที่เป็นประธานใน "หริปุญชบุรี" จงมีความยินดีและมาช่วยปกปักรักษาสถานที่แห่งนี้
อ้างอิง
ก่องแก้ว วีระประจักษ์  (และคนอื่นๆ). จารึกล้านนา ภาค ๒ เล่ม ๑-๒ : จารึกจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน. กรุงเทพฯ :กรมศิลปากร, ๒๕๕๑.
คงเดช ประพัฒน์ทอง, วิเคราะห์ศิลาจารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๒๒.                               เพ็ญสุภา สุคตะ ใจอินทร์. พระธาตุหริภุญไชย. เชียงใหม่ : สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่, ๒๕๕๓.
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. จารึกหริปุญชปุรี. เข้าถึงเมื่อ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔. เข้าถึงได้จาก  https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/2074







(จำนวนผู้เข้าชม 339 ครั้ง)


Messenger