...

ถนนท่าแพ
ถนนท่าแพ
ชุมชนย่านการค้า ท่ามกลางวัดวาอารามอันงดงาม ก่อเกิดวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์
        ถนนที่ทอดตัวยาวจากริมฝั่งแม่น้ำปิง ต้นสะพานนวรัฐ ผ่านวัดอุปคุต ไปจนถึงประตูท่าแพ มีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนไทยวนซึ่งถูกเทครัวมาจากเมืองเชียงแสนสมัยพระเจ้ากาวิละ ราวปี พ.ศ. ๒๓๔๗ คือชุมชมบ้านฮ่อม เชื่อมโยงการค้าบริเวณริมแม่น้ำปิงมุ่งหน้าเข้าสู่ตัวเมือง สู่ยุคการพัฒนาประเทศในทศวรรษ ๒๕๐๐ ส่งผลให้ถนนท่าแพกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ ตามนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว
         ความคึกคักของถนนท่าแพสะท้อนภาพพัฒนาการของชุมชน อาคารเรือนไม้ปูหลังคากระเบื้องดินขอเป็นที่ตั้งของร้านรวง เต็มไปด้วยผู้คนสัญจรโดยเท้า จักรยาน หรือม้า สู่ยุคการใช้รถยนต์ และมีการติดตั้งไฟสัญญาณจราจรเครื่องแรกในเชียงใหม่ที่สี่แยกอุปคุต
         แม้เกิดความเปลี่ยนแปลงของการขนส่งทางเรือ ภาพเรือหางแมงป่องที่สัญจรไปมาตลอดลำน้ำล่องไปจนถึงพระนคร เริ่มเงียบเหงา ผู้คนเริ่มเปลี่ยนการเดินทางสู่รถไฟเพิ่มขึ้น เห็นได้จากการขนส่งข้าวโดยรถไฟ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ มีจำนวนถึง ๖๕๐,๐๐๐ หาบ จากเดิมที่มีเพียง ๕,๐๐๐ ถึง ๒๐,๐๐๐ หาบ ย่านถนนท่าแพ ก็ยังคงความสำคัญในฐานะย่านการค้า เศรษฐกิจ เพราะมีกลุ่มพ่อค้าหลากหลายเชื้อชาติเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ประกอบอาชีพค้าขาย ทั้งกลุ่มชาวจีนฮ่อจากยูนนาน ชาว ไทใหญ่ และชาวพม่า เมื่อเศรษฐกิจดี ผู้คนมีกำไรจากการค้าก็หันมาทำนุบำรุงศาสนา ปรากฏวัดวาอารามโดยรอบ ได้แก่ วัดบุพพาราม วัดเชตวัน วัดมหาวัน วัดแสนฝาง และวัดอุปคุต ซึ่งมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมพม่าอันโดดเด่น จนกลายเป็นหมุดหมายของนักเดินทางต่างถิ่น
         ปัจจุบันถนนท่าแพยังคงเป็นศูนย์รวมของธุรกิจร้านค้าด้านการท่องเที่ยว พรั่งพร้อมด้วยสถาปัตยกรรมของวัดวาอารามอันงดงาม เอกลักษณ์ของวัฒนธรรมประเพณีซึ่งเกี่ยวโยงกับศาสนา ที่พร้อมบอกเล่าเรื่องราวพัฒนาการของย่านชุมชนการค้าแห่งนี้ในทุกซอกทุกมุม
ผู้เรียบเรียง : นายวีระยุทธ ไตรสูงเนิน นักจดหมายเหตุชำนาญการ
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่. ภาพส่วนบุคคล ชุด นายบุญเสริม สาตราภัย.
#ถนนท่าแพ
#เอกสารจดหมายเหตุ
#หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถเชียงใหม่
#สำนักศิลปากรที่๗
ข้อมูลอ้างอิง
บุญเสริม  สาตราภัย. ๒๕๕๔. เชียงใหม่ในความทรงจำ. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์แสงศิลป์.
สมโชติ  อ๋องสกุล. ๒๕๖๒. ชุมชนรอบวัดในเชียงใหม่ : ประวัติศาสตร์ชุมชน โดยศูนย์ล้านนาศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เชียงใหม่ : บริษัท วิทอินดีไซตน์ จำกัด.
สรัสวดี อ๋องสกุล. ๒๕๕๗. ประวัติศาสตร์ล้านนา. กรุงเทพฯ : อมรินทร์.
อนุ เนินหาด, พ.ต.ท. ๒๕๔๙. ท่าแพตะวา สังคมเมืองเชียงใหม่ เล่มที่ ๑๔. เชียงใหม่ : นนทบุรีการพิมพ์







(จำนวนผู้เข้าชม 955 ครั้ง)