...

องค์ความรู้ ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์ เรื่อง “วันมาฆบูชา วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3”
องค์ความรู้ ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์ เรื่อง “วันมาฆบูชา วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3”
วันมาฆบูชา หมายถึง การบูชา ในวันเพ็ญเดือน 3 เนื่องในโอกาสคล้าย วันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ แก่พระภิกษุจำนวน 1250 รูป ในปี 2567 วันมาฆบูชา ตรงกับวันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3
คำว่า "มาฆะ" นั้น เป็นชื่อของเดือน 3 ย่อมาจากคำว่า "มาฆบุรณมี" หมายถึง การบูชาพระในวันเพ็ญเดือน 3 วันมาฆบูชาจึงตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 แต่ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือมีเดือน 8 สองครั้ง วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็น วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4
วันมาฆบูชา หรือ วันจาตุรงคสันนิบาต เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง โดยมีเหตุการณ์สำคัญอย่าง จาตุรงคสันนิบาต ที่แปลความได้ว่า การประชุมด้วยองค์ 4 เกิดขึ้น ได้แก่
1. เป็นวันที่พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันที่เวฬุวันวิหาร ในกรุง ราชคฤห์ แคว้นมคธ โดยมิได้นัดหมาย
2. พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้ล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" คือเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น
3. พระภิกษุสงฆ์ทุกองค์ที่ได้มาประชุมในครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นผุ้ได้บรรลุพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา 6 แล้วทั้งสิ้น
4. เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงเสวยมาฆฤกษ์ (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3)
ความสำคัญของวันมาฆบูชานั้น อยู่ตรงที่วันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง โอวาทปาฏิโมกข์ กล่าวคือ พระโอวาทที่เป็นประธานของพระศาสนา หรือศีล 227 ข้อ ที่พระพุทธองค์นำมาแสดงให้พระภิกษุได้ยึดเป็นหลักปฏิบัติ โดยมีใจความโดยรวมว่า “การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำแต่ความดีให้บริบูรณ์ การทำจิตใจให้ผ่องใส ปราศจากกิเลส” หรือ ให้ละเว้นการทำชั่ว กระทำแต่ความดี และทำใจให้บริสุทธิ์
ในวันนี้จะมีการทำบุญตักบาตรในตอนเช้า ฟังเทศน์ที่วัด ในตอนค่ำของวันมาฆบูชา พุทธศาสนิกชนก็จะนำดอกไม้ ธูปเทียนไปที่วัด เพื่อทำพิธีเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ ระลึกถึง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ
อ้างอิง : ประชิด สกุณะพัฒน์, อุดม เชยกีวงศ์. วันสำคัญ. กรุงเทพฯ : ภูมิปัญญา, 2549.
บุญเติม แสงดิษฐ์. วันสำคัญ. กรุงเทพฯ : พัชรการพิมพ์. 2541.
ผู้เรียบเรียง : นายประพนธ์ รอบรู้
นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี

(จำนวนผู้เข้าชม 47 ครั้ง)