...

ดำน้ำหยด: ปราชญ์เมืองจันท์ด้านการเกษตร

          นายจรวย พงษ์ชีพ หรือเป็นที่รู้จักกันในนาม “ดำน้ำหยด” เกิดเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2476เป็นเกษตรกรสวนผลไม้ชาวอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เป็นบุคคลต้นแบบผู้ริเริ่มนวัตกรรมใหม่เพื่อพัฒนาการทำสวนผลไม้ ผลงานชิ้นแรกที่ทำให้นายจรวยเป็นที่รู้จัก คือ การแก้ปัญหาเงาะขี้ครอก หรือเงาะที่ไม่ติดผล โดยค้นพบว่าน้ำยาเร่งดอกสับปะรดเพื่อให้สับปะรดออกผลตามฤดูกาลนั้น สามารถนำมาใช้กับเงาะเพื่อแก้ปัญหานี้ได้เป็นอย่างดี และยังเป็นผู้ริเริ่มการผสมข้ามพันธุ์ผลไม้หลายชนิด เช่น เงาะไทยกับเงาะอินโดนีเซีย ทุเรียนพันธุ์ทองย้อยกับทุเรียนพันธุ์กระดุมทอง ซึ่งทำให้ได้ทุเรียนที่มีรสหวาน เมล็ดลีบ และทนต่อโรค  
          ผลงานชิ้นสำคัญที่ทำให้นายจรวยเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั้งในระดับชาติและนานาชาติ คือ การพัฒนาชลประทานระบบน้ำหยดเพื่อการเกษตร ซึ่งเป็นวิธีการให้น้ำแบบประหยัดและให้ผลตอบแทนสูงสุด เนื่องจากสามารถควบคุมปริมาณน้ำได้ตามความต้องการ และช่วยประหยัดเวลาในการให้น้ำ โดยนายจรวย  เกิดการจุดประกายความคิดมาจากความบังเอิญที่พบว่าบริเวณต้นเงาะที่ให้ผลผลิตมากเป็นพิเศษนั้นมีท่อน้ำวางผ่านและมีรูรั่ว จึงได้เริ่มต้นคิดค้นและพัฒนาระบบการให้น้ำแบบน้ำหยดมาอย่างต่อเนื่องจนประสบความสำเร็จ และเป็นที่ยอมรับของเกษตรกรชาวสวนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยชื่อ “ดำน้ำหยด” ที่เป็นที่รู้จักนั้น “ดำ” มาจากชื่อเล่นของนายจรวย และในช่วงที่มีชื่อเสียงโด่งดัง หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจึงได้ขนานนามว่า “ดำน้ำหยด” จนเรียนกันติดปากถึงทุกวันนี้ 
          ระบบน้ำหยดที่นายจรวยได้คิดค้นและพัฒนาขึ้นนั้นจำเป็นต้องใช้ร่วมกับระบบไฟฟ้า โดยพื้นที่นั้นจะต้องมีแหล่งน้ำสำหรับใช้กับระบบสปริงเกอร์ มีการวางและต่อระบบน้ำ การประกอบระบบพ่นน้ำ และติดตั้งมอเตอร์ปั๊มน้ำ หากแหล่งน้ำอยู่ไกลก็อาจใช้เครื่องสูบน้ำแทน ภายหลังมีการพัฒนาระบบหัวฉีดหรือหัวจ่ายน้ำแบบต่างๆ เพื่อการประยุกต์ใช้กับพืชและระบบน้ำแต่ละชนิดให้เหมาะสม ทั้งนี้การให้น้ำโดยระบบน้ำหยดเพื่อให้พืชได้ผลผลิตที่ดี จำเป็นต้องมีการคำนึงถึงปัจจัยหลายด้าน เช่น ปริมาณน้ำที่พืชแต่ละชนิดต้องการ ระบบการสูบจ่ายน้ำ ประเภทและคุณภาพของดิน ตลอดจนสภาพภูมิอากาศร่วมด้วย
          นายจรวย พงษ์ชีพ ได้รับการยกย่องจากมูลนิธิธารน้ำใจให้เป็นคนไทยตัวอย่างด้านการเกษตร ประจำปี พ.ศ. 2522 และได้รับการประสาทปริญญาเทคโนโลยีการเกษตร มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (พืชศาสตร์) จากสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2529
 
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
ข้อควรรู้สักนิดก่อนติดสปริงเกอร์. [ออนไลน์].  สืบค้นเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2566, จาก: https://www.baanlaesuan.com/45192/maintenance/sprinkler
วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดจันทบุรี. กรุงเทพฯ: กระทรวงศึกษาธิการ, 2544.
ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคตะวันออก.  ดำน้ำหยด ผู้พิชิตน้ำแห่งเมืองขลุง.  ระยอง: ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคตะวันออก, ม.ป.ป. 
 
เรียบเรียง: นางสาวปริศนา ตุ้มชัยพร บรรณารักษ์ชำนาญการ
หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี


(จำนวนผู้เข้าชม 383 ครั้ง)