...

องค์ความรู้ ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์ เรื่อง “วันลอยกระทง”
องค์ความรู้ ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์ เรื่อง “วันลอยกระทง”
วันลอยกระทง ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี ในปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2566
ลอยกระทง หมายถึง ชื่อพิธีอย่างหนึ่ง ทำตรงกับคืนวันเพ็ญ เดือน 12 มีการจุดธูปเทียนปักลงบนสิ่งที่ไม่จมน้ำที่ประดิษฐ์เป็นรูปร่างต่างๆ เช่น กระทง เรือ แพ ดอกบัว ฯลฯ แล้วนำไปลอยตามลำน้ำ
ประเพณีลอยกระทงมีมานานตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ประมาณ พ.ศ. 1800 นางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์สนมเอกของพระร่วง ได้คิดประดิษฐ์ดัดแปลงรูปกระทงดอกบัวแทนการลอยโคม เมื่อสมเด็จพระร่วงเจ้าได้เสด็จฯทางชลมารค ทอดพระเนตรกระทงของนางนพมาศก็ทรงพอพระราชหฤทัย จึงมีพระราชโองการให้จัดพิธีลอยกระทงเป็นประจำทุกปี ในคืนวันเพ็ญเดือน 12 พระราชพิธีนี้จึงได้ถือปฏิบัติกันมาจนกระทั่งทุกวันนี้
การลอยกระทงหรือลอยโคมในสมัยสุโขทัย กระทำเพื่อเป็นการสักการะรอยพระพุทธบาทที่แม่น้ำนัมมทานที ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ในแคว้นทักขิณาบถของประเทศอินเดีย ปัจจุบันเรียกว่าแม่น้ำเนรพุทท อันที่จริงลอยกระทงเป็นประเพณีขอขมาธรรมชาติมาแต่ดึกดำบรรพ์ เพราะชาวบ้านทั่วไปรู้จากประสบการณ์ว่า ถึงเดือนสิบเอ็ด (หรือราวเดือนตุลาคม) น้ำจะขึ้นนองหลากพอถึงเดือนสิบสอง (หรือราวเดือนพฤศจิกายน) น้ำจะทรงตัวคือไม่ขึ้นไม่ลง ครั้นเดือนอ้าย (หรือราวเดือนธันวาคม) ต่อเดือนยี่ (หรือราวเดือนมกราคม) น้ำจะลดลง
การลอยกระทงไม่มีพิธีรีตอง เพียงแต่ขอให้มีกระทงจะทำด้วยอะไรก็ได้ แต่ควรเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่าย เช่น ใบตอง กาบกล้วย กาบพลับพลึง เปลือกมะพร้าว กระดาษ ประดับด้วยดอกไม้ จุดธูปเทียนปักที่กระทง แล้วอธิษฐานตามที่ตนปรารถนา เสร็จแล้วจึงลอยไปในแม่น้ำลำคลอง ตามคุ้มวัดหรือสถานที่จัดงานหลายแห่ง มีการประกวดกระทง ประกวดนางนพมาศ และมีมหรสพสมโภชในตอนกลางคืน การละเล่นพื้นเมือง เช่น รำวงเพลงเรือ เพื่อสืบสานวัฒนธรรมไทย นอกจากนั้นยังมีการจุดดอกไม้ ไฟ พลุ ตะไล ซึ่งในการเล่นต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
อ้างอิง : ประชิด สกุณะพัฒน์, อุดม เชยกีวงศ์. วันสำคัญ. กรุงเทพฯ : ภูมิปัญญา, 2549.
บุญเติม แสงดิษฐ์. วันสำคัญ. กรุงเทพฯ : พัชรการพิมพ์. 2541.
ผู้เรียบเรียง : นายประพนธ์ รอบรู้
นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี

(จำนวนผู้เข้าชม 86 ครั้ง)