...

จาก “เสื่อสมเด็จฯ” สู่ “เสื่อจันทบูร”
         
          หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า “เสื่อจันทบูร” จากคำขวัญประจำจังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นสินค้าหัตถกรรมพื้นบ้านอย่างหนึ่งทีมีเอกลักษณ์เฉพาะของจันทบุรี ทำจากต้นกกกลมที่ขึ้นอยู่บริเวณน้ำกร่อย เป็นกกที่มีลักษณะพิเศษกว่ากกทั่วไป ด้วยคุณสมบัติพิเศษของเส้นใยที่เหนียว แข็งแรง มีความคงทน มันวาว และสวยงาม เมื่อนำมาทอเป็นเสื่อแล้ว จะทำให้เสื่อมีความทนทานแข็งแรง ให้สัมผัสที่นุ่มนวล ขัดถูได้มันงดงาม 
          ชาวจันทบุรีรู้จักการทอเสื่อมาไม่ต่ำกว่า 120 ปีแล้ว ผู้ริเริ่มกลุ่มแรกคือกลุ่มผู้นับถือศาสนาคาทอลิกที่อาศัยอยู่บริเวณหมู่บ้านญวน วัดโรมันคาทอลิก โดยมีปรากฏในพระราชนิพนธ์เรื่องเสด็จประพาสเมืองจันทบุรีในรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2419) ทรงบันทึกไว้ว่า “เสื่อกกแดงนั้น มีแต่พวกญวนทำแห่งเดียว ทอเป็นผืนบ้างเป็นเสื่อรวดบ้าง” ในสมัยนั้นการทอเสื่อชาวญวนต้องซื้อกกและปอจากชาวบ้านตำบลต่างๆ มาจักและลอก เมื่อนำกกมาจักเป็นเส้นเล็กๆ แล้วนำมาผึ่งและตากให้แห้งสนิทแล้ว จึงลงมือย้อมสีกก ระยะแรกใช้สีจากธรรมชาติซึ่งมี  3 สี คือ สีแดงจากเปลือกยาง สีดำจากลูกมะเกลือและการหมักโคลน และสีเหลืองจากหัวขมิ้น จึงทำให้เสื่อกกในยุคแรกถูกเรียกว่าเสื่อแดงหรือเสื่อกกแดง เพราะใช้สีแดงเป็นหลักในการทอสลับกับสีดำ ต่อมาภายหลังได้มีการนำสีวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้ การย้อมสีกกจึงสะดวกและได้สีที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น หลังจากเส้นกกที่ย้อมสีแห้งแล้วจึงเริ่มกระบวนการทอเสื่อ โดยใช้เส้นปอเป็นเส้นยืน ซึ่งมีความทนทานกว่าเส้นยืนที่เป็นพลาสติก ต่อมาเมื่อถึงช่วงยุคการทำพลอยเฟื่องฟู อาชีพทอเสื่อของหมู่บ้านญวนก็ค่อยๆ ซบเซาลงจนเกือบสูญหายไป 
          กิจการทอเสื่อเริ่มเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้ง เมื่อประมาณ พ.ศ. 2493 โดยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ทรงฟื้นฟูอุตสาหกรรมการทอเสื่อ โดยทรงริเริ่มการออกแบบลวดลาย ปรับปรุงเทคนิคการฟอกและย้อมสี ทรงคิดประดิษฐ์เสื่อเป็นเครื่องใช้แบบต่างๆ เช่น ที่รองจาน ที่รองแก้ว กระเป๋าถือ กล่องใส่กระดาษเช็ดหน้า เข็มขัด ฯลฯ จัดทำโดยข้าราชบริพารในวังสวนบ้านแก้ว และนำออกจำหน่ายโดยใช้ชื่อสินค้าว่า “S.B.K. ส.บ.ก. อุตสาหกรรมชาวบ้าน The Peasant Industries, RAMBHAI PANA LTD. THAILAND.” แต่กลับได้รับการเรียกขานกันเป็นสามัญว่าผลิตภัณฑ์ “เสื่อสมเด็จฯ” ซึ่งได้รับความนิยมมาก ผู้ทอเสื่ออื่น ๆ ได้เห็นรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่แปลกตาจึงเกิดแรงบันดาลใจในการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น เสื่อม้วน เสื่อเม้มริม เป็นต้น การทอเสื่อจึงเริ่มฟื้นฟูขึ้นอีกครั้ง นับได้ว่าท่านเป็นผู้บุกเบิกและวางแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมการทอเสื่อในจันทบุรีให้เจริญรุ่งเรือง และขยายผลทำให้เป็นที่รู้จักไปทั่วทุกภูมิภาค 
          ปัจจุบันเสื่อจันทบูรยังคงเป็นสินค้าของฝากยอดนิยม หมู่บ้านที่ยังมีการรวมกลุ่มทำหัตถกรรมพื้นบ้านทอเสื่อกก เช่น บ้านเสม็ดงาม บ้านบางสระเก้า บ้านเขาน้อยท่าแฉลบ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริม   การผลิตโดยมีความร่วมมือกับนักออกแบบท้องถิ่นรุ่นใหม่ที่มาช่วยพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ดูน่าใช้และมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น มีการออกแบบสร้างสรรค์ลวดลายการทอใหม่ๆ ด้วยการนำ “ลายปัญจจันทบูร” ซึ่งเป็นลายผ้าประจำจังหวัดจันทบุรีมาพัฒนาต่อยอดสู่ลายเสื่อ รวมถึงการรวมกลุ่มเพื่อทำการตลาดและออกร้านผลิตภัณฑ์เพื่อให้เสื่อจันทบูรเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เสื่อจันทบูรได้ขึ้นทะเบียนสินค้า GI ของภูมิภาคตะวันออกไทยจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งรับรองได้ว่าเป็นสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะจากภูมิปัญญาและภูมิศาสตร์ท้องถิ่น เป็นสินค้าที่มีอัตลักษณ์และได้มาตรฐาน ช่วยยกระดับรายได้ท้องถิ่น และส่งผลให้ขยายตลาดได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
ประมวลพระฉายาลักษณ์ พระราชประวัติ และภาพพระราชกรณียกิจ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 กับสวนบ้านแก้ว. จันทบุรี:
     โรงพิมพ์โปรออฟเซท, 2535.
วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดจันทบุรี. กรุงเทพฯ: กระทรวงศึกษาธิการ, 2544.
หนีกรุงไปปรุงฝัน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2566, จากhttp://www.neekrung.com/nanana/264
 
เรียบเรียง: นางสาวปริศนา ตุ้มชัยพร บรรณารักษ์ชำนาญการ
หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี
 
ขอขอบคุณภาพสินค้าเสื่อกกจันทบูรจากเพจ ร้านกอกก https://www.facebook.com/KORKOKCHAN


(จำนวนผู้เข้าชม 430 ครั้ง)