...

ละครเท่งตุ๊ก ศิลปะการแสดงพื้นบ้านของจันทบุรี
 
ละครเท่งตุ๊ก หรือ เท่งกรุ๊ก เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านของจันทบุรีที่สืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านานสันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลจากการแพร่ขยายทางวัฒนธรรมผ่านการติดต่อค้าขายจากภาคใต้มาสู่ภาคตะวันออก โดยแรกเริ่มมีการเผยแพร่ขึ้นที่ฝั่งบ้านเพ จังหวัดระยอง จากนั้นได้ขยายมายังอำเภอแหลมสิงห์และอำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นเขตน่านน้ำเดียวกัน จึงทำให้ละครเท่งตุ๊กนั้นมีลักษณะเดียวกับละครชาตรีทางภาคใต้ ทั้งนี้ได้มีการประยุกต์ให้เข้ากับศิลปะการแสดงของท้องถิ่นเมืองจันท์ จนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มักนิยมเล่นกันในงานแก้บนหรืองานทิ้งกระจาดตามศาลเจ้า
และศาลหลักเมือง 

คำว่า เท่งตุ๊ก สันนิษฐานว่ามาจากการเลียนเสียงของเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดง คือ “โทน” ซึ่งมีเสียงดัง “เท่งๆๆ” ส่วนคำว่า ตุ๊ก เป็นคำเลียนเสียง “กลองตุ๊ก” ที่ตีเสียงดัง “ตุ๊กๆๆ” ละครเท่งตุ๊กมีลักษณะการเล่น การร้อง การแต่งกาย และใช้เครื่องดนตรีที่คล้ายกับการเล่นละครชาตรี ชาวบ้านจึงเรียกคล้องจองกันว่า “ชาตรี - เท่งตุ๊ก” เครื่องดนตรีที่ใช้ คือ โทน ฉิ่ง ฉาบเล็ก กรับ และ
กลองตุ๊ก บางครั้งมีการนำระนาดและกลองชุดเข้ามาบรรเลงผสม การแต่งกายคล้ายกับการแต่งกายเครื่องชุดตัวพระ - ตัวนาง ส่วนใหญ่นิยมใช้นักแสดงหญิงเป็นผู้รับบทพระ - นาง และตัวละครอื่นๆ ระยะหลังเริ่มมีผู้ชายร่วมแสดงบ้าง แต่นิยมให้รับบทเป็นตัวตลก เรื่องที่ใช้ในการแสดงเป็นเรื่องเกี่ยวกับนิทานพื้นบ้าน หรือบทประพันธ์ในวรรณคดีไทย ในยุคสมัยหนึ่งมีการปรับเนื้อเรื่องให้เป็นลักษณะเดียวกับละครโทรทัศน์ที่นำมาจากนวนิยาย หรือละครวิทยุกระจายเสียงในสมัยนั้น 

จังหวัดจันทบุรีมีคณะละครเท่งตุ๊กหลายคณะ เช่น คณะ ส.บัวน้อย คณะไชยเจริญศิลป คณะเปรมฤทัยวัยรุ่น คณะจักรวาลมงคลศิลป์ คณะขวัญใจเจริญศิลป์ เป็นต้น โดยแต่ละคณะมีประวัติความเป็นมาและระเบียบแบบแผนในการแสดงที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ละครเท่งตุ๊กมีทั้งแบบที่รักษาขนบธรรมเนียมแบบดั้งเดิม แบบพันทางคือผสมความเป็นลิเกเพื่อเอาใจผู้ชม และแบบประยุกต์คือเน้นการร้องเพลง
ลูกทุ่งผสมวงสตริง และหางเครื่อง ปัจจุบันละครเท่งตุ๊กหาชมได้ยาก เพราะมักนิยมแสดงเพื่อแก้บนหรือบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในงานพิธีต่าง ๆ อย่างไรก็ตามสภาวัฒนธรรมจังหวัดจันทบุรี หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนในจังหวัดจันทบุรี ได้ร่วมกันฟื้นฟูและอนุรักษ์ละครเท่งตุ๊ก เพื่อให้คนในท้องถิ่นได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญ โดยการเผยแพร่ความรู้และนำละครเท่งตุ๊กออกแสดงในงานสำคัญบ่อยครั้ง
อีกทั้งยังมีการส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับละคร เท่งตุ๊กในการจัดการเรียนการสอนในบางโรงเรียน โดยการฝึกหัดนักเรียนให้รู้จักการแสดงเท่งตุ๊ก จนสามารถนำออกแสดงจริงได้ เพื่อรักษาและสืบทอดศิลปะการแสดงพื้นบ้านนี้ให้คงอยู่สืบไป


แหล่งข้อมูลอ้างอิง
ประภาศรี ศรีประดิษฐ์.  ละครเท่งตุ๊กในจังหวัดจันทบุรี.  วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (นาฏยศิลป์). กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2545.
รัจน์ชีวาต์ ตั๋นติกุลวรา.  สื่อการแสดงพื้นบ้านจันทบุรี: คุณลักษณะและรูปแบบการปรับตัวภายใต้บริบทประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน.  จันทบุรี: มหาวิทยาลัยราชภัฏ
     รำไพพรรณี, 2561.
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดจันทบุรี.  การแสดงละครชาตรีเท่งตุ๊ก จังหวัดจันทบุรี.  จันทบุรี: สำนักงานวัฒนธรรมจันทบุรี, 2548.

ภาพประกอบ: ขอขอบคุณภาพจากเพจสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดจันทบุรี และเพจละครชาตรี เท่งตุ๊ก รวมดาวรุ่ง ดาราศิลป์
 
ผู้เรียบเรียง: นางสาวปริศนา ตุ้มชัยพร บรรณารักษ์ชำนาญการ
หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี
 
 
 

(จำนวนผู้เข้าชม 1086 ครั้ง)