...

องค์ความรู้ ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์ เรื่อง “เงาะ พันธุ์สีชมพู และ เงาะโรงเรียน”
องค์ความรู้ ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์ เรื่อง “เงาะ พันธุ์สีชมพู และ เงาะโรงเรียน”
เงาะ เป็นผลไม้ปลูกกันมากในจันทบุรี นอกเหนือจากทุเรียน ช่วงนี้กำลังมีผลผลิตออกสู่ท้องตลาด ทั้งเงาะ พันธุ์สีชมพู และเงาะโรงเรียน เราจะมาทำความรู้จักกับ “เงาะ” ผลไม้ที่ชาวสวนจันทบุรีปลูกกัน
“เงาะ” เป็นผลไม้ที่ทุกคนรู้จักกันดี ที่ปัตตานีบางคนจะเรียกเงาะว่า “พรวน” อังกฤษเรียก “รัมบูตาน” ตามอินโดนีเซีย (รัมบุท แปลว่า ขน) ฟิลิปปินส์เรียก รัมบูตาน บ้าง ยูซาน (Usan) บ้าง เขมรเรียก “ซาวมาว” เวียดนามเรียก “ไหวทิว” (Vai thieu)
เงาะในธรรมชาติเป็นต้นไม้สูงใหญ่ สูงได้กว่า 10 เมตร แต่เงาะปลูกจะสูงได้ประมาณ 4 – 7 เมตร แผ่กิ่งก้านสาขา รัศมีพุ่มประมาณ 4 – 5 เมตร เงาะปลูกส่วนมากมีใบเพียง 3 คู่ ด้านบนเกลี้ยง บางครั้งก็มีขนอ่อนเล็กน้อยที่เส้นกลางใบ ด้านล่าง (ใต้ใบ) มีขนบ้าง ไม่มีขนบ้าง ปลายใบตัดเรียวแหลม เส้นใบเห็นเด่นชัด ยอดอ่อนมีขน ช่อดอก มีทั้งที่แทงออกจากยอดเทียม (ตามด้านข้างกิ่ง) และยอดแท้ (ปลายกิ่ง) ดอกถ้าไม่เป็นดอกเพศผู้ ก็เป็นดอกเพศกระเทย ชาวสวนเรียกเงาะกระเทย หรือเงาะตัวเมีย
ชาวสวนจันทบุรีนิยมปลูกเงาะอยู่ 2 พันธุ์ คือ พันธุ์สีชมพู ซึ่งเป็นเงาะพันธุ์พื้นเมืองที่มีแหล่งกำเนิดดั้งเดิมในจันทบุรี เนื้อนุ่มหวาน เมื่อสุกผลจะมีสีชมพูทั้งลูกและขนสวยสดชื่นยิ่งนัก
อีกพันธุ์ คือ เงาะโรงเรียน ซึ่งมีถิ่นกำเนิดที่อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี และมีผู้นำมาปลูกในจังหวัดจันทบุรี เมื่อราวปี พ.ศ. 2505 – 2510 ลักษณะของผลเงาะโรงเรียน จะใหญ่กว่าเงาะสีชมพู เนื้อนุม กรอบ หวาน หอม เมื่อสุกผลจะมีสีแดงเข้มแซมด้วยขนสีแดงอมเขียว ราคาซื้อขายสูงกว่าพันธุ์เงาะสีชมพู แต่ให้ผลผลิตต่อต้นน้อยกว่าเงาะพันธุ์สีชมพู และการบำรุงรักษาเมื่อติดลูกจนกระทั่งถึงเก็บเกี่ยวค่อนข้างสิ้นเปลืองและยากกว่าพันธุ์สีชมพู
อ้างอิง : ที่ระลึกในพิธีเปิดหอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี : อัมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ. 2533.
ไพโรจน์ ผลประสิทธิ์. ผลไม้ไทยๆ : สำนักนายกรัฐมนตรี. 2545
ผู้เรียบเรียง : นายประพนธ์ รอบรู้
นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี

(จำนวนผู้เข้าชม 810 ครั้ง)


Messenger