...

องค์ความรู้ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์ เรื่อง "มารยาทในงานวันเกิด"
องค์ความรู้ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์ เรื่อง "มารยาทในงานวันเกิด"
วันสำคัญในชีวิตของคนเราก็จะมีวันเกิด วันนี้ที่เรานับเป็นวันสำคัญด้วยการจัดงานวันเกิด ตามพิธีพราหมณ์ที่ไทยรับเอามาปฏิบัติและกลายเป็นประเพณีไทยตั้งแต่คนเกิดคนตายมีมากมายหลายขั้นตอน พิธีเนื่องในวันเกิดประกอบด้วยพิธีทำขวัญวันเกิด พิธีทำขวัญเดือน โกนผมไฟและตั้งชื่อ การโกนจุก
แต่ในปัจจุบัน พิธีเหล่านี้บางอย่างเหลือแต่ชื่อ แต่บางท้องถิ่นยังทำสืบเนื่องกันมาอยู่ตามประเพณีโบราณซึ่งอาจมีคนบางกลุ่มท้องถิ่นที่ยังปฏิบัติอยู่แต่ไม่เป็นที่รู้จักคุ้นเคยของคนทั่วไป
การทำบุญวันเกิดที่สืบเนื่องกันมาในปัจจุบันคือ พิธีทำบุญวันเกิด ซึ่งทำได้หลายแบบ ดังนี้
1. ทำบุญประจำวันเกิดทุกสัปดาห์ เกิดตรงกับวันอะไรก็ทำบุญวันนั้น การทำบุญประจำสัปดาห์ส่วนมากใช้วิธีตักบาตร จำนวนของพระจะตักใส่กี่รูปก็ได้ บางคนสะดวกอยู่ใกล้วัด หรือพระมาบิณฑบาต หลายรูปสามารถทำบุญตักบาตรได้เท่าอายุ และเกินไปอีกรูปหนึ่ง เท่ากับเป็นการต่ออายุของตนเอง
2. ทำบุญประจำวันเกิดประจำปี วิธีทำประจำปีมักจะทำเป็นงานใหญ่กว่าการใส่บาตรธรรมดา เจ้าของวันเกิดจะทำบุญเลี้ยงพระ ถวายสังฆทานในตอนเช้า หรือเพลเที่ยง พอตอนบ่ายก็รับประทานเลี้ยงกันระหว่างญาติมิตร พิธีสงฆ์อาจจัดที่บ้านหรือที่วัดก็ได้ตามความสะดวก
3. ทำบุญวันเกิดเมื่ออายุครบ 25 ปี ธรรมเนียมไทยถือว่าคนที่อายุ 25 ปีเป็นระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ วัยเบญจเพสที่สำคัญที่สุดตอนหนึ่งของชีวิตตามความเชื่อโบราณว่าคนอายุ 25 ปี มักจะมีเหตุการณ์ที่ร้ายแรงหรือเกิดเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนเกิดขึ้นในชีวิตได้
4. ทำบุญวันเกิดเมื่ออายุครบรอบ 12 ปี เช่น ครบ36 ปี 48 ปี 60 ปี 72 ปี 84 ปี 96 ปี เป็นต้น การที่มีอายุครบรอบ 12 ปีถือว่าเป็นมงคลชีวิต จึงควรทำบุญเป็นการเฉลิมฉลองวันเกิด โดยเฉพาะคนไทย คนจีน ที่อยู่จนถึงเกษียณอายุราชการคือ60 ปี ถือว่าต้องฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่เป็นพิเศษ และการทำบุญฉลองวันเกิดนี้ก็ขึ้นอยู่กับฐานะของเจ้าของวันเกิด
มารยาทของเจ้าภาพจัดงานวันเกิด
เจ้าภาพที่จัดงานวันเกิดอาจไม่ใช่เจ้าของวันเกิดก็ได้ ในกรณีที่เจ้าของวันเกิดอายุยังน้อย บิดา มารดาจะจัดงานให้ หรือเจ้าของวันเกิดอาจชราภาพ อายุ 7 รอบ 8 รอบแล้ว ลูกหลานจะเป็นเจ้าภาพจัดงานแทนได้ การจัดงานมีทั้งงานขนาดเล็กและขนาดใหญ่ มีพิธีการ เป็นกันเองซึ่งทั้งนี้แล้วแต่เป็นความต้องการของผู้จัด ไม่ว่างานจะจัดขนาดไหนก็ตามเจ้าภาพต้องระวังไม่ให้มีสิ่งผิดพลาดเกิดขึ้น แต่ถ้าเกิดก็ต้องให้น้อยที่สุด
ถ้าจะส่งบัตรเชิญ ควรส่งล่วงหน้าหากจำเป็นต้องการจำนวนผู้มาร่วมงานที่แน่นอน ต้องให้ผู้รับตอบกลับ ทั้งนี้เจ้าภาพอาจสอดไปรษณียบัตรแนบไปด้วยก็ได้ เพื่อการตอบกลับในการมาร่วมงาน ไม่ควรเชิญผู้ที่ไม่คุ้นเคย ควรเชิญญาติสนิทมิตรสหายจริงๆ และจ่าหน้าซองบัตรเชิญด้วยปากกาสีน้ำเงิน (อนุโลมพิมพ์ได้) การทำบุญจะทำที่วัดหรือที่บ้านก็ตาม ควรบอกตำแหน่งแหล่งที่จัดงานให้ชัดเจน อาจมีแผนที่ที่มีรายละเอียดสถานที่ตั้งจัดงานแนบไปด้วยในซองบัตรเชิญ การใช้วิธีบอกด้วยโทรศัพท์หรือวาจา ควรแจ้งข่าวล่วงหน้าพอควร เพื่อแขกที่มาร่วมงานจะได้จัดเวลาได้ถูกต้องและมาตามกำหนดเวลาของการจัดงาน
มารยาทของผู้ไปร่วมงานวันเกิด
1. วันเกิดเป็นวันมงคล เจ้าของวันเกิดถือว่าเป็นวันสำคัญของเขา ผู้ไปร่วมงานจึงควรแต่งกายให้สุภาพ สวยงาม
2. ควรคารวะเจ้าของงานก่อนหาที่นั่ง หรือไปช่วยปฏิบัติกิจใดๆในงาน
3. ระมัดระวังเรื่องคำพูด ไม่ควรเล่าเรื่องอัปมงคล หรือเรื่องที่ไม่ค่อยดีงามในงานวันนี้
4. ควรแสดงกิริยาอาการสนุกสนานร่าเริง เพื่อเจ้าภาพจะได้มีความรู้สึกเป็นสุขสบายใจด้วย ไม่ความแสดงอาการเศร้าซึมในงานวันเกิดที่ไปร่วม
5. รักษามารยาทในการรับประทานอาหาร
6. ควรไปถึงงานก่อนเวลา หากเป็นงานบุญจะได้มีโอกาสร่วมสวดมนต์ไหว้พระ รับศีล รับพรร่วมกับเจ้าภาพด้วย แม้เป็นงานเลี้ยงก็ไม่ควรไปสาย เจ้าภาพจะได้จัดที่นั่งให้เพียงพอ
7. ควรจัดหาของขวัญมอบให้เจ้าของวันเกิดให้เหมาะสม เช่นถ้าเป็นเด็กอาจมอบของเล่น สลากออมสิน เงิน เสื้อผ้า หนังสือ หรือของใช้ที่จำเป็นสำหรับเด็ก หากเป็นผู้สูงอายุก็ต้องดูความเหมาะสม อาหารเสริมบางจำพวกเหมาะสำหรับคนแก่ เช่น รังนก เครื่องดื่มชนิดต่างๆ อาหารกระป๋อง นม กระเช้าผลไม้ ดอกไม้ เสื้อผ้า ผ้าห่ม ผ้านุ่ง
8.ไม่ควรรีบกลับเร็วเกินไป จะทำให้เจ้าภาพรู้สึกว่าแขกไม่พอใจ หากมีกิจธุระควรแจ้งเจ้าภาพให้ทราบก่อน
9. ควรใช้เวลาพอควรแล้วลาเจ้าภาพกลับ ไม่ควรอยู่นานเกินไปเช่นกัน
10. ระหว่างงานไม่ควรวิจารณ์การจัดงาน อาหาร ตลอดถึงแขกที่มาร่วมงาน ควรรักษามารยาทเพื่อความสุขของเจ้าภาพ
11. ท่านบุรุษที่สูบบุหรี่ ควรสังเกตสิ่งแวดล้อม ถ้าจะสูบควรขอตัวไปสูบบริเวณสถานที่ห่างจากแขกที่ร่วมงาน จะได้ไม่รบกวนผู้อื่น
12. ของชำร่วยที่เจ้าภาพวางไว้ให้แขกหยิบเองไม่ควรหยิบไปมากกว่า 1 ชิ้น และไม่ควรเลือกเหมือนของซื้อของขาย
อ้างอิง : พิษณุพร. มารยาทสากล. กรุงเทพฯ: ไอแลนด์พับลิชชิ่ง, 2521.
มารยาทสังคม. ธนบุรี: โรงพิมพ์เจริญกิจ, 2514.
รัศมี-สุทธิ ภิบาลแทน. มารยาทในวัฒนธรรมไทย. กรุงเทพฯ: ไท
พัน อินเตอร์ แอคท์, 2537.
ผู้เรียบเรียง : นางกรองแก้ว เปเหล่าดา บรรณารักษ์ชำนาญการ
หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี

(จำนวนผู้เข้าชม 653 ครั้ง)