จดหมายเหตุ : เล่าอดีต ประกาศตามหาเจ้าของเรือมาด ปี ๒๔๖๘
จดหมายเหตุ : เล่าอดีต
ประกาศ...ตามหาเจ้าของเรือมาด ปี ๒๔๖๘
เรือขุด เป็นเรือที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เชื่อกันว่าเป็นการพัฒนามาจากการต่อซุงให้เป็นแพ การสร้างเรือขุดจะใช้วิธีขุดถากจากท่อนซุงทั้งต้น ต้นไม้ที่จะนำมาขุดต้องเป็นไม้เนื้อแข็ง ไม่มีตา โพรง รอยแตกร้าวหรือเนื้อไม้ที่ยังแห้งไม่สนิท การใช้ขวานถากซุงให้เป็นรูปเรืออย่างหยาบๆ เช่น มีหัวและท้ายเล็กแหลมกว่าส่วนกลาง การกระทำเช่นนี้เรียกว่า “มาด”
เรือมาด เป็นเรือขุดลักษณะท้องกลม หัวและท้ายเรือแบนกว้าง บางลำมีแอกยื่นออกจากหัวและท้ายเรือ ขุดจากไม้ซุง มักเป็นไม้ตะเคียน เพราะเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ซึ่งในสมัยก่อนหาได้ไม่ยาก มีหลายขนาด คือ ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก เรือมาดนับเป็นเรือเก่าแก่ชนิดหนึ่งของไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีประโยชน์ใช้สอยมากมาย นับเป็นต้นแบบของเรือขุดที่มีการดัดแปลงไปใช้ประโยชน์ได้หลายแบบ เช่น เรือมาดประทุน และเรือมาดเก๋ง
จากเอกสารจดหมายเหตุ พ.ศ. ๒๔๖๘-๒๔๗๐ ได้ระบุว่านายสิบตำรวจโทโก๋ ม้าแก้ว เก็บเรือมาดลอยน้ำได้ โดยพบเรือมาดลอยอยู่ในทะเลไม่มีเจ้าของ จึงนำส่งให้ทางการ โดยนายอำเภอแหลมสิงห์ได้จัดทำบัญชีตำหนิรูปพรรณเรือของกลางรายงานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีเพื่อประกาศโฆษณาหาเจ้าของในอำเภอต่างๆ ดังนี้
--------- รายชื่อของกลาง ---------
เรือกราบ ๑ ลำ
---------- ตำหนิรูปพรรณ ---------
มาดไม้ตะเคียนขึ้นกราบข้างละ ๑ แผ่น
ยาว ๓ วา ๕ นิ้ว กว้าง ๒ ศอก ๒๒ นิ้ว
ที่มาดตอนหัวเรือมีรอยหัก ๑ แห่ง
ที่กราบซ้ายมีรอยหัก ๑ แห่ง แหว่ง ๑ แห่ง
หากไม่มีผู้ใดมาแสดงตัวเป็นเจ้าของภายใน ๙๐ วัน ทางการจะนำเรือดังกล่าวขายทอดตลาดต่อไป ซึ่งท้ายที่สุดเรือลำนี้ได้ถูกประกาศขายทอดตลาดในราคา ๑๑ บาท
.
ผู้เขียน
นางสาวสุจิณา พานิชกุล นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี
------------------------------
เอกสารอ้างอิง :
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี. เอกสารกระทรวงมหาดไทย ชุดมณฑลจันทบุรี (๑๓) มท ๒.๓.๕/๒๐ เรื่องนายสิบตำรวจโท โก๋ ม้าแก้ว เก็บเรือมาดลอยน้ำได้ (๒๖ ก.ย. ๒๔๖๘ – ๓๐ มิ.ย. ๒๔๗๐).
อิงตะวัน แพลูกอินทร์ และนิรันดร์ เรือนอินทร์. ๒๕๔๗. เรือ : ภาพสะท้อนวิถีชีวิตของชาวบ้านในลุ่มน้ำ (รายงานการวิจัย). สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.

(จำนวนผู้เข้าชม 484 ครั้ง)