...

ผ้ากาสาวพัสตร์
จีวรลายดอก
"ผ้ากาสาวพัสตร์" (แปลว่า ผ้าที่ย้อมด้วยน้ำฝาด) หรือ "ผ้าไตร" ที่คนไทยทั่วไปรู้จักกัน เป็นผ้าที่พระสงฆ์ใช้นุ่งห่มกายตามข้อกำหนดของพระพุทธศาสนา ประกอบด้วยผ้าจำนวน ๓ ผืน ได้แก่ "จีวร" (อุตราสงค์) เป็นผ้าที่ใช้ห่มด้านนอก "สบง" (อันตรวาสก) ผ้าที่ใช้สำหรับนุ่งด้านล่าง และ "สังฆาฏิ" ผ้าสำหรับนุ่งซ้อนหรือพาดบ่า การนุ่งห่มผ้าไตรนี้เป็นข้อกำหนดที่พระพุทธเจ้าทรงประทานอนุญาตไว้ตั้งแต่สมัยพุทธกาลและถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญของพระสงฆ์ ซึ่งประเทศไทยได้รับรูปแบบการแต่งกายนี้เข้ามาพร้อม ๆ กับพระพุทธศาสนา ดังที่พบในงานศิลปกรรมกลุ่มพระพุทธรูปสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๖) เป็นต้นมา กระทั่งถึงปัจจุบัน พระสงฆ์ไทยยังคงใช้ผ้าไตรนุ่งห่มตามพระวินัยเช่นเดียวกับพระสงฆ์ที่พบในประเทศต่าง ๆ แม้ว่ารูปแบบการครองผ้าจะเปลี่ยนไปบ้างตามแต่ละนิกายก็ตาม
ผ้าไตรเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างรูปเคารพเนื่องในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะรูปพระพุทธเจ้าและพระสาวก แม้จะมีความแตกต่างกันบ้างตามยุคสมัยและสกุลช่างทางศิลปะ ทว่ายังคงปรากฏในรูปของผ้า
สามผืน มีลักษณะเป็นผ้าเรียบ ไม่มีลาย ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าเป็นการสร้างตามรูปแบบของผ้าไตรที่พระสงฆ์ในสมัยนั้นใช้ กระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) ราชสำนักมีธรรมเนียมถวายผ้าจีวรที่มีลวดลายดอกไม้อย่างที่เรียกว่า "จีวรลายดอก" แด่พระเถระชั้นผู้ใหญ่ ดังปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ อาทิ จดหมายเหตุบัญชีผ้าพระกฐินและผ้าไตร จ.ศ. ๑๑๘๗ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๖๘) และภาพถ่ายพระสงฆ์ในช่วงนั้น กล่าวกันว่าการถวายจีวรลายดอกน่าจะเกิดขึ้นมาแต่สมัยพุทธกาลแล้ว โดยพระพุทธเจ้าทรงประทานอนุญาตเฉพาะลายดอกไม้ขนาดเล็ก ไม่กาววาว (สีสันไม่ฉูดฉาด ไม่แวววาว) จีวรลายดอกที่นิยมถวายกันในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์จึงทำจากผ้าที่นำเข้ามาจากแคว้นเบงกอล เป็นผ้าฝ้ายเนื้อบางละเอียด ทอลายดอกไม้ขนาดเล็กทั้งผืน เรียกว่า “ผ้าย่ำตะหนี่” (Jamdani) นำมาตัดเย็บและย้อมด้วยน้ำฝาดตามพระวินัย ด้วยเหตุนี้ ความนิยมในการสร้างพระพุทธรูปและพระสาวกบางกลุ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ ลงมา จึงได้ถอดแบบมาจากการนุ่งห่มของพระสงฆ์จริง ๆ โดยครองจีวรลายดอกหลายรูปแบบ เช่น ลายดอกพิกุล ลายใบเทศ และลายพุ่มข้าวบิณฑ์
แม้ว่าการถวายจีวรลายดอกแด่พระสงฆ์จะลดลงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) จนหายไปในที่สุด ทว่ายังปรากฏการสร้างพระพุทธรูปหรือพระสาวกที่ครองจีวรลายดอกสืบต่อมาจนกลายเป็นอัตลักษณ์หนึ่งของศิลปกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ที่ไม่พบในงานศิลปกรรมสมัยอื่นของไทย

(จำนวนผู้เข้าชม 1433 ครั้ง)