...

บัว
“บัว” ดอกไม้แห่งศาสนาและความเชื่อ
"บัว" ได้รับการขนานนามว่า "ราชินีแห่งไม้น้ำ" เป็นพืชล้มลุกที่เติบโตในหนองน้ำ แอ่งน้ำตื้น บริเวณน้ำตื้นของทะเลสาบและแม่น้ำ เจริญเติบโตได้ตลอดทั้งปีในสภาพอากาศอบอุ่นและชื้น เป็นพืชที่มีความทนทานสามารถเอาชีวิตรอดได้ดีชนิดหนึ่ง นอกจากเป็นดอกไม้ให้ความสวยงามแล้วส่วนต่าง ๆ ของบัวยังสามารถนำไปใช้เป็นอาหาร ยา และประโยชน์อื่น ๆ ในชีวิตประจำวันอีกเช่นกัน
เชื่อว่าดอกบัวเป็นพืชที่พบอยู่ทั่วไปในแหล่งอารยธรรมโบราณแรก ๆ ของโลกหลายแห่ง เนื่องด้วยคุณสมบัติพิเศษโดยธรรมชาติของดอกบัวซึ่งถึงแม้จะเติบโตในน้ำที่เป็นโคลนตมแต่เมื่อชูดอกพ้นน้ำเพื่อรับแสงแดดดอกกลับสะอาดบริสุทธิ์ปราศจากโคลนตมแต่อย่างใด ผู้คนในสมัยโบราณจึงนำดอกบัวมาใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ความสงบสุข การเกิดใหม่และความอุดมสมบูรณ์ อาทิ ในอารยธรรมอียิปต์โบราณมักปรากฏภาพดอกบัวตามผนังของพีระมิด หลุมฝังศพ แม้กระทั่งตามหัวเสาของโบสถ์ วิหาร ก็พบลายสลักรูปดอกบัว รวมทั้งได้นำลักษณะการบานและหุบของดอกบัวมาผูกเข้ากับกำเนิดเทพโฮรัส (Horus) ในอารยธรรมอินเดียโบราณก็มีการใช้ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์มานานแล้วดังจะเห็นได้จากคัมภีร์ทางศาสนาต่าง ๆ งานสถาปัตยกรรม งานจิตรกรรม งานประติมากรรมล้วนแล้วแต่พบดอกบัวปรากฏร่วมอยู่ด้วยทั้งสิ้น โดยตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู ดอกบัวมีความเกี่ยวข้องกับการสร้างโลก และเป็นสัญลักษณ์ของพระลักษมี ชายาของพระนารายณ์ ในขณะที่ทางพระพุทธศาสนา ดอกบัวเปรียบเสมือนตัวแทนของพระพุทธเจ้า ทั้งยังมีบทบาทในพุทธประวัติหลายตอน รวมถึงหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาด้วย เมื่อศาสนาต่าง ๆ ในอินเดียไม่ว่าจะเป็นพราหมณ์ - ฮินดู หรือแม้แต่พุทธศาสนาได้แผ่ขยายไปยังดินแดนต่าง ๆ ที่ยอมรับนับถือศาสนานั้น ๆ ก็ได้นำพาความนิยมดอกบัวไปยังดินแดนนั้น ๆ ด้วย
จะเห็นได้ว่าจากการนำคุณสมบัติพิเศษตามธรรมชาติของดอกบัวมาผนวกรวมกับความเชื่อซึ่งหล่อหลอมกลายเป็นศาสนาได้ทำให้มรดกภูมิปัญญาต่าง ๆ ที่มีดอกบัวเป็นต้นแบบ เช่น รูปเคารพทางศาสนา งานสถาปัตยกรรม งานจิตรกรรม ลวดลายต่าง ๆ ในศิลปะไทย เจริญงอกงามและหยั่งรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมไทยจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทยจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้

(จำนวนผู้เข้าชม 1237 ครั้ง)