...

โบราณวัตถุชิ้นเด่น: พระหริหระ
      สำริด ศิลปะสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๐ เทวรูปองค์นี้ถูกเคลื่อนย้ายจากเมืองโบราณสุโขทัย ไปประดิษฐานไว้ ณ เทวสถาน กรุงเทพมหานคร และนำกลับมาจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง ในปี พุทธศักราช ๒๕๐๗ พระหริหระ เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ที่เป็นการรวมพระวิษณุ (หริ) และพระศิวะ (หระ) ให้อยู่ในองค์เดียวกัน โดยนำลักษณะเด่นของแต่ละองค์มารวมไว้ด้วยกันอย่างเหมาะสม พระองค์มี ๔ กร พระหัตถ์ขวาบนทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายบนทรงสังข์ พระหัตถ์ซ้ายล่างทรงดอกบัว สัญลักษณ์ของพระวิษณุ พระหัตถ์ขวาล่างแสดงปางกรัณฑมุทรา เครื่องประดับพระเศียรตกแต่งด้วยลายพันธุ์พฤกษา ยอดเป็นทรงกระบอกคอดเว้า คล้ายมุ่นมวยผม ประดับด้วยรูปพระจันทรืเสี้ยว มีพระเนตรที่ ๓ บริเวณกลางพระนลาฏ ทรงสวมสายธุรำรูปนาค ซึ่งเป็นสัญลักษ์ของพระศิวะ ลักษณะของพระพักตรเป็นรูปไข่ พระเนตรยาวรี พระขนงโก่ง พระนาสิกโด่งงุ้ม พระโอษฐ์บางพระหนุเป็นปมตามรูปแบบพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย พระกรรณสวมกุณฑล ทรงกรองศอ พาหุรัดและทองพระกร พระภูษายาวที่เรียกว่า "โธตี" (ผ้าทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าพันรอบตัว) ด้านหน้าจีบเป็นริ้วแฉก คาดปั้นเหน่งชักชายภูษาโค้งลงมาปิดหัวปั้นเหน่งประทับยืนบนฐานบัวคว่ำ - บัวหงาย
     การสร้างเทวรูปซึ่งเป็นรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์ เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของศาสนาพราหมณ์ที่มีบทบาทในสังคมพุทธศาสนาในสุโขทัย โดยได้สร้างสรรค์รูปแบบงานศิลปกรรมตามคตินิยมและสุนทรียภาพตามแบบศิลปะไทยที่นิยมในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ หรือในสมัยของพระมหาธรรมราชาลิไทซึ่งตามหลักฐานศิลาจารึก วัดป่ามะม่วง พุทธศักราช ๑๙๐๔ ได้ระบุว่าพระมหาธรรมราชาลิไททรงโปรดให้ประดิษฐานเทวรูป พระศิวะและพระวิษณุไว้ที่หอเทวาลัยมหาเกษตรในป่ามะม่วงนอกกำแพงเมืองสุโขทัยทางด้านตะวันตกเพื่อให้พราหมณ์และดาบสได้บูชา โดยเทวรูปพระหริหระนี้อาจเป็นหนึ่งในเทวรูปที่พระองค์ทรงโปรดให้นำไปประดิษฐานในหอเทวาลัยมหาเกษตร

(จำนวนผู้เข้าชม 2950 ครั้ง)