นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๙๖ เป็นต้นมา กองโบราณคดี กรมศิลปากรได้ดำเนินการสำรวจ ขุดแต่ง และบูรณะโบราณสถานเมืองโบราณสุโขทัยโดยได้พบโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก รัฐบาลจึงพิจารณาเห็นว่าควรสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขึ้นเพื่อเก็บรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่มีความสำคัญของชาติและจัดแสดงเผยแพร่เพื่อการศึกษาต่อไป ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๐๓ - ๒๕๐๖ กรมศิลปากรจึงดำเนินการจัดสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขึ้นในพื้นที่บริเวณเมืองโบราณสุโขทัย โดยใช้งบประมาณของรัฐบาลสมทบกับเงินบริจาคของประชาชน
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งนี้ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง” ตั้งขึ้นตามพระนามของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช วีรกษัตริย์ไทยผู้ปกครองเมืองสุโขทัยในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ โบราณวัตถุส่วนใหญ่ที่จัดแสดงได้จากการขุดแต่งบูรณะโบราณสถานในเขตเมืองเก่าสุโขทัย เมืองโบราณใกล้เคียง และอีกส่วนหนึ่งเป็นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่พระโบราณวัตถาจารย์ (พระราชประสิทธิคุณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดราชธานีและเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย ได้อนุญาตให้เคลื่อนย้ายจากพิพิธภัณฑ์ในวัดราชธานีมาเก็บรักษาและจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง โดยมี หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ภัณฑารักษ์เอก กองโบราณคดี และนายทิพา สังขะวัฒนะ นายช่างศิลปโท กองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ดำเนินการจัดแสดงโบราณวัตถุตามหลักวิชาการเพื่อให้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และประวัติศาสตร์ศิลปะอย่างแท้จริง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน ในพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๐๗
ต่อมาในวาระครบรอบ ๗๐๐ ปี ลายสือไท เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๖ รัฐบาลได้ดำเนินการก่อสร้าง“อาคารอนุสรณ์ลายสือไท” เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวาระดังกล่าว โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอาคาร เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๒๖ ภายในอาคารมีห้องประชุมสำหรับการสัมมนา ส่วนจัดแสดงนิทรรศการภาพ เรื่อง “สุโขไท – สุโขทัย อดีตและปัจจุบัน” การจัดแสดงเกี่ยวกับการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง ส่วนให้บริการนักท่องเที่ยว และจำหน่ายบัตรค่าธรรมเนียม
บทบาทหน้าที่ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง
๑. ดำเนินการสำรวจ แสวงหา และรวบรวมทรัพย์สินทางวัฒนธรรมของชาติที่เป็นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ทั้งแบบประเพณี ร่วมสมัย และสมัยใหม่ รวมถึง วัตถุทางชาติพันธุ์ ทั้งที่เป็นทรัพย์แผ่นดินและเป็นหลักฐานแสดงถึงเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมของชาติในเขตพื้นที่รับผิดชอบมาเก็บรักษาทำบันทึกหลักฐานและควบคุมดูแล รักษาสมบัติทางศิลปวัฒนธรรมของชาติตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๔ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ เพื่ออนุรักษ์ไว้เป็นมรดกของชาติสืบไป
๒. ศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ และวิจัยเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากหลักฐานที่เป็นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และวัตถุทางชาติพันธุ์ผนวกกับการสืบค้นจากเอกสารและตำนานหรือแหล่งข้อมูลอื่นๆ และพัฒนาเป็นข้อมูลวิชาการสำหรับเป็นเอกสารอ้างอิงระดับชาติและนานาชาติต่อไป
๓. ประสาน สนับสนุนในการสงวนรักษาทรัพย์สินทางวัฒนธรรมของชาติตามหลักการอนุรักษ์โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และวัตถุทางชาติพันธุ์ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์กับสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
๔. จัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์งานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และความรู้ที่ได้จากการศึกษา ค้นคว้าวิจัย ต่อสาธารณชน ด้วยสื่อเทคโนโลยีและนวัตกรรมรูปแบบต่างๆ
๕. ส่งเสริมให้บริการทางการศึกษาและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต
๖. ตรวจพิสูจน์ กำหนดอายุสมัยโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และวัตถุทางชาติพันธุ์ที่อยู่ในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบ
๗. สำรวจเก็บข้อมูลประสานส่วนกลาง เพื่อดำเนินการขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่อยู่ในความครอบครองของวัดและเอกชน ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ
๘. วางแผนและพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามมาตรฐานของชาติ
๙. จัดเก็บรายได้เป็นรายได้แผ่นดิน และเงินกองทุนโบราณคดี จากการเก็บค่าธรรมเนียมเข้าชม ค่าเช่าร้านค้า การจำหน่ายแผ่นพับ หนังสือและของที่ระลึก ตลอดจนค่าธรรมเนียมอื่นๆ ตามกฎหมาย และระเบียบวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง
๑๐. ดำเนินการกำกับ ควบคุมสถานที่ทำการค้าการนำเข้าและการส่งออกโบราณวัตถุและศิลปวัตถุให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
๑๑. ดำเนินการด้านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่อยู่ในความรับผิดชอบ และที่อยู่ในความครอบครองของวัด และเอกชน รวมทั้งองค์กรอื่นๆ ในเขตรับผิดชอบ ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
(จำนวนผู้เข้าชม 501 ครั้ง)