...

ทรงสืบสานสังคีตศิลป์ระบิลไกล
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา  สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริในงานด้านดนตรี – นาฏศิลป์  ดังนี้
 
ด้านนาฏศิลป์
 
การแสดงโขนกลางแปลง
 
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้กรมศิลปากรจัดการแสดงโขน เพื่อเป็นกิจกรรมการแสดงภาคกลางคืนในงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ณ อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (อุทยาน ร. ๒) อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม นายทวีศักดิ์  เสนาณรงค์ อธิบดีกรมศิลปากรในสมัยนั้น ได้มอบหมายให้นายเสรี  หวังในธรรม อดีตศิลปินแห่งชาติและผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านสังคีตศิลป์ ดำเนินการสนองพระราชดำริโดยจัดการแสดงโขนกลางแปลง เรื่องรามเกียรติ์  ตอน พิเภกสวามิภักดิ์ เป็นครั้งแรก เมื่อประมาณพุทธศักราช ๒๕๒๘ และพระองค์ทรงพระมหากรุณาเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในพิธีเปิดงานและทอดพระเนตรการแสดงทุกปี
 
 
ระบำไดโนเสาร์
 
          เมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๓ กรมศิลปากรได้รับมอบหมายให้จัดแสดงนาฏศิลป์ถวายในงานต้อนรับพระราชอาคันตุกะแห่งประเทศมาเลเซีย ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทพระบรมมหาราชวัง  ซึ่งครั้งนั้นได้รับพระมหากรุณาจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาทอดพระเนตรการซ้อมและพระราชทานคำแนะนำด้วยความเอาพระราชฤทัยใส่เป็นพิเศษ  อีกทั้งมีพระราชดำริ ให้สร้างระบำไดโนเสาร์ ซึ่งเป็นสัตว์ที่เด็ก ๆ ให้ความสนใจกันอย่างกว้างขวางในประเทศไทย ได้ขุดพบซากกระดูกไดโนเสาร์ที่จังหวัดทางภาคอีสาน และระบำชุดนี้ยังไม่เคยมีผู้ใดคิดประดิษฐ์มาก่อน  กรมศิลปากรจึงน้อมรับพระราชดำริ และเริ่มดำเนินการคิดรูปแบบเครื่องแต่งกายไว้ แต่ยังไม่ได้ประดิษฐ์ท่ารำ จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๔  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดโรงละครแห่งชาติภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้มีรับสั่งถามพลอากาศตรีอาวุธ  เงินชูกลิ่น   อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น  และนายเสรี   หวังในธรรม ถึงความคืบหน้าในการจัดทำระบำไดโนเสาร์ ดังนั้นกรมศิลปากรจึงเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันถวายทอดพระเนตรในโอกาสเสด็จฯ มาทรงเปิดนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี ๒๕๔๔  เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๔ ระบำไดโนเสาร์ดังกล่าว นายเสรี หวังในธรรม เป็นผู้แต่งเพลงและประดิษฐ์ท่ารำ มีนายทรงศักดิ์  ประทุมสินธุ์ อาจารย์พิเศษด้านนาฏศิลป์พื้นบ้าน วิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด เป็นผู้ช่วย และนายปกรณ์  พรพิสุทธิ์   นายฐิตินัญ  ศิลปประกร   นายจรัญ  พูลลาภ  นายฤทธิเทพ  เถาว์หิรัญ เป็นผู้ช่วยฝึกซ้อม นายสุเทพ  แก้วดวงใหญ่ และนางสาวอรพินท์  อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย  ซึ่งการแสดงในครั้งนั้นเป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่ง แต่ยังมีข้อบกพร่องในเรื่องหัวไดโนเสาร์ ที่พระองค์ทรงโปรดให้แก้ไข กรมศิลปากรจึงได้ดำเนินการตามพระราชประสงค์จนการแสดงชุดดังกล่าวมีความสมบูรณ์และงดงาม
 
 
การแสดงโขนหน้าจอ
 
          สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้จัดการแสดงโขนหน้าจอแบบโบราณ ด้วยมีพระราชประสงค์ให้ประชาชนทั่วไปได้รู้จักศิลปะการแสดงโขนที่มีมาแต่อดีตซึ่งหาชมได้ยากและทรงคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ ดังนั้นในวันที่ ๒๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๔ เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทยประจำปี  ๒๕๔๔  กรมศิลปากรจึงสนองพระราชดำริ จัดการแสดงโขนหน้าจอครั้งแรก ณ บริเวณสังคีตศาลา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และในปีต่อมา กรมศิลปากรได้จัดการแสดงโขนหน้าจออีกครั้ง ณ โรงละครแห่งชาติ และสำนักการสังคีตจัดวงปีพาทย์บรรเลงประกอบการแสดง ได้แก่ ดนตรีบ้านปลายเนิน และวงดนตรีของข้าราชการกลุ่มดุริยางค์ไทย การแสดงโขนแบบโบราณนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาทอดพระเนตรและทรงระนาดเอกทั้งสองครั้ง
 
 
การแสดงละครใน
 
           ต่อมาพุทธศักราช ๒๕๕๒  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้จัดแสดงละครในเนื่องใน เนื่องในวาระครบรอบวันสวรรคตสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เพื่อฟื้นฟูการแสดงละครในที่มีมาแต่โบราณ กรมศิลปากรจึงสนองพระราชดำริ จัดการแสดงละครในเรื่องอิเหนา ตอนบวงสรวง ณ วังสระปทุม   เมื่อวันที่ ๑๗  ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๒   
 
 
การแสดงระบำจตุรทิศวิจิตรไทยอาภรณ์ หรือระบำผ้าไทย
 
           พุทธศักราช ๒๕๕๕  ระหว่างวันที่ ๒ - ๘ พฤศจิกายน  มีงานเฉลิมฉลอง ๑๕๐ ปี พระราชสมภพสมเด็จ  พระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าฯ ให้คณะนาฏศิลป์ ดนตรีไทยของสำนักการสังคีต ตามเสด็จฯ ไปจัดการแสดงนาฏศิลป์ ดนตรี  และมีพระราชดำริให้สร้างสรรค์ระบำที่เกี่ยวกับผ้าของไทยขึ้น ๑ ชุด  ในการนี้ นางสาววันทนีย์  ม่วงบุญ นักวิชาการละครและดนตรีทรงคุณวุฒิในขณะนั้น  ได้ประพันธ์บทร้องและ ดร.สิริชัยชาญ  ฟักจำรูญ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ บรรจุเพลงขึ้นใหม่ โดยสมมติให้ผู้แสดงเป็นหญิงชาวไทยทั้ง ๔ ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ  ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคใต้  ซึ่งแต่งกายประจำภาค ร่ายรำตามท่วงทำนอง จังหวะเพลง และบทร้องที่มีเนื้อหาแสดงถึงที่มาความงามของสีและลวดลายต่างๆ ของผ้าไทยในท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและมรดกหัตถกรรม มีชื่อว่า “ระบำจตุรทิศวิจิตรไทยอาภรณ์” หรือ “ระบำผ้าไทย ๔ ภาค”
 
 
การจัดสร้างเครื่องแต่งกายโขน
 
            พุทธศักราช ๒๕๔๙  เป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช   ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี กรมศิลปากรได้จัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนแบบโบราณให้มีเอกลักษณ์เป็นมาตรฐานของกรมศิลปากร  โดยสนองตามพระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งมีพระราชวินิจฉัยและพระราชดำริให้ยึดตามแบบของกรมมหรสพเป็นหลัก ในส่วนของลวดลายเครื่องแต่งกายให้เลือกใช้ลวดลายที่สามารถมองเห็นได้ในระยะไกล และการปักลวดลายไม่ควรชิดติดกันเกินไปเพราะจะทำให้ไม่สามารถมองเห็นลวดลายได้ชัดเจน
 
 
ด้านดนตรี
 
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  มีพระราชดำริให้ฟื้นฟูการบรรเลงดนตรีในงานอวมงคลที่มีมาแต่โบราณและแบบโบราณราชประเพณี ได้แก่ การประโคมย่ำยาม  การบรรเลงเพลงเรื่อง เพลงฉิ่งพระฉันเช้า (ภัตตาหารเช้า) และเพลงฉิ่งพระฉันเพล (ภัตตาหารเพล ) อีกทั้งโปรดให้รวบรวมเพลงเรื่องจากสำนักต่าง ๆ  ดังนี้
 
 
การประโคมย่ำยาม และการบรรเลงเพลงเรื่องประเภทเพลงฉิ่ง
 
เมื่อครั้งงานพระบรมศพของสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ในพุทธศักราช ๒๕๓๙ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  มีพระประสงค์ให้นำวงปี่พาทย์นางหงส์ของกรมศิลปากรเข้าร่วมวงประโคม (วงสังข์แตร วงปี่ไฉน – กลองชนะ) ของสำนักพระราชวัง   จึงมีพระราชดำริกับ ดร. สิริชัยชาญ  ฟักจำรูญ  อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ในขณะที่ถวายการบรรเลงดนตรีไทยในงานไหว้ครูช่าง ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน รับสั่งให้นำวงปี่พาทย์นางหงส์ ไปร่วมประโคมย่ำยาม ต่อจากวงประโคมของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวัง ครั้งนั้นสำนักสังคีตได้นำวงปีพาทย์นางหงส์เข้าร่วมในการประโคมย่ำยาม เพื่อสนองพระราชดำริ ดังนี้
 
ประโคมย่ำยาม ครั้งที่ ๑ เวลา ๐๖.๐๐ น.  
 
ประโคมย่ำยาม ครั้งที่ ๒ เวลา ๑๒.๐๐ น.
 
ประโคมย่ำยาม ครั้งที่ ๓ เวลา ๑๘.๐๐ น.
 
ประโคมย่ำยาม ครั้งที่ ๔ เวลา ๒๑.๐๐ น.
 
ประโคมย่ำยาม ครั้งที่ ๕ เวลา ๒๔.๐๐ น.
 
ต่อมาในพุทธศักราช  ๒๕๕๑  กรมศิลปากรได้รับมอบหมายให้นำวงปี่พาทย์นางหงส์ร่วมประโคม  ในงานสวดพระอธิธรรมพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อีกครั้ง กำหนดการประโคมย่ำยามทุก ๓ ชั่วโมง (รวม ๗ ครั้ง) แต่ให้เว้นการประโคม เวลา ๐๓.๐๐ น. และมีพระราชดำริให้ฟื้นฟูการบรรเลงดนตรีในการฉันภัตตาหารเช้า แล้วให้จดบันทึกเพลงที่บรรเลงประกอบพระราชพิธีที่เกี่ยวเนื่องกับงานพระศพ พร้อมทั้งให้จัดทำหนังสือ “โน้ตเพลงในการพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา  กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” ด้วย
 
ในหนังสือเล่มดังกล่าว มีข้อมูลเกี่ยวกับเพลงที่ใช้บรรเลงประกอบพระราชพิธีสวดพระอภิธรรมพระศพ  เพลงฉิ่งพระฉัน (ภัตตาหารเช้า)  พิธีบวงสรวงอัญเชิญเวชไชยันต์ราชรถและราชรถน้อย และเครื่องประกอบออกซ่อม  พิธีบวงสรวงเจ้าที่บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพิธียกเสาเอกพระเมรุ  พร้อมทั้งนำโน้ตเพลงที่คณะกรรมการจดบันทึก   และตรวจสอบโน้ตเพลงไทยที่บันทึกเป็นโน้ตสากล เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๙ – ๒๔๘๓  มาเป็นฐานข้อมูลในการบรรเลงงานในพระราชพิธี  นับเป็นครั้งแรกที่นำโน้ตเหล่านี้มาศึกษาเพื่อการบรรเลงในงานพระราชพิธี โดยนำโน้ตเพลงไทยที่จดบันทึกด้วยลายมือมาจัดทำเป็นสำเนาเอกสาร แสดงให้เห็นลายมือที่จดบันทึก และจัดพิมพ์ใหม่ให้เกิดความชัดเจน  พร้อมซีดีเพลงที่ใช้ในการพิธีดังกล่าวทุกเพลง
 
          ครั้นในงานพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ  เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เมื่อพุทธศักราช๒๕๕๔ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้กลุ่มดุริยางค์ไทย  สำนักการสังคีต  เข้าร่วมประโคมย่ำยามด้วย กำหนดการประโคมย่ำยามทุก ๓  ชั่วโมง (รวม ๖ ครั้ง) แต่ให้เว้นการประโคมเวลา ๐๓.๐๐ - ๐๙.๐๐ น. เพื่อลดภาระงาน พร้อมทั้งมีพระราชดำริให้กลุ่มดุริยางค์ไทย  สำนักการสังคีต ศึกษาเพลงเรื่องเพลงฉิ่งพระฉันเพล  และให้บรรเลงเพลงฉิ่งพระฉันเพลขณะพระสงฆ์ฉันภัตตาหารเพล (เพลงเรื่องเพลงฉิ่งพระฉันเพล ประกอบด้วย เพลงกระบอก เพลงแมลงวันทอง เพลงกระบอกทอง เพลงตะท่าล่า  เพลงท่าน้ำ เพลงฟองน้ำ เพลงฝั่งน้ำ เพลงมีลม เพลงคลื่นกระทบฝั่ง เพลงทะเลบ้า เพลงลอยถาด เพลงพระยาพายเรือ  เพลงมัดตีนหมู
 
เพลงแขกกิ้งโครงและรัวเพลงฉิ่ง) และในงานออกพระเมรุโปรดเกล้าฯ ให้นำวงบัวลอย  วงปี่พาทย์นางหงส์เครื่องใหญ่ของสำนักการสังคีต และวงปี่พาทย์มอญของบ้านพาทยโกศล มาบรรเลงในวันพระราชทานเพลิงพระศพด้วย
 
 
 
การรวบรวมเพลงเรื่อง
 
          สืบเนื่องจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี  มีพระราชดำริกับนายบุญช่วย โสวัตร  ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อครั้งเสด็จฯ ไปทรงซ้อมการขับร้องเพลงไทยร่วมกับ
 
วงดนตรีบ้านปลายเนิน  ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่  ๑๕  มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ ว่า เพลงเรื่องเป็นงานศิลปะที่รวมภูมิปัญญาของเพลงไทยอันสำคัญหมวดหนึ่ง จึงควรศึกษาค้นคว้าและรวบรวมเพลงเรื่องที่กระจัดกระจายอยู่ตามสำนักต่าง ๆ  ให้ได้ความสมบูรณ์ ก่อนที่จะเสื่อมสูญจนยากต่อการสืบค้น
 
          สำนักการสังคีตจึงสนองพระราชดำริโดยจัดทำสำเนาเพลงเรื่องเฉพาะทางฆ้องเข้าไปกราบบังคมทูลถวาย จำนวน ๒๔ เรื่อง  ได้แก่ เพลงเรื่องกระเดียด เพลงเรื่องกระบอกเพลงเรื่องกะระหนะ เพลงเรื่องแขกมอญ     เพลงเรื่องจิ้งจกทอง เพลงเรื่องจีนแส เพลงเรื่องจีนแส (ใหม่) เพลงฉิ่งเพลงเรื่องฉิ่งตวงพระธาตุ เพลงเรื่องตะท่าล่า เพลงเรื่องตะนาว เพลงเรื่องทยอย เพลงเรื่องนกขมิ้น เพลงเรื่องฝรั่งคู่ เพลงเรื่องฝรั่งรำเท้า เพลงเรื่องพระรามเดินดง เพลงเรื่องพวงร้อยสร้อยสน เพลงเรื่องมอญแปลง เพลงเรื่องเวสสุกรรม เพลงเรื่องลงสรง เพลงเรื่องสารถี เพลงเรื่องสีนวล เพลงเรื่องสี่ภาษาใต้ เพลงเรื่องสุรินทราหู
 
          นอกจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สำนักการสังคีต จัดการบรรยายประกอบการสาธิต เรื่องดนตรี - นาฏศิลป์  ณ หอประชุมโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ณ อำเภอเขาชะโงก จังหวัดนครนายก เป็นประจำทุกปี
 
          ในโอกาสครบรอบ  ๑๐๐  ปี กรมศิลปากร เมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๓ กรมศิลปากรได้จัดให้มีพิธีไหว้ครูและสืบทอดผู้ประกอบพิธีไหว้ครูด้านโขน – ละคร ดนตรีและช่างขึ้น ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ได้จัดพิธีนี้ขึ้นอย่างเป็นทางการ  และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาเสด็จฯ มาทรงเป็นประธานในพิธีดังกล่าว เมื่อวันที่  ๒๖ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๓
 
 
 ที่มาข้อมูล : หนังสือสิปปธัช : พระผู้เป็นธงชัยแห่งสรรพศิลป์ (จัดพิมพ์เนื่องในโอกาส ๑๐๔ ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากร)

  

  

 

    

 

(จำนวนผู้เข้าชม 5657 ครั้ง)