ดนตรีในงานสมโภชพระทวารชั้นใน
องค์ความรู้ : สำนักการสังคีต  
เรื่อง ดนตรีในงานสมโภชพระทวารชั้นใน

ภาพที่ ๑ “ประตูสนามราชกิจ”  หรือ “ประตูย่ำค่ำ” ลักษณะประตูเป็นยอดปรางค์ 
บานประตู ๒ ตอน เปิดเวลา ๐๖.๐๐ น. และปิดเวลา ๑๘.๐๐ น. จึงเป็นเหตุให้เรียกว่าประตูย่ำค่ำ
เวลาจัดงานสมโภชพระทวารชั้นในจะเริ่มต้นสมโภชจากประตูนี้
ที่มาภาพ : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร 
 
          “พระทวาร” เป็นคำที่ใช้เรียก “ประตู” ในพระบรมมหาราชวัง จากคติของไทยที่มีมาแต่โบราณสมัยนั้น เชื่อกันว่าทุกประตูในพระบรมมหาราชวังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเทวดาผู้รักษาประตู  คอยพิทักษ์รักษาอยู่ เพื่อป้องกันมิให้สิ่งชั่วร้ายเข้ามาสู่พื้นที่ในพระบรมมหาราชวังได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีธรรมเนียมการแขวนเครื่องแขวนดอกไม้สดต่าง ๆ ตามพระทวาร พระบัญชรและพระแกลเพื่อบูชาเทวดาที่รักษาอยู่  สำหรับพระทวารชั้นในซึ่งเป็นประตูเข้าออกพื้นที่เขตพระราชฐานชั้นในของพระบรมมหาราชวังนั้น คนในวังต่างให้ความเคารพเป็นอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้จากธรรมเนียมที่ชาววัง   และพนักงานในเขตพระราชฐานชั้นในทุกคนต่างยึดถือกันมาอย่างเคร่งครัด คือ “การไม่เหยียบธรณีประตูวัง”  กล่าวคือ ประตูหรือพระทวารชั้นในของพระบรมมหาราชวัง จะมีประตูบานใหญ่ ๒ บาน และในประตูบานใหญ่นั้น จะมีประตูเล็กเปิดปิดได้อีกบานหนึ่ง ซึ่งโดยมากจะปิดประตูบานใหญ่  ไว้เสมอและเปิดเฉพาะประตูบานเล็กสำหรับให้เป็นทางเข้าออก แต่ด้วยเหตุที่ประตูบานเล็กอยู่ในประตูบานใหญ่จึงมีธรณีประตู ซึ่งธรณีประตูนี้ผู้ที่จะเข้าออกต้องเดินก้าวข้ามให้พ้นและพึงระวังไม่เหยียบธรณีประตูเป็นอันขาด หากผู้ใดกระทำผิดพลาดหรือเผลอเหยียบธรณีประตูเข้า จะถูกโขลนหรือเจ้าหน้าที่ผู้รักษาประตูวังตำหนิและในบางครั้งอาจสั่งให้กราบธรณีประตูเพื่อเป็นขอขมาโทษทันที     
  วรรณกรรม เรื่องสี่แผ่นดิน บทประพันธ์ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์  ปราโมช ได้บรรยายถึงธรรมเนียมการเดินเข้าประตูวังและบรรยากาศของประตูวังโดยรอบ ในฉากที่แม่แช่มกำลังพาแม่พลอยเข้าวังเป็นครั้งแรก ณ ประตูศรีสุดาวงศ์ ซึ่งเป็นประตูทางเข้าออกของผู้คนในพระราชสำนักฝ่ายใน ดังนี้ 
 
เวลาเข้าประตูละก็ ต้องข้ามธรณีประตูให้พ้นเทียวนะ อย่าไปเหยียบหรือเอาเท้าไปเเตะเข้า เดี๋ยวจะเกิดเรื่อง...ธรณีประตูนั้น ทำด้วยไม้เหลี่ยมค่อนข้างใหญ่ แต่ไม่ใหญ่ถึงกับจะข้ามไม่พ้น มีรอยคนมาปิดทองไว้บ้างเป็นระยะ ๆ และใกล้ ๆ ขอบประตูนั้น ก็มีธูปปักอยู่ที่ริมขอบประตู (หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์  ปราโมช, ๒๕๕๔: ๑๓)
 
          แต่แล้วในขณะที่แม่พลอยกำลังเดินเข้าประตูวัง ได้เกิดความประหม่า จึงเผลอเหยียบธรณีประตูวังเข้า โขลนที่เฝ้าประตูวังจึงเรียกให้มารับโทษ โดยการกราบไปที่ธรณีประตูวังเพื่อเป็นการ      ขอขมาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่รักษาประตูวัง จากข้อมูลข้างต้นจะให้เห็นได้ว่า “ประตูวัง” ถือเป็นสิ่งที่ชาววังให้ความเคารพ อีกทั้งยังมีการปิดทองและปักธูปที่บริเวณธรณีประตูเพื่อเป็นการสักการะบูชาเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่รักษาประตูวังอีกด้วย
 
ภาพที่ ๒ “ประตูราชสำราญ” เป็นประตูที่ใช้ เข้า – ออก เขตพระราชฐานชั้นใน
จากภาพจะสังเกตเห็นร่องรอยปรากฏที่บริเวณบานประตู 
สันนิษฐานว่าเป็นรอยการปิดทองคำเปลวเพื่อสักการะบูชาเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่รักษาประตูวัง
ที่มาภาพ : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร 
 
ภาพที่ ๓ “ประตูศรีสุดาวงศ์” เป็นประตูที่ใช้ เข้า – ออก เขตพระราชฐานชั้นใน 
ที่ผนังบริเวณด้านข้างประตู มีหิ้งเล็กติดอยู่ เวลาชาววังและพนักงานในเขตพระราชฐานชั้นใน
เดินเข้า – ออก  จะพนมมือไหว้ที่หิ้งดังกล่าว 
ที่มาภาพ : ธำมรงค์  บุญราช 
 
          นอกจากข้อปฏิบัติเรื่องการข้ามธรณีประตูวังแล้ว ยังมีธรรมเนียมอีกประการ คือ การถอดรองเท้าก่อนข้ามธรณีประตูวัง สำหรับธรรมเนียมนี้ เห็นจะปฏิบัติกันแต่สามัญชนเท่านั้น หากเป็น พระบรมวงศานุวงศ์ หรือพระอนุวงศ์ตั้งแต่หม่อมเจ้าเป็นต้นไป ไม่ต้องถอดรองเท้าก่อนก้าวข้ามธรณีประตู ดังที่ ท่านหญิงฤดีวรวรรณ วรวรรณ ได้ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือ บันทึกท่านหญิง ม.จ. ฤดีวรวรรณ ซึ่งกล่าวถึงตอนที่ท่านหญิงเสด็จเข้าไปอยู่ในความดูแลของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าจุฑารัตนราชกุมารี ในพระบรมมหาราชวัง ความว่า 
 
“อย่าเดินเหยียบธรณีนั้น” หม่อมแม่เตือนขึ้นขณะเมื่อเรากำลังจะเดินผ่านประตูซึ่งมีขอบสูงขึ้นมาจากพื้น “ต้องแน่ใจว่าข้ามพ้นนะจ๊ะ”... “ทำไมจึงเหยียบไม่ได้คะ” ฉันถามอย่างไม่สนใจนัก “เพราะว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยปกป้องพระบรมมหาราชวังอยู่ที่นั่น” คำพูดของหม่อมแม่ทำให้ฉันจ้องมองไปที่ธรณีประตูนั้น     และพยายามก้าวขาสั้น ๆ ของฉันออก ๆ ไปให้กว้างมากที่สุด แต่ก็ยังไม่พ้นดีนัก “สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะลงโทษหรือเปล่าจ๊ะ” ฉันถามในขณะที่หันกลับไปมองหน้า     หม่อมแม่ หม่อมแม่ยิ้ม “ไม่หรอก ถ้าลูกไหว้คำนับสวย ๆ” หม่อมแม่ให้ความมั่นใจ ฉันรีบพนมมือทั้งสองข้างเข้าด้วยกันและก้มลงกราบอย่างงาม ๆ เมื่อฉันมองไปที่หม่อมแม่ เห็นท่านถอดรองเท้าก่อนก้าวข้ามธรณีประตู เมื่อข้ามพ้นแล้วจึงสวมใส่รองเท้าใหม่อีกครั้ง “ทำไมต้องทำอย่างนั้นจ๊ะ ในเมื่อลูกไม่ต้องทำ” หม่อมแม่ยิ้มและให้ความกระจ่างแก่ฉัน “ลูกเป็นหม่อมเจ้าหญิง ข้ามธรณีได้โดยไม่จำเป็นต้องถอดรองเท้า คนสามัญทำอย่างนั้นไม่ได้” (ฤดีวรวรรณ วรวรรณ, ๒๕๔๘: ๒๐-๒๑)
 
          ปัจจุบันธรรมเนียมการให้สามัญชนถอดรองเท้าก่อนก้าวข้ามธรณีประตูพระบรมมหาราชวังไม่ปรากฏอีกแล้ว คงไว้แต่ธรรมเนียมการก้าวข้ามธรณีประตูให้พ้นเท่านั้น จากความเชื่อและธรรมเนียมเกี่ยวกับการให้ความเคารพเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่รักษาประตูวังนี้ ส่งผลให้เกิดประเพณีวัง คือ “การสมโภชพระทวารชั้นใน” ซึ่งในอดีตบรรดาโขลนจะจัดการสมโภชเป็นประจำทุกปี ดังที่ เกรียงไกร วิศวามิตร์ ได้อธิบายไว้ในหนังสือ เรื่องเล่าในวัง ความว่า “ประตูวังนี้เป็นที่นับถือของโขลนมีการสมโภชกันทุกปี” (เกรียงไกร วิศวามิตร์, ๒๕๕๐: ๕๙)  นอกจากนี้ มนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ ยังได้อธิบายถึงพิธีสมโภชพระทวาร ไว้ในหนังสือการบรรเลงปี่พาทย์ในงานพระราชพิธี    ความว่า 
 
พระทวารอันเป็นเขตพระราชฐานชั้นในนั้น ในสมัยโบราณ ทุก ๆ ปี จะต้องมีการสมโภชทั่วทุกพระทวาร วิธีสมโภชก็เสมือนการสังเวยเทพยดาอารักษ์ผู้รักษาพระทวารนั้น  (มนตรี ตราโมท, ๒๕๐๑: ๖๙ - ๗๐)
 
          การสมโภชพระทวารชั้นในแต่เดิมจะต้องมีการนำวงดนตรีไทย ได้แก่ “วงปี่พาทย์” เข้าไปบรรเลงเพลง “สาธุการ” เพลงหน้าพาทย์ที่หมายถึงการเคารพบูชาพระรัตนตรัยหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประกอบการสมโภชนั้นด้วย โดยวงปี่พาทย์จะต้องตามไปบรรเลงในทุก ๆ ประตูในเขตพระราชฐานชั้นใน เริ่มตั้งแต่ประตูสนามราชกิจ หรือที่ชาววังเรียกกันว่า “ประตูย่ำค่ำ” ดังที่ มนตรี  ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ ได้อธิบายถึงการบรรเลงดนตรีในพิธีสมโภชพระทวารชั้นใน ความว่า
 
การสมโภชนั้น กระทำทีละประตู ขึ้นต้นด้วยประตูสนามราชกิจข้างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เวียนไปโดยรอบ วงปี่พาทย์ก็จะต้องคอยตามไปบรรเลงทุก ๆ ประตู การบรรเลงใช้เพลงสาธุการครั้งเดียว เหมือนกันทุกประตู (มนตรี ตราโมท, ๒๕๐๑: ๖๙ - ๗๐)
 
ภาพที่ ๔  “ประตูสนามราชกิจ” หรือ “ประตูย่ำค่ำ”
เป็นประตูใช้สำหรับ เข้า - ออก เขตพระราชฐานชั้นใน อยู่ระหว่างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
กับกำแพงแก้วของหมู่พระมหามณเฑียรบริเวณพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง 
เวลาจัดงานสมโภชพระทวารชั้นใน เริ่มต้นสมโภชจากประตูนี้
ที่มาภาพ : ธำมรงค์  บุญราช
 
          ปัจจุบันงานสมโภชพระทวารชั้นใน ยังคงมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายในจัดเครื่องบวงสรวงสังเวยทุกพระทวารพร้อมกันเป็นประจำทุกปี โดยจัดปีละหนึ่งครั้ง แต่ไม่ปรากฏการนำวงปี่พาทย์เข้าไปบรรเลงสมโภชเป็นประจำทุกปีเหมือนในอดีตอีกแล้ว แต่จากข้อมูลที่ผ่านมานั้น ย่อมเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงแนวคิดและความเชื่อของคนไทยที่มีมาตั้งแต่อดีตถึงเรื่องการนำเสียงของดนตรีมาใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ เพื่อสมโภชบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยใช้เสียงของเพลงหน้าพาทย์เพื่อสื่อความหมายในพิธีกรรมและทำหน้าที่ประดุจบทสวดมนต์เพื่อบูชาเทวดาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ได้อัญเชิญมาในพิธีต่าง ๆ  
 
ภาพที่ ๕ วงปี่พาทย์พิธีในพระราชพิธีสรงมูรธาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน 
ตั้งวง ณ บริเวณประตูมังกรเล่นลม เขตพระราชฐานชั้นใน พระบรมมหาราชวัง 
สันนิษฐานว่าการตั้งวงปี่พาทย์ในงานสมโภชพระทวารชั้นในในอดีตนั้น น่าจะตั้งในลักษณะเดียวกันนี้ 
ที่มาภาพ : ธำมรงค์  บุญราช 

ภาพที่ ๖ ประตูพรหมโสภา ประตูพระบรมมหาราชวังชั้นใน อยู่ด้านทิศตะวันตกของพระที่นั่งจักรี
มหาปราสาท สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏ
วิทยมหาราช เป็นประตูยอดปรางค์ ใช้เป็นประตูทางเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์ ปัจจุบันมิได้เปิดใช้
ที่มาภาพ : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร 
 
ภาพที่ ๗  ประตูดุสิตศาสดา ประตูพระบรมมหาราชวังชั้นใน เป็นประตูยอดปรางค์มีพรหมพักตร์
ที่มาภาพ : ธำมรงค์  บุญราช 
 
ภาพที่ ๘  ประตูมังกรเล่นลม  ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน บริเวณถนนทรงบาตร
ลักษณะของประตูเป็นรูปเก๋งจีน ที่บานประตูเขียนภาพเทพธิดาจีนหรือนางกำนัล
ถือพานบูชาเครื่องดอกไม้ธูปเทียน
ที่มาภาพ : ธำมรงค์  บุญราช 
 
ภาพที่ ๙  ประตูกลมเกลาตรู  ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน บริเวณถนนทรงบาตร
ลักษณะของประตูเป็นช่องวงกลม ที่บานประตูเขียนภาพทวารบาลจีนหรือเซี่ยวกาง 
เทวดาผู้รักษาประตูซึ่งทำหน้าที่ป้องกันมิให้สิ่งชั่วร้ายเข้ามาสู่พื้นที่นั้น ๆ ตามความเชื่อของจีน
ที่มาภาพ : ธำมรงค์  บุญราช 
 
----------------------------------------------
บรรณานุกรม
เกรียงไกร วิศวามิตร์. เรื่องเล่าในวัง. กรุงเทพมหานคร: บริษัท นิวไวเต็ก จำกัด, ๒๕๕๐.  
คึกฤทธิ์  ปราโมช, หม่อมราชวงศ์. สี่แผ่นดิน. เล่ม ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑๕. นนทบุรี: สำนักพิมพ์ดอกหญ้า 
2000, ๒๕๕๔.
มนตรี  ตราโมท. การบรรเลงปี่พาทย์ในงานพระราชพิธี. พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ       หลวงบำรุงจิตรเจริญ และนางศุภลักษณ์ ภัทรนาวิก  ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๑. ม.ป.ท., ๒๕๐๑.
ฤดีวรวรรณ วรวรรณ. บันทึกท่านหญิง ม.จ. หญิงฤดีวรวรรณ. แปลโดย พงษ์ลดา อิทธิเมฆินทร์. 
กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ดับเบิ้ลนายน์, ๒๕๔๘.
------------------------------------------------
ผู้เขียน : ดร. ธำมรงค์ บุญราช  นักวิชาการละครและดนตรีปฏิบัติการ  กลุ่มวิจัยและพัฒนาการสังคีต สำนักการสังคีต
 

(จำนวนผู้เข้าชม 1456 ครั้ง)

Messenger