...

นักเรียนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ไปเยี่ยมหอพระสมุดวชิรญาณ
องค์ความรู้: สำนักหอสมุดแห่งชาติ เรื่อง: นักเรียนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ไปเยี่ยมหอพระสมุดวชิรญาณ







วันที่ 14 มิถุนายน 2467
          สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ทำหนังสือทูลหม่อมเจ้าพูนศรีเกษม คณบดี คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ได้พานักเรียนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปเยี่ยมชมหอพระสมุดมีศาสตราจารย์ เซเดส์และเจ้าพนักงานหลายท่านได้แสดงบรรยายเรื่องราวต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ 
          จากหลักฐานที่ปรากฏ มีนักเรียนจุฬาฯ เขียนเล่าการเยี่ยมหอพระสมุดไว้อย่างน่าสนใจ ขอคัดมาเฉพาะบางส่วนที่ทำให้เห็นภาพว่าบรรยากาศภายในหอสมุดปิยมหาราชรฦก (อาคารถาวรวัตถุ) เดิมเป็นอย่างไรในอดีต 
          วันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน เวลา 10.00 น. นักเรียนที่เรียนประวัติศาสตร์ได้ขึ้นรถยนต์จากคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ณ หอวังประทุมวัน (สันนิษฐานว่าคือวังวินด์เซอร์ หรือวังกลางทุ่งบริเวณสนามกีฬาแห่งชาติในปัจจุบัน) ไปยังหอพระสมุด ซึ่งนักเรียนคณะรัฐประศาสนศาสตร์และนักเรียนฝึกหัดครูมาเข้าร่วมด้วยราว 100 คน เมื่อเข้าไปในประตูหอพระสมุดแล้วขึ้นไปทางซ้ายมือจะเห็นป้ายบอก ชื่อห้องแรก “ห้องสมุห์บัญชี” อักษร จ ห้องนี้หมายถึงห้องข้างในเป็นห้องที่อนุญาตให้เที่ยวชมสิ่งของต่าง ๆ และมีหนังสือของหอพระสมุดขายด้วย 
          ห้อง ฉ ช ซ ฌ ญ ทั้ง 5 ห้องนี้เป็นที่รวบรวมพระไตรปิฎกต่าง ๆ มีหนังสือวินัยและพระสูตรจารลงในใบลานมัดเป็นผูกไว้อย่างเรียบร้อย รวมทั้งตู้ลายรดน้ำก่อนรัตนโกสินทร์  
          ห้อง ด ต เป็นห้องที่เก็บรูปต่าง ๆ  มีตู้สำหรับเก็บแผนที่สยาม ตู้เก็บรูปภาพต่างประเทศทั้งรูปเขียนและรูปถ่าย ตู้สำหรับเก็บรูปพระสงฆ์ ตู้สำหรับเก็บพระรูปและรูปถ่ายของเจ้านายต่าง ๆ
          ห้อง ถ มีลายพระราชหัตถเลขา ร.3-6 และลายมือของพระราชาคณะต่าง ๆ มีตู้เก็บหนังสือไทยและฝรั่ง
          ห้อง น เป็นเลขานุการซึ่งหน้าที่สั่งการแก่กรรมการหรือเป็นผู้ดูแลกิจการแทนกรรมการ ในห้องนี้มีตู้ใส่หนังสือที่พิมพ์ออกจากหอพระสมุดสำหรับใช้สอบสวนต่าง ๆ (เข้าใจว่าจะหมายถึงคลังพิสูจน์หรือคลังสิ่งพิมพ์ในเวลาต่อมา)
          ห้อง บ เป็นห้องพนักงานจัดการพิมพ์ มีหน้าที่โต้ตอบกิจการต่าง ๆ และมีหน้าที่เก็บหนังสือสำรองการพิมพ์หนังสือต่างๆ 
          ห้อง ป ผ  เรียกว่าห้องแผนกสมุดพิมพ์มีตู้บรรจุ หนังสือเป็นเล่มต่าง ๆ หนังสือในห้องนี้แบ่งออกเป็น 2 แผนกคือแผนกพิมพ์ และแผนกเขียน 
          ห้อง ฝ พ ฟ เป็นห้องที่รวบรวมหนังสือที่เขียนด้วยสมุดไทย 
          ห้อง ภ เป็นห้องที่รวบรวมหนังสือที่เขียนใบลานและสมุดไทยวรรณคดีเรื่องต่าง ๆ ตามระเบียงมีหนังสือที่นำมาจากห้องข้างในสำหรับให้มหาชนมองเห็นโดยง่าย มีตำราเขียนเป็นรูปภาพว่าด้วย ช้าง ม้า และฟ้อนรำเป็นต้น มีหีบสำหรับใส่พระธรรมต่าง ๆ มีศิลาจารึกภาษาสันสกฤตและไทยโบราณ 
          เบื้องขวาทางประตูทางเข้าหอสมุด มีห้องอ่านหนังสือสำหรับประชาชน ห้องบรรณารักษ์ ห้องผู้ช่วยบรรณารักษ์ ห้องอ่านหนังสือพิมพ์รายเดือน รายวันทั้งไทยและเทศ 
          
เมื่อชมสิ่งต่าง ๆ ทั่วถึงแล้ว เวลา 12.45 น. นักเรียนวิชาประวัติศาสตร์ได้อำลาท่านศาสตราจารย์ เซเดส์ขึ้นรถยนต์กลับจุฬาฯ 
 
          น่าสังเกตว่าช่วงนั้น ยังไม่มีการใช้คำว่า “นิสิต” “นักศึกษา” สำหรับผู้ที่ศึกษาระดับมหาวิทยาลัย และคณะวิทยาศาสตร์แยกออกมาจาก “คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์” ภายหลัง
 
          ปีนี้ ปีพุทธศักราช 2566 ครบรอบ 99 ปี การเยือนหอพระสมุดครั้งแรกของมหาวิทยาลัยแห่งแรกของสยาม จากบันทึกดังกล่าวทำให้เห็นประโยชน์ของการเยี่ยมชมหอพระสมุด ไม่ใช่แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเท่านั้นที่มาเยี่ยมชมหอสมุดแห่งชาติ หลายสถาบัน โรงเรียนหรือองค์กรต่าง ๆ นั้นมาเยี่ยมชมต่อเนื่องมาถึงทุกวันนี้ 
 
*ภาพไม่เกี่ยวกับเนื้อหาของเรื่อง แต่ต้องการให้เห็นบรรยากาศภายในหอพระสมุดในช่วงเวลาดังกล่าว
--------------------------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง :
กัณฐิกา ศรีอุดม.  “รัชกาลที่ 6 กับหอพระสมุดสำหรับพระนคร: ศึกษาผ่านงานเขียนของบุคคลร่วมสมัย.” วารสารประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.  43 (สิงหาคม 2561 - กรกฎาคม 2562): 2-17.
หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร.  กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2543.
ศธ.10/91 นักเรียนมหาวิทยาลัยไปดูหอพระสมุดสำหรับพระนคร
สบ.14.8 /298 บทความเรื่อง “การไปเยี่ยมหอพระสมุดสำหรับพระนคร” คัดจาก”มหาวิทยาลัย” รายเดือน จัดทำโดยคณะนักเรียนในจุฬาฯ เล่ม 2 ตอนที่ 5 พ.ศ.2467 หน้า 388-400
 
 
ที่มาภาพ :
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
ภ 002 หวญ 41/4 ห้องอ่านหนังสือ แผนกต่างประเทศของหอพระสมุด
รฟท 31/1 ระเบียงตึกแดง
 
ผู้เรียบเรียง: นายบารมี สมาธิปัญญา นักวิชาการเผยแพร่ สำนักหอสมุดแห่งชาติ
กราฟิก: นายชลิต ปรีชากุล นายช่างศิลปกรรม สำนักหอสมุดแห่งชาติ

(จำนวนผู้เข้าชม 536 ครั้ง)