...

ภาชนะที่เรียกว่า กุณฑี
          กุณฑี * (Kendi) เป็นชื่อเรียกเครื่องปั้นดินเผาชนิดหนึ่ง ใช้ใส่น้ำ มีรูปทรงหลายแบบแต่ลักษณะทั่วไปที่พบเห็น คือ ไม่มีหูจับ มีพวย และมีทางไหลเข้า – ออกของน้ำ ๒ ทาง สามารถพบได้ในอินเดีย ดินแดนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศจีน
          ปัจจุบัน เรายังไม่ทราบแน่ชัดว่าต้นกำเนิดของกุณฑีอยู่ที่ใด แต่นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่าอินเดียได้รับต้นแบบมาจากอารยธรรมเมโสโปเตเมีย ก่อนจะส่งต่อไปยังเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พร้อมกับการเผยแผ่ศาสนาพราหมณ์ – ฮินดูและพระพุทธศาสนาในราวพุทธศตวรรษที่ ๘ ผ่านทางพ่อค้าหรือกลุ่มนักบวช เนื่องจากนักเดินทางโดยเฉพาะนักบวชชาวอินเดียนิยมใช้กุณฑีเป็นหม้อน้ำติดตัว และตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นมา กุณฑีก็แพร่หลายไปทั่วดินแดนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงดินแดนซึ่งเป็นประเทศไทยปัจจุบัน และมีการใช้งานสืบต่อมาถึงสมัยสุโขทัยและสมัยกรุงศรีอยุธยาตามลำดับ
          การใช้งานกุณฑีมีหลากหลาย นอกจากจะใช้บรรจุน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคแล้ว กุณฑียังเป็นภาชนะบรรจุน้ำศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรมต่าง ๆ อาทิ พิธีหลั่งน้ำโสมบูชาเทพเจ้า การสรงน้ำเจดีย์ และการหลั่งน้ำสักการะพระพุทธเจ้า โดยกุณฑีที่ใช้ในพิธีกรรมเหล่านี้มักจะเรียกกันว่า กมัณฑลุ หรือหม้อน้ำอมฤตซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำเทพเจ้าของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดูและพระโพธิสัตว์ในพระพุทธศาสนา นิกายมหายานหลายองค์ ไม่เพียงเท่านั้น กุณฑียังใช้เป็นโกศบรรจุอัฐิหรือเครื่องเซ่นในพิธีกรรมฝังศพอีกด้วย
จะเห็นได้ว่ากุณฑีมีความเกี่ยวพันกับวัฒนธรรมและความเชื่อที่มาจากอินเดียอย่างเหนียวแน่น ทั้งยังอาจเป็นสิ่งบ่งชี้หนึ่งถึงอิทธิพลของวัฒนธรรมอินเดีย หรือในแง่หนึ่งคือศาสนาพราหมณ์ – ฮินดูและพระพุทธศาสนาที่ได้แผ่ขยายไปยังดินแดนหรือเมืองนั้น ๆ แล้วก็ได้
---------------------------------------------------
* เชื่อกันว่า “กุณฑี” มาจากคำในภาษาสันสกฤตคือ “กุณฺฑฺ” ที่หมายถึง หม้อน้ำ หรือกะโหลกน้ำของนักธรรมซึ่งทำด้วยกะโหลกมะพร้าว โดยเป็นคำที่ใช้เรียกภาชนะมีพวยในประเทศมาเลเซียและในบริเวณคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย
                ขณะที่คำว่า “Kendi” มีรากศัพท์มาจาก “กุณฺฑฺ” เช่นเดียวกัน แต่เป็นคำที่มาจากประเทศอินโดนีเซียซึ่งใช้เรียกภาชนะบรรจุน้ำอื่น ๆ นอกเหนือจากกุณฑีด้วย
__________________________________________________

ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก
----------------------------------------------------
*เผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์ โดยกลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร

(จำนวนผู้เข้าชม 1018 ครั้ง)