...

ลวดลายปูนปั้นวัดนางพญา ตอน ค้างคาว ลวดลายแห่งโชคลาภ

ผนังวิหารวัดนางพญา เมืองศรีสัชนาลัย ปรากฏลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ที่เกิดจาการผสมผสานลายที่เป็นมงคลต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ “ลายค้างคาว” สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลรูปแบบมาจากศิลปกรรมจีน ผ่านการเข้ามามีอำนาจเหนือเมืองศรีสัชนาลัยของอาณาจักรอยุธยา ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑
ลายค้างคาวของวัดนางพญา มีลักษณะเป็นขมวดลายใบไม้ธรรมชาติ ประดับมุมอยู่ที่บริเวณกรอบสี่เหลี่ยมทั้งในแนวตั้งและแนวนอนของผนังวิหาร โดยค้างคาว ภาษาจีนออกเสียงว่า เปียนฝู biān fú (蝙蝠) คำว่า 蝠 (ฝู) พ้องเสียงกับคำว่า 福 (ฝู) ที่มีความหมายว่า โชคลาภ โชคดี เหตุนี้ชาวจีนตั้งแต่สมัยโบราณจึงนับถือค้างคาวเป็นสัตว์มงคล นิยมนำมาตกแต่งเป็นลวดลายบนสิ่งของเครื่องใช้ ภาชนะดินเผา และสถาปัตยกรรม
นอกจากนี้ลวดลายดังกล่าวยังมีลักษณะคล้ายกับลวดลายปูนปั้นผนังสกัดหน้าวิหารวัดไลย์
จ.ลพบุรี และยังคล้ายกับลวดลายสลักไม้มุมบานประตูวิหารพระทรงม้าหรือวิหารพระมหาภิเนษกรมณ์ 
ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราชอีกด้วย นับเป็นความฉลาดของช่างในการเปลี่ยนพื้นที่สี่เหลี่ยมให้กลายเป็นวงกลม และได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
 
ตำแหน่งที่ตั้งโบราณสถาน: https://goo.gl/maps/npdYUTYsqj2vWsjs5
---------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง :
กนกพร ศรีญาณลักษณ์. “การสื่อความหมายของภาพมงคลจีน.” วารสารจีนศึกษา ๔, ๔ (เมษายน ๒๕๕๔): ๒๒ – ๔๓.
สงวน รอดบุญ. พุทธศิลป์สุโขทัย. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, ๒๕๓๓.
สันติ เล็กสุขุม. ความสัมพันธ์จีน-ไทย โยงใยในลวดลายประดับ. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๕๐.
วิไลรัตน์ ยังรอต และธวัชชัย องค์วุฒิเวทย์. คู่มือท่องเที่ยว - เรียนรู้ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย. กรุงเทพฯ: 
มิวเซียมเพรส, ๒๕๕๑.
----------------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล : นางสาวลลิตา วงศ์วีรเดชขจร ผู้ช่วยนักโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย
 
ที่มาของข้อมูลที่เผยแพร่แล้ว : https://www.facebook.com/photo/?fbid=469918678649662&set=a.255972353377630
 
*เผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์ โดยกลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร
 

(จำนวนผู้เข้าชม 591 ครั้ง)