...

เครื่องปั้นดินเผาไทยจากแหล่งเรือจมในประเทศฟิลิปปินส์

          ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 – 16 ราชสำนักจีนราชวงศ์หมิงได้มีนโยบายห้ามคนจีนออกนอกประเทศ ทำให้การค้าเครื่องปั้นดินเผาของจีนต้องหยุดชะงักลง จึงเป็นช่วงที่เครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งเตาในประเทศไทยเข้ามามีบทบาทสำคัญเป็นสินค้าที่ถือได้ว่าเป็นที่นิยมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ควบคู่ไปกับเครื่องปั้นดินเผาเวียดนามแทนที่เครื่องปั้นดินเผาจากประเทศจีน 
          หนึ่งในดินแดนที่มารายงายการพบเครื่องปั้นดินเผาไทยมากแห่งหนึ่ง คือ ประเทศฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะจากแหล่งเรือจม ในโพสต์นี้เราจะนำเสนอข้อมูลหลักฐานการค้าทางทะเลที่บ่งชี้ว่าสินค้าเครื่องปั้นดินเผาไทย มีบทบาทสำคัญในประเทศฟิลิปปินส์ผ่านแหล่งเรือจม 2 แหล่ง คือ แหล่งเรือจมซานตาครูซ (Santa Cruz) และ แหล่งเรือจมลีนาโชล (Lena Shoal)
          ในประเทศฟิลิปปินส์ มีรายงานการพบเครื่องปั้นดินเผาไทยในแหล่งเรือจมหลายแห่ง เป็นผลิตภัณฑ์จำพวกเครื่องเคลือสีเขียวไข่กาจากแหล่งเตาเมืองศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย และไหเคลือบสี่หูเนื้อแกร่งจากแหล่งเตาแม่น้ำน้อย จังหวัดสิงห์บุรี โดยเฉพาะไหจากแหล่งเตาแม่น้ำน้อยมีรายงานว่าพบในแหล่งเรือจมหลายแห่ง ประกอบด้วยแหล่งเรือจมปันดานัน ลีนาโชล ซานตาครูซ ซานอซิโดร และ กันดูลี ประเภทที่พบมากที่สุด คือ ไหลำตัวกว้างขนาดใหญ่ ไหลำตัวกว้างขนาดกลางกลาง และไหทรงสูงขนาดเล็ก
          ไหลำตัวกว้างขนาดใหญ่ ประกอบด้วยไหปากกว้างคอสั้นมีขอบปากผายออก ไหคอสั้นแคบปากกลม ไหคอสูงและขอบปากคล้ายแตรหรือคอยาวมีขอบเว้าออกขนาดใหญ่ ไหลำตัวกว้างขนาดกลางมีหู 2 ข้างที่ไหล่ คอสั้นมีขอบปากผายออกและมีรอยบากรอบไหล่และลำตัว ไหทรงสูงขนาดเล็กคอสั้นและมีหูแนวนอนสี่หูที่ไหล่ ส่วนเคลือบปกติจะเคลือบตั้งแต่ปากจนถึงครึ่งล่างของลำตัว
          ส่วนเครื่องสังคโลกเคลือบสีเขียวไข่กา (celadon) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากแหล่งเตาเมืองศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย พบที่แหล่งเรือจมซานตาครูซ ประกอบด้วย ขวดทรงกลม ขวดทรงยาวมีหูหิ้วสองอัน ขวดแบบมีหู และขวดขาดเล็กทรงน้ำเต้า 
          ขวดทรงยาวตกแต่งด้วยลายขุดเป็นวงกลมรอบไหล่และบางใบมีร่องหรือลายตาข่ายรอบลำตัว ส่วนไหทรงน้ำเต้าตกแต่งด้วยการขูดที่ไหล่ ขวดทรงกลมมีหลายขนาดและตกแต่งด้วยลายขุดรูปวงกลมและลายขุดเป็นรอยบากหรือลายตาข่ายรอบไหล่




------------------------------------------------------
อ้างอิง : National Museum of the Philippines. (2021). Thailand Sawankhalok Ceramics Found in Philippine Shipwrecks [dated from the 15th to 16th centuries CE]. Retrieved from www.yodisphere.com: https://www.yodisphere.com/2021/02/Sawankhalok-Ceramics.html"
 
------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : กองโบราณคดีใต้น้ำ
https://www.facebook.com/UADThailand/posts/330903885892852
 
------------------------------------------------------
*เผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์ โดยกลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร
 

(จำนวนผู้เข้าชม 662 ครั้ง)


Messenger