...

พระพิมพ์ดินเผาภาพพระพุทธรูปยืนปางแสดงธรรม จากเจดีย์หมายเลข ๙ เมืองโบราณอู่ทอง

พระพิมพ์ดินเผาภาพพระพุทธรูปยืนปางแสดงธรรม
พบจากเจดีย์หมายเลข ๙ เมืองโบราณอู่ทอง
จัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

          พระพิมพ์ดินเผาขนาด กว้าง ๖ เซนติเมตร สูง ๙ เซนติเมตร ภาพพระพุทธรูปยืนภายในซุ้มวงโค้ง พระพักตร์กลม พระกรรณยาว มีประภามณฑลรอบพระเศียร ครองจีวรห่มคลุม จีวรเรียบไม่มีริ้วบางแนบพระวรกาย ปรากฏขอบจีวรบริเวณพระศอ จีวรพาดผ่านข้อพระกรทั้งสองข้าง แล้วทิ้งชายลงเป็นวงโค้งเบื้องหน้า ขอบสบงและชายจีวรยาวถึงข้อพระบาท พระกรทั้งสองยกขึ้นเสมอพระอุระแสดงวิตรรกะมุทรา (ปางแสดงธรรม) ยืนในท่าสมภังค์ (ยืนตรง) บนฐานกลมประดับด้วยกลีบบัว ซุ้มด้านในประดับด้วยเสากลม ด้านนอกประดับด้วยเสาสี่เหลี่ยม ปลายกรอบซุ้มมีการตกแต่งลวดลาย ส่วนฐานยกเก็จคล้ายกับรูปแบบที่พบบนฐานของสถาปัตยกรรมทวารวดี
          สุนทรียภาพโดยรวมของพระพิมพ์องค์นี้ ได้แก่ การครองจีวรห่มคลุม จีวรเรียบบางแนบพระวรกาย การยืนในท่าสมภังค์ (ยืนตรง) และแสดงวิตรรกะมุทราสองพระหัตถ์ (ปางแสดงธรรม) เป็นรูปแบบเฉพาะที่นิยมในพระพุทธรูปยืนสมัยทวารวดี ซึ่งพบทั้งพระพุทธรูปและพระพิมพ์ตามเมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดี ส่วนลักษณะฐานพระพุทธรูปที่มีการยกเก็จ สันนิษฐานว่ารับอิทธิพลมาจากส่วนฐานยกเก็จของพระพุทธรูปอินเดียแบบปาละ และอาจมีความเกี่ยวข้องกับซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปที่ประดับอยู่บนผนังของสถาปัตยกรรม ประเภทเจดีย์และวิหารที่สร้างขึ้นในสมัยทวารวดี ก็เป็นได้ จึงกำหนดอายุพระพิมพ์องค์นี้ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๕ หรือประมาณ ๑,๑๐๐ – ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว
          จากการขุดแต่งโบราณสถานหมายเลข ๙ เมืองโบราณอู่ทอง ยังมีการค้นพบพระพิมพ์ดินเผาซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างจากแม่พิมพ์รูปแบบเดียวกัน แต่มีสภาพไม่สมบูรณ์อีกจำนวนหนึ่ง พระพิมพ์เหล่านี้น่าจะสร้างขึ้นตามคติความเชื่อเรื่องการสร้างพระพิมพ์จำนวนมากเพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนา หรือเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาตามคติความเชื่อเรื่องการสร้างบุญกุศลก็เป็นได้

-------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
-------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
เชษฐ์ ติงสัญชลี. ศิลปะไทย ภายใต้แรงบันดาลใจจากศิลปะอินเดียแบบปาละ. นนทบุรี : โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด, ๒๕๕๘. ธนกฤต ลออสุวรรณ. “การศึกษาคติความเชื่อของชุมชนโบราณสมัยทวารวดีในลุ่มแม่น้ำแม่กลองและท่า จีน: กรณีศึกษาจากพระพิมพ์ดินเผา”. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขา โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๖.

(จำนวนผู้เข้าชม 552 ครั้ง)


Messenger