...

ปราสาทพนมวัน จังหวัดนครราชสีมา

          ปราสาทพนมวัน ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นศาสนสถานที่ปรากฏการใช้งานมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 สืบเนื่องถึงปัจจุบัน โดย ประเด็นที่จะหยิบยกมาเล่าในวันนี้ คือ จารึกทั้ง 8 หลัก ที่พบจากปราสาทพนมวัน ซึ่งกำหนดอายุสมัยอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-17 นั่นเอง
          จากการดำเนินการบูรณะปราสาทพนมวัน ด้วยวิธีอนัสติโลซิส ซึ่งแล้วเสร็จในปี 2543 นั้น เราได้ค้นพบ #จารึก ที่ปราสาทพนมวัน จำนวน 8 หลัก โดยปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมหาวีรวงศ์ อำเภอเมืองนครราชสีมา  1 หลัก (จารึกหลักที่ 7) และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย จังหวัดนครราชสีมา 2 หลัก (จารึกหลักที่ 1 และ  ส่วนอีก 5 หลัก ปัจจุบันยังอยู่ที่ตำแหน่งกรอบประตูตัวข้างของปราสาทประธาน (ดูแผนผังประกอบ)
          ผลการศึกษาวิเคราะห์และการกำหนดอายุจารึกปราสาทพนมวันจารึกปราสาทพนมวัน สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
          กลุ่มที่1 ได้แก่ จารึกหลักที่ 1 มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 ดังปรากฏพระนามของกษัตริย์ 2 พระองค์ คือ พระเจ้าอินทรวรมันที่ 1 (พ.ศ.1420 – พ.ศ.1432) และพระเจ้ายโศวรมันที่ 1   (พ.ศ.1432 – พ.ศ.1443)
          กลุ่มที่2 ได้แก่ จารึกหลักที่ 2 และหลักที่ 5 มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16  ดังปรากฏพระนามของกษัตริย์ 2 พระองค์ คือ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 (พ.ศ.1545 – พ.ศ.1593) และ พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 (พ.ศ.1593 – พ.ศ.1609)
          กลุ่มที่3 ได้แก่ จารึกหลักที่ 3 จารึกหลักที่ 4 จารึกหลักที่ 6 จารึกหลักที่ 7 และจารึกหลักที่ 8 มีอายุอยู่ในช่วงต้น – กลางพุทธศตวรรษที่ 17 ดังปรากฏพระนามของกษัตริย์ 2 พระองค์ คือ พระเจ้าราเชนทรวรมัน (พ.ศ.1487 – พ.ศ.1511) พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 (พ.ศ.1623 – พ.ศ.1650)
          ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการสับสนระหว่างภาพจารึกและข้อความ  จึงขออนุญาตนำข้อมูลรายละเอียดจารึกทั้ง 8 หลัก แยกใส่ไว้ในรายละเอียดภาพของแต่ละภาพเลย
 
จารึกปราสาทพนมวัน 1 จารึกด้วยอักษรขอมโบราณ ภาษาเขมร ระบุ ศักราชตรงกับพุทธศักราช 1433 ปรากฏตัวอักษรบนจารึกจำนวน 1 ด้าน มี 6 บรรทัด บนส่วนของ ทับหลังกรอบประตูรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 109 เซนติเมตร สูง 25 เซนติเมตร ศิลาจารึกหลักนี้ พบเมื่อกรมศิลปากรบูรณะขุดแต่งโบราณสถานปราสาทหินพนมวัน เมื่อปีพุทธศักราช 2513 พบอยู่ท่ามกลางซากปรักหักพังรวมกับหินอื่น ๆ บริเวณด้านทิศใต้นอกปราสาท ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย จังหวัดนครราชสีมา สรุปเนื้อหาในคำแปลจารึก กล่าวว่า
“มหาศักราช 812 (พ.ศ.1433) ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 3 มีพระราชโองการของพระกัมรเตงอัญยโศวรมัน สั่งให้โขลญพนม วาบโค โขลญพิษ และวาบศรีประติปรัตยะ จัดการฉลองปะรำพระเพลิงและ พระตำหนัก ขอให้ปฏิบัติตามพระราชโองการของพระกัมรเตงอัญอินทรวรมันและพระกมรเตงอัญยโศวรมัน
ส่วนผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามพระราชโองการจะต้องได้รับความไม่ดีที่ตนทำไว้ สำหรับผู้ปฏิบัติตามพระราชโองการ จะต้องได้รับความดีความชอบหลายอย่าง ตามที่สร้างตะกรุดไว้ในลิงคบุรีและเมื่อสร้างตะกรุดถวายพระกัมรเตงอัญเสร็จแล้ว จึงเอาตะกรุดนั้นซัดเข้าไปในพระเพลิงอีกโดยแยกตีเอาไปเก็บไว้ข้างบนเพื่อให้รวมอยู่กับเครื่องกระยา”

จารึกปราสาทพนมวัน 2 จารึกด้วยอักษรขอมโบราณ ภาษาเขมรและสันสกฤต ระบุศักราชตรงกับพุทธศักราช 1598 ปรากฏตัวอักษรบนจารึกจำนวน 1 ด้าน มี 45 บรรทัด พบที่กรอบประตูห้องมุขด้านตะวันออกของปราสาทประธาน บนส่วนของกรอบประตูตัวข้างด้านใต้ สรุปเนื้อหาสำคัญในคำแปลจารึก กล่าวว่า
“ขอความนอบน้อม จงมีแก่พระศิวะผู้มีรัศมีอันรุ่งโรจน์ ผู้ประเสริฐ ผู้อันพราหมณ์ เป็นต้นบูชา•••••ศรีสูรยวรมัน ผู้มีพระบาทบงกชเหนือเศียรเกล้าแห่งพระราชาทั้งหลายที่มานอบน้อม•••••ทรงประกอบด้วยธรรมอันสมบูรณ์ ทรงสืบเชื้อสายมาจาก ศรวรสกุล (ทรงบัญชาให้) พระราชาที่เป็นศัตรู กระทำตามพระราชโองการของพระองค์โดยไม่ผิดพลาด•••••บุรุษผู้มีความดีนั้น ผู้บริสุทธิ์ ผู้เต็มไปด้วยความภักดีต่อ พระเจ้าศรีสูรยวรมัน ซึ่งมีนามว่า วีรวรมัน เป็นนักรบด้วยความภักดี•••••พระราชาผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานโภคะต่าง ๆ เสลี่ยงยูงทองและงาเป็นอันมากแก่เขา เพราะความภักดีต่อเจ้านาย ท่านจึงได้รับนามว่า กฤตัชญวัลลภ และได้สร้างเทวรูปไว้ในเมืองสุขาลัย อันน่ารื่นรมย์•••••ได้ถวายทาสชายหญิง 200 คน แก่เทวรูปองค์นี้ ได้ถวายที่ดิน ปศุสัตว์ อันประกอบด้วยกระบือตัวผู้และตัวเมียเป็นต้น ได้ทำเขตของอาศรมนั้นไว้ทั้ง 8 ทิศ พร้อมด้วยชาวบ้านและญาติทั้งหลายในทิศตะวันออก ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทางทิศใต้ และทิศตะวันตกเฉียงใต้ สตุกกทัมพกะ ทิศตะวันตกพนมพระ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทิศเหนือชื่ออังเวง ทิศตะวันออกเฉียงเหนือชื่อณทาหกะ ตั้งแต่หมู่บ้าน สวาทเยา มาจำนวน 23 หมู่บ้าน ได้รับการซ่อมแซมใหม่ ให้สวยงาม น่าชมเป็นอย่างยิ่ง•••••ต่อจากนั้น ก็เป็นสมัยของพระเจ้าศรีอุทยาทิตยวรมัน ซึ่งทั้งนักประพันธ์และ ผู้มีชื่อเสียงเกียรติยศ ยังมีความภักดีสืบต่อกันมา พิธีเกี่ยวกับดินแดนแห่งสวาทเยา ซึ่งมีมาแล้วตั้งแต่รัชกาลของพระเจ้าพรหมโลก (หรรษวรมันที่ 2) และการก่อตั้งดินแดนแห่งอำเวง เพื่อจะให้ข้าราชบริพารของพระเจ้าสูรยวรมันอยู่ที่นั่น”



จารึกปราสาทพนมวัน 3 จารึกด้วยอักษรขอมโบราณ ภาษาเขมร ระบุศักราชตรงกับพุทธศักราช 1625 ปรากฏตัวอักษรบนจารึกจำนวน 1 ด้าน มี 42 บรรทัด บนส่วนของกรอบประตูตัวข้างด้านตะวันตกของประตูห้องครรภคฤหะด้านใต้ปราสาทประธาน สรุปเนื้อหาสำคัญ ในคำแปลจารึก เป็นเรื่องราวของการจารึกขึ้นในปีพุทธศักราช 1625 พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 หรือพระบาทบรมไกรวัลยบท (พ.ศ.1623 – 1650) ทรงมีพระราชโองการให้บรรดาพระกมรเตงอัญ คนอื่น ๆ ช่วยกันดูแลอาศรมและให้ถวายสิ่งของแก่กมรเตงชคตเป็นประจำ นอกจากนี้ยังทรงถวายทาสและสิ่งของอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพวกทาสนั้น ทรงมีพระบรมราชโองการห้ามอยู่ใต้การบังคับบัญชาของผู้ใดและทรงห้ามพวกทาสเหล่านี้ทำพิธีกรรมอื่น ๆ อีกด้วย
จากภาพเป็นจารึกหลักที่ 3 ส่วนบน

จารึกปราสาทพนมวัน 4 จารึกด้วยอักษรขอมโบราณ ภาษาเขมร ระบุศักราชตรงกับพุทธศักราช 1625 ปรากฏตัวอักษรบนจารึกจำนวน 1 ด้าน มี 3 บรรทัด พบที่กรอบประตูห้องครรภคฤหะด้านใต้ของปราสาทประธาน บนส่วนของกรอบประตูตัวข้างด้านตะวันออก จารึกมีข้อความสืบเนื่องจากปราสาทหินพนมวัน 3 แต่เส้นอักษรลบเลือนมาก อ่านจับใจความได้เพียงเล็กน้อยว่า
“ข้าวสาร 1 ภาชนะ•••••ม้าตัวผู้หนึ่งตัว อีกตัวหนึ่งสีขาว 2 ถลวส•••••

จารึกปราสาทพนมวัน 5 จารึกด้วยอักษรขอมโบราณ ภาษาเขมร ระบุศักราชตรงกับพุทธศตวรรษที่ 17 ปรากฏตัวอักษรบนจารึกจำนวน 1 ด้าน มี 19 บรรทัด พบที่กรอบประตูห้องมุขด้านตะวันออกของปราสาทประธาน บนส่วนของกรอบประตูตัวข้างด้านเหนือ สรุปเนื้อหาสำคัญในคำแปลจารึกได้ดังนี้
บรรทัดที่ 1-7 มีบุคคลอาจเป็นกฤตัชยวัลลภ กล่าวถึงตนเอง แต่อาจจะกล่าวถึงผลประโยชน์ต่างๆ ที่ตนได้รับและแสดงความปรารถนาบางประการเกี่ยวกับสกุลของตน
บรรทัดที่ 7-14 กล่าวถึงหมู่บ้าน 23 แห่ง และจบลงด้วยข้อความที่ห้ามแก่หัวหน้าหมู่บ้าน โดยมีอยู่ ข้อหนึ่งให้ทำบางสิ่งบางอย่างอยู่ ซึ่งแสดงโดยข้อความที่ไม่อาจเข้าใจได้
บรรทัดที่ 14-17 สัญญาที่แสดงความยินดีในชีวิตเบื้องหน้า แก่ผู้ที่ประพฤติดีและแก่ครอบครัวของเขา ที่จะงดเว้นไม่แสดงความรังเกียจแก่เทวาลัย และทำให้เจริญ แก่ครอบครัวของผู้สร้างซึ่งได้อาศัยอยู่ที่นั่น
บรรทัดที่ 17-19 คำขู่ถึงนรก 32 ขุม โดยไม่มีการละเว้น แก่คนวิกลจริต คนโลภและครอบครัวของเขาที่ทำลายเทวาลัยแห่งนี้

จารึกปราสาทพนมวัน 6 จารึกด้วยอักษรขอมโบราณ ภาษาเขมร ระบุศักราชตรงกับพุทธศตวรรษที่ 17 ปรากฏตัวอักษรบนจารึกจำนวน 1 ด้าน มี 2 บรรทัด พบที่กรอบประตูห้องมุขด้านใต้ของปราสาทประธาน บนส่วนของกรอบประตูตัวข้างด้านตะวันตก จารึกนี้มีสภาพชำรุดมาก ปรากฏรูปอักษรให้เห็นเพียง 2 บรรทัด อ่านและแปลได้ว่า
“•••••วันเสาร์เดือนอ้ายสงกรานต์•••••กมรเตงชคต”



จารึกปราสาทพนมวัน 7 จารึกด้วยอักษรขอมโบราณ ภาษาเขมรและสันสกฤต ระบุศักราชตรงกับพุทธศตวรรษที่ 17 ปรากฏตัวอักษรบนจารึกจำนวน 2 ด้าน ด้านที่ 1 มี 6 บรรทัด ด้านที่ 2 มี 6 บรรทัด เป็นแผ่นรูปส่วนหนึ่งของใบเสมา พบจากการขุดแต่งบริเวณปราสาทหินพนมวัน พร้อมกับจารึกปราสาทหินพนมวัน 1 ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมหาวีรวงศ์ จังหวัดนครราชสีมา ขนาดของจารึกมีขนาดกว้าง 12 เซนติเมตร สูง 18 เซนติเมตร หนา 7 เซนติเมตร ข้อความในจารึกมีข้อความไม่ต่อเนื่อง ด้านที่ 1 จารึกเป็นภาษาสันสกฤต ได้กล่าวว่า พระอาทิตย์บนท้องฟ้าแห่งนี้ เป็นต้นวงศ์ของศรีกัมพุช ส่วนด้านที่ 2 จารึกเป็นภาษาเขมร ได้บอกพระนามของพระเจ้าราเชนทรวรมันหรือพระบาทศิวโลก



หลักฐานจารึกปราสาทพนมวัน 8 เป็นจารึกฐานเทวรูป พบจากการขุดตรวจพื้นภายในห้องมุขตะวันออกของมณฑปปราสาทประธาน ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ได้รับการอ่านแปลโดยนายชะเอม แก้วคล้าย เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2543 เป็นภาษาเขมร อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 – 17 กล่าวถึงการถวายสิ่งของบูชาเทวรูปในอาศรมและพระศิวะ

--------------------------------------------------------
ข้อมูลโดย : นายนภสินธุ์ บุญล้อม นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา
--------------------------------------------------------
แหล่งอ้างอิงข้อมูล
พงศ์ธันว์ บรรทม. ปราสาทพนมวัน. กรุงเทพฯ: สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 นครราชสีมา. 2544.

(จำนวนผู้เข้าชม 7377 ครั้ง)