...

ดุริยสตรี : การประโคมดุริยางคดนตรีในงานพระราชพิธีซึ่งจัดขึ้นในเขตพระราชฐานชั้นใน
           เขตพระราชฐานชั้นใน หรือที่บางคนเรียกว่า “ฝ่ายใน” นั้น เป็นคําที่ใช้เรียกพื้นที่ส่วนหนึ่ง ในพระบรมมหาราชวัง มีบริเวณอยู่ทางทิศใต้ของพระบรมมหาราชวัง อันเป็นที่ประทับสําหรับ พระมเหสี พระราชเทวี พระชายา พระราชธิดาและเป็นที่อยู่ของเจ้าจอมมารดา เจ้าจอม เหล่าข้าราชบริพารและข้าราชการฝ่ายใน ซึ่งเป็นเขตพื้นที่สาหรับผู้หญิงล้วนและห้ามผู้ชายที่มีอายุเกิน ๑๓ ปีเข้าไป เว้นแต่พระมหากษัตริย์เท่านั้นที่จะประทับในเขตพระราชฐานชั้นในได้ หากผู้ชายมีความจําเป็นจะต้องเข้าไปทําธุระในเขตพระราชฐานชั้นใน จะต้องมีโขลนคอยกํากับ ควบคุมและดูแลโดยตลอด



          การพระราชพิธีต่าง ๆ นับแต่โบราณ เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าจะต้องมีวงดนตรีต่าง ๆ เข้าไปประโคมเพื่อประกอบพระอิสริยยศอยู่ด้วย โดยงานพระราชพิธีที่จัดขึ้นนั้นมีทั้งงานที่จัดขึ้นนอกพระบรมมหาราชวังและงานที่จัดขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ถ้าหากงานพระราชพิธีนั้นจัดขึ้นในเขตพระราชฐานชั้นนอก เขตพระราชฐานชั้นกลาง ของพระบรมมหาราชวังหรือจัดขึ้น นอกพระบรมมหาราชวัง นักดนตรีที่บรรเลงในงานพระราชพิธีนั้นโดยมากจะนิยมใช้ผู้ชาย แต่ถ้าหากงานพระราชพิธีนั้นจัดขึ้นในเขตพระราชฐานชั้นใน อันเป็นเขตพื้นที่หวงห้ามสาหรับบุรุษเพศแล้ว ย่อมเป็นที่แน่นอนว่านักดนตรีที่บรรเลงในงานพระราชพิธีดังกล่าวนั้นจะต้องเป็นผู้หญิง ดังที่ นายมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ ได้กล่าวถึง การประโคมดุริยางคดนตรีในพระราชพิธีที่จัดขึ้น ในเขตพระราชฐานชั้นใน ไว้ในหนังสือการบรรเลงปี่พาทย์ในงานพระราชพิธี ความว่า
          “..อนึ่ง งานที่ประกอบขึ้น ณ พระราชฐานชั้นใน อันมีแต่ข้าราชการ และเจ้านายฝ่ายในนั้น การประโคมใช้วงปี่พาทย์ผู้หญิง ซึ่งแต่ก่อนมีประจําอยู่วงหนึ่ง ผู้บรรเลงเป็นสตรีล้วน...” (มนตรี ตราโมท, ๒๕๐๑: ๔)
           จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า นักดนตรีที่ทําหน้าที่ประโคมดุริยางคดนตรีในงานพระราชพิธีที่จัดขึ้นในเขตพระราชฐานชั้นในแต่โบราณนั้นเป็นนักดนตรีที่เป็นผู้หญิงล้วน ซึ่งข้อมูลสําคัญ อีกประการที่แสดงให้เห็นว่างานพระราชพิธีที่จัดขึ้นในเขตพระราชฐานชั้นใน มีการใช้วงดนตรีที่มีผู้บรรเลงเป็นผู้หญิงล้วนในการประโคมก็คือ ข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในหนังสือสาส์นสมเด็จ ที่สมเด็จ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ได้กราบทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ถึงเรื่อง “การประโคมเมื่อเจ้านายประสูติ” ซึ่งเป็นการประโคมดุริยางคดนตรีที่จัดขึ้นในเขตพระราชฐานชั้นใน ไว้ว่า “...ปี่พาทย์ประโคมเมื่อพระเจ้าลูกเธอประสูตินั้น ผู้หญิงทําทั้งปี่พาทย์และแตรสังข์...” (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ, ๒๕๕๒: ๒๔๐)
           ถึงแม้ว่าปี่พาทย์พิธีและแตรสังข์ที่ใช้ประโคมในเขตพระราชฐานชั้นในจะใช้ผู้หญิงล้วนในการบรรเลงเครื่องดนตรี แต่สาหรับ “ฆ้องชัย” ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งที่อยู่ในแตรสังข์ของงานเครื่องสูงนั้น ยังคงใช้ผู้ชายเข้าไปทําหน้าที่อยู่ โดยจะใช้พนักงานผู้ชายคุมเข้าไปคอยอยู่กับปี่พาทย์พิธี ที่บรรเลงด้วยผู้หญิงล้วนเพื่อทาหน้าที่ลั่นฆ้องชัย สาหรับสาเหตุที่ฆ้องชัยไม่ใช้ผู้หญิงลั่นนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้กราบทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ไว้ในหนังสือสาสน์สมเด็จ ความว่า
          “...ในการที่เอาผู้ชายไปตีฆ้องชัยนั้น สันนิษฐานว่าจะต้องเป็นเช่นนั้น เพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วผู้หญิงจับไม่ได้ ที่ปี่พาทย์ผู้หญิงไม่มีฆ้องชัยก็เพราะถ้ามี ก็ไม่เป็นชัย ไปได้ ด้วยผู้หญิงถูกต้องฆ้องนั้น...” (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยา นริศรานุวัดติวงศ์, ๒๕๕๒: ๒๔๑)
           นอกจากนี้นางเจริญใจ สุนทรวาทิน ศิลปินแห่งชาติ บุตรีพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) ผู้เคยถวายตัวเป็นข้าหลวงในสมเด็จพระนางเจ้ารําไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ และได้อยู่งานฉลองพระเดชพระคุณเป็นนักร้องประจําวงมโหรีของพระราชสํานัก ยังได้บรรยายถึงบรรยากาศการฝึกซ้อมดนตรีและการบรรเลงดนตรีในงานพระราชพิธีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้อย่างน่าสนใจ ความว่า


          “...ข้าพเจ้าจะเล่าถึงงานหลวงที่ได้ปฏิบัติมาตลอดรัชกาลที่ ๗ งานเฉลิม พระชนมพรรษา วันฉัตรมงคล วงมโหรีหลวงต้องเข้าไปบรรเลงในพระราชวังชั้นในซึ่งไม่มีผู้ชายเข้าได้ ข้าพเจ้าเป็นคนระนาดทอง วันเฉลิมพระชนมพรรษามีพระราชพิธี ๓ วัน เช้า – เย็น มโหรีต้องทํารับพระ – ส่งพระ งานฉัตรมงคลก็เช่นเดียวกัน และตอนเย็นของวันสุดท้าย จะมีงานราชอุทยานสโมสร ที่สวนศิวาลัย หลังพระที่นั่งบรมพิมาน จะมีพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงและคณะทูตานุทูตประเทศต่าง ๆ มาถวายพระพร มีมโหรีพวกเราบรรเลงทุกปีที่เสด็จอยู่...งานหลวงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีอยู่ตลอด การทํางานของเราก็คล้ายกรมศิลปากรเดี๋ยวนี้ แต่เล็กกว่า แสดงแต่เฉพาะของพระเจ้าอยู่หัวและแล้วแต่จะทรงพระกรุณา โปรดเกล้า ฯ ส่งไปช่วย...” (เจริญใจ สุนทรวาทิน, ๒๕๕๕: ๑๓๒-๑๓๓)
          จากข้อมูลของนางเจริญใจ สุนทรวาทิน ศิลปินแห่งชาติ จะเห็นได้ว่า ในอดีตงานพระราชพิธี ที่จัดขึ้นในเขตพระราชฐานชั้นในนั้น นอกจากจะมีการใช้วงปี่พาทย์ผู้หญิงดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ในข้างต้น การประโคมดุริยางคดนตรีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีการใช้วงมโหรีผู้หญิงล้วนสําหรับบรรเลงในงานพระราชพิธีสําคัญต่าง ๆ ที่จัดขึ้นในเขตพระราชฐานชั้นในอีกด้วย หลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในพุทธศักราช ๒๔๗๕ ชีวิตนักดนตรีผู้หญิง ในพระราชสํานักก็เปลี่ยนไป บางท่านย้ายกลับภูมิลําเนาเดิมของตนเอง บางท่านย้ายสังกัดมาขึ้นตรงกับกรมศิลปากร ที่แผนกดุริยางค์ไทย ซึ่งปัจจุบันคือกลุ่มดุริยางค์ไทย สํานักการสังคีต กรมศิลปากร




          ปัจจุบันถึงแม้ว่าจะไม่มีวงดนตรีที่บรรเลงด้วยผู้หญิงล้วนเข้าไปประโคมฉลองพระเดชพระคุณในงานพระราชพิธีต่าง ๆ ที่จัดขึ้นในเขตพระราชฐานชั้นในเช่นแต่ก่อน แต่ทว่าหากมีงานพระราชพิธี ที่จัดขึ้นในเขตพระราชชั้นในครั้งใด อย่างไรเสียก็ยังคงต้องมีวงดนตรีเข้าไปทําหน้าที่ประโคมดังเดิม เช่น พระราชพิธีสรงมูรธาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน ที่จัดขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน ที่จัดขึ้น ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง และพระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราช ที่จัดขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง เป็นประจําทุกปี ฯลฯ ซึ่งพระราชพิธีต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้น ล้วนแล้วแต่เป็น พระราชพิธีที่จัดขึ้นในเขตพระราชฐานชั้นในทั้งสิ้นและในการพระราชพิธีดังกล่าวยังคงมีปี่พาทย์พิธี ซึ่งบรรเลงโดยดุริยางคศิลปิน จากกลุ่มดุริยางค์ไทย สํานักการสังคีต กรมศิลปากร เข้าไปประโคม อยู่ด้วยทุกครั้ง ทั้งนี้ข้อกาหนดเรื่องเพศของผู้บรรเลงนั้นไม่ได้เคร่งครัดเช่นแต่ก่อน มีการใช้ผู้บรรเลงทั้งชายและหญิงเข้าไปฉลองพระเดชพระคุณในงานพระราชพิธีต่าง ๆ ที่จัดขึ้นในเขตพระราชฐานชั้นในทุกครั้ง







------------------------------------------------------------------
ผู้เขียน : นายธำมรงค์ บุญราช นักวิชาการละครและดนตรีปฏิบัติการ กลุ่มวิจัยและพัฒนาการสังคีต สํานักการสังคีต กรมศิลปากร
------------------------------------------------------------------
รายการอ้างอิง
เจริญใจ สุนทรวาทิน, ข้าพเจ้าภูมิใจที่เกิดเป็นนักดนตรีไทย. ใน จารุวรรณ ชลประเสริฐ และ พรทิพย์ จันทิวโรทัย, บรรณานุสรณ์ เจริญใจ สุนทรวาทิน, หน้า ๑๓๒-๑๓๓. กรุงเทพมหานคร: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จากัด (มหาชน), ๒๕๕๕. ดํารงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา และนริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้า บรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยา. ประโคมเจ้านายประสูติ. ใน พูนพิศ อมาตยกุล, เพลง ดนตรี และนาฏศิลป์ จากสาส์นสมเด็จ, หน้า ๒๔๐-๒๔๑. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์เรือนแก้ว การพิมพ์, ๒๕๕๒. มนตรี ตราโมท, การบรรเลงปี่พาทย์ในงานพระราชพิธี. พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงบํารุงจิตรเจริญ และนางศุภลักษณ์ ภัทรนาวิก ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๑. ม.ป.ท., ๒๕๐๑.

(จำนวนผู้เข้าชม 6067 ครั้ง)