...

กรมศิลปากรบวงสรวงการอนุรักษ์ซ่อมแซมบานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
 
         วันจันทร์ที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๔๙ น. นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดี กรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีบวงสรวงการอนุรักษ์ซ่อมแซมบานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น ณ พระวิหารหลวง วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร โดยมีพระธรรมไตรโลกาจารย์ (พูนศักดิ์ วรภทฺทโก) รองแม่กองธรรมสนามหลวง เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ได้เจิมเครื่องมือช่างเป็นมงคลในพิธี จากนั้นอธิบดีกรมศิลปากร ร่วมไขถอดบานหน้าต่างประดับมุก เป็นปฐมฤกษ์












            นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า บานประตูและบานหน้าต่างประดับมุกอัน เป็นศิลปะของประเทศญี่ปุ่น ประดับอยู่ภายในพระวิหารหลวง วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๐๘ ซึ่งทางวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามได้เล็งเห็นถึงความสำคัของศิลปวัตถุชิ้นสำคัญนี้ และมีความประสงค์ต้องการให้ทางกรมศิลปากรดำเนินการซ่อมแซมบานประตู และบานหน้าต่างประดับมุกอันเป็นศิลปะของประเทศญี่ปุ่นที่ชำรุดเสียหาย โดยที่ผ่านมาทางวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามได้ดำเนินงานโครงการอนุรักษ์โบราณสถานภายในวัด อันมีบุคลากรจากสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ร่วมควบคุมการอนุรักษ์ ด้วยทาง กรมศิลปากรมีข้อตกลงตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการดำเนินความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากรกับสถาบันวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (Tokyo National Research Institute for Cultural Properties :TNRICP) ในการดูแลรักษามรดกทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น



          กรมศิลปากร และสถาบันวิจัยฯ ได้กำหนดแผนการดำเนินงานโครงการศึกษาเรื่องการอนุรักษ์บานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น ณ วิหารหลวง วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร โดยได้ดำเนินการระยะที่ ๑ นำตัวอย่างบานไม้ประดับมุก ไปศึกษารายละเอียดส่วนประกอบของศิลปวัตถุ ณ สถาบันวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น Tokyo National Research Institute for Cultural Properties ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๗ – ๒๕๕๘ ระยะที่ ๒ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามได้ส่งตัวแทนจากหน่วยงานภายใต้สังกัดกรมศิลปากร ประกอบด้วย กลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และสำนักช่างสิบหมู่ รวมถึงตัวแทนจากโรงเรียนช่างฝีมือในวัง หน่วยละ ๒ ราย รวมทั้งสิ้น ๖ ราย เดินทางไปร่วมดำเนินการโครงการฯ ณ สถาบันวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น Tokyo National Research Institute for Cultural Properties แล้วเสร็จตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๘ ขณะนี้ได้ดำเนินงานถึงช่วงระยะที่ ๓ ดำเนินการอนุรักษ์บานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น โดยตัวแทนจากสถาบันวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น Tokyo National Research Institute for Cultural Properties เดินทางมาร่วมวางแนวทางและร่วมอนุรักษ์บานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ – ๒๕๖๘ เป้าหมายอนุรักษ์ซ่อมแซมบานไม้ประดับมุกและแผ่นไม้ประดับรักลายนูน ในส่วนที่ชำรุดและ เสื่อมสภาพ จำนวน ๙๔ แผ่น โดยคงรูปแบบลวดลายลักษณะเดิม ส่วนใดที่หลุดล่วงไปแล้วจะไม่เติมให้เต็ม ดำเนินงานส่วนของพื้นให้เป็นพื้นรักสีดำอันเกิดจากยางรักเท่านั้น เพื่ออนุรักษ์ซ่อมแซมบานประตูและหน้าต่างประดับมุก พระวิหารหลวง วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร ให้เกิดความมั่นคง แข็งแรง เนื่องด้วยเป็นศิลปวัตถุชิ้นสำคัญของประเทศชาติ ตลอดจนอนุรักษ์และเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรมด้านงานประดับมุกศิลปะญี่ปุ่นในประเทศไทยให้สืบทอดต่อไป

(จำนวนผู้เข้าชม 654 ครั้ง)