...

หลักฐานไวษณพนิกายที่พบในฝั่งอันดามัน

พระวิษณุ (พระนารายณ์) เขาพระเหนอ

วัสดุ : หินทราย (Tuffacous Sandstone)
อายุ/สมัย : พุทธศตวรรษที่ ๑๒ ศิลปะอินเดีย แบบปัลลวะ
ขนาด : สูง ๒๐๒ เซนติเมตร
ประวัติ : พบที่แหล่งโบราณคดีเขาพระเหนอ ตำบลบาง นายสี อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา โดยสมเด็จฯ กรมพระยา ดำรงราชานุภาพ ได้ทรงนำพระวิษณุองค์นี้มาเก็บรักษาไว้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๐
ปัจจุบัน : จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ลักษณะ :
           พระวิษณุเขาพระเหนอ เป็นประติมากรรมลอยตัว ประทับยืนตรง มี ๔ กร ส่วนพระพักตร์กะเทาะหายไปบางส่วน สวมกิรีฏมกุฎทรงกระบอกเรียบไม่มีลวดลาย พระอุระผึ่งผาย บั้นพระองค์บาง ทรงพระภูษาโจงยาว ไม่มีผ้าคาดพระโสณี พระหัตถ์ที่ถืออาวุธชำรุดหักหายไปทั้ง ๔ ข้าง แต่สามารถสันนิษฐานอาวุธที่พระหัตถ์ได้โดยการเทียบเคียงกับเทวรูปพระวิษณุองค์อื่น คือ พระหัตถ์ขวาบนถือจักร พระหัตถ์ขวาล่างถือก้อนดิน (ภูมิ) พระหัตถ์ซ้ายบนถือสังข์ และพระหัตถ์ซ้ายล่างถือคทา จากลักษณะที่ส่วนพระองค์ไม่มีร่องรอยพระหัตถ์แสดงให้เห็นว่าพระหัตถ์ล่างทั้งสองข้างแยกจากพระโสณี
          สำหรับการถือหรือจับอาวุธนั้น รศ.ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี เสนอว่า น่าจะถือจักรโดยหันสันออก ถือก้อนดินด้วยการหงายและแบมือ ถือสังข์ด้วยการหงายมืออกโดยก้นสังข์ตั้งขึ้นและหันปากสังข์ออก ถือคทาด้วยการคว่ำมือลง คทาเฉียงเล็กน้อยยาวลงมาจรดพื้น
          นอกจากนั้น ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ เสนอว่า เทวรูป องค์นี้มีลักษณะถูกต้องตามหลักกายวิภาคศาสตร์ของมนุษย์ มีกล้ามเนื้อที่ชัดเจน มีการเกรงมือทั้งสองข้างไปด้านหลังเหมือนการเบ่งกล้าม รวมทั้งลักษณะนิ้วเท้า เล็บเท้า และสัดส่วนของนิ้ว มีลักษณะเหมือนจริงตามธรรมชาติ สอดคล้องกับที่ พิริยะ ไกรฤกษ์ ได้เสนอไว้ว่า พระวิษณุองค์นี้ให้ความรู้สึกน่าเกรงขามและให้ความประทับใจมากที่สุดองค์หนึ่งที่พบในประเทศไทย ซึ่งแสดงถึงความสำเร็จทางด้านงานศิลปกรรมขั้นสูง รวมทั้งแสดงถึงความเชี่ยวชาญและความมั่นใจของช่างผู้สลักที่สลักพระกรทั้งสี่แยกห่างจากตัวองค์


ภาพ : เขาพระเหนอ ตำบลบางนายสี อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา


ภาพ : โบราณสถานเขาพระเหนอ (ระหว่างดำเนินการบูรณะ)


ภาพ : พระวิษณุ (จำลอง) และโบราณสถานเขาพระเหนอ (หลังขุดแต่งและอนุรักษ์ ปี พ.ศ.๒๕๕๒-๒๕๕๕)

โบราณสถานเขาพระเหนอ :
          ตั้งอยู่ที่ตำบลบางนายสี อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา มีลักษณะเป็นเขาขนาดย่อมตั้งอยู่ตรงข้ามกับแหล่งโบราณคดีเหมือนทอง (ทุ่งตึก-เกาะคอเขา) บนยอดเขามีเทวสถานเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปพระวิษณุ
          ตามที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ได้กล่าวไว้ในจดหมายเหตุประพาสหัวเมืองภาคใต้ว่า “…เทวรูปนี้ยืนอยู่กลางฐานใหญ่ก่อด้วยอิฐแผ่นใหญ่ ซึ่งให้เห็นได้ว่าคงจะเป็นศาลหรืออะไรสักอย่างหนึ่ง แต่เรื่องราวอะไรก็สืบไม่ได้…”
          สันนิษฐานได้ว่า พระวิษณุประดิษฐานบนอาคารที่ก่อด้วยอิฐ และตามที่ ดร.เอช.จี. ควอริทช์ เวลส์ (Dr. H.G. Quaritch Wales) ได้สำรวจที่แหล่งโบราณคดีเขาพระเหนอได้สำรวจพบอิฐฐานราก (บริเวณที่ตั้งพระวิษณุ) เป็นแนวลดหลั่นแบบขั้นบันได
          พ.ศ.๒๕๒๖-๒๕๒๗ ธราพงศ์ ศรีสุชาติ ได้สำรวจแหล่งโบราณคดีเขาพระเหนอ พบฐานแนวอิฐซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระวิษณุ เป็นแผ่นอิฐเรียงขนาดใหญ่และแนวอิฐกระจัดกระจายในรัศมีประมาณ ๗๕ ตารางเมตร และมีซากแนวอิฐเรียงเป็นแนวลาดจากแนวฐานลงสู่ปลายเนิน
          และจากการขุดค้นและขุดแต่งในโครงการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งโบราณคดีเขาพระเหนอ ของสำนักศิลปากรที่ ๑๕ ภูเก็ต เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๒ พบว่าโบราณสถานเขาพระเหนอเป็นอาคารไม่มีหลังคาคลุม มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๙ เมตร ยาว ๑๐ เมตร สูงประมาณ ๐.๖๐-๐.๘๐ เมตร มีการย่อเก็จด้านหน้า กึ่งกลางอาคารมีบันได้และทางเดินปูด้วยอิฐกว้าง ๑.๓ เมตร มีเทคนิคการก่อสร้างโดยการเลือกบริเวณที่สูงที่สุดบนเขาพระเหนอ และมีการปรับพื้นที่รวมทั้งมีการนำก้อนหินต่างๆ มาเรียงก่อซ้อนกันเป็นขอบฐานโบราณสถาน
          จากผลการขุดแต่งคาดว่าโบราณสถานเขาพระเหนอน่าจะมีอายุร่วมสมัยกับพระวิษณุที่พบประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นไป

---------------------------------------------------
ค้นคว้า/เรียบเรียงข้อมูล : น.ส.สุขกมล วงศ์สวรรค์ ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช
---------------------------------------------------

อ้างอิง :
- รายงานการประชุมโครงการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมตามเส้นทางแม่น้ำตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ครั้งที่ ๑ วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๔ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กรุงเทพฯ (สำเนา).
- พิริยะ ไกรฤกษ์. ศิลปะทักษิณก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๒๓.
- ธราพงศ์ ศรีสุชาติ. “ตะกั่วป่า : ชุมชนโบราณ.” สารานุกรมวัฒนธรรม ภาคใต้ พ.ศ.๒๕๒๙ เล่ม ๓. กรุงเทพฯ: สถาบันทักษิณคดีศึกษา, ๒๕๒๙. - รายงานเบื้องต้นการขุดค้น
-ขุดแต่งโบราณสถานเขาพระเหนอ ตามโครงการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งโบราณคดีเขาพระเหนอ ตำบลบางนายสี อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา พ.ศ.๒๕๕๒.
- สุขกมล วงศ์สวรรค์. “หลักฐานทางศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูที่พบในแหล่งโบราณคดีฝั่งทะเลอันดามัน.” พิพิธวิทยาการ รวมบทความวิชาการด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ และพิพิธภัณฑสถานวิทยา ๒๕๕๘. กรุงเทพฯ : สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๕๙. - H.G. Quaritch Wales, A Newly-Explored Route of Ancient Indian Cultural Expansion.London: India Society, 1937.

(จำนวนผู้เข้าชม 3497 ครั้ง)


Messenger