...

หลักฐานไวษณพนิกายและไศวนิกายในภาคใต้

          จากการเข้ามาของพ่อค้าและนักบวชชาวอินเดียในดินแดนสุวรรณภูมิและภาคใต้ของไทยส่งผลให้ลัทธิความเชื่อของชาวอินเดียได้เข้ามาเผยแผ่และปรากฏหลักฐานในหลายพื้นที่ โดยหลักฐานศาสนาพราหมณ์-ฮินดูไวษณพนิกายน่าจะเข้าสู่ภาคใต้ตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๐ และรุ่งเรื่องอยู่บนคาบสมุทรภาคใต้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ โดยหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๓ไปแล้วไวษณพนิกายเริ่มเสื่อมลงและหมดความนิยมไปหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๖ สำหรับไศวนิกายน่าจะเข้าสู่คาบสมุทรภาคใต้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๑ โดยอาจแบ่ง ๒ ระลอก คือ ระลอกแรกจากอินเดียภาคเหนือในสมัยราชวงศ์คุปตะ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๓ นิยมสร้างประติมากรรมรูปศิวลึงค์แทนองค์พระศิวะ ส่วนระลอกที่ ๒ มาจากอินเดียภาคใต้ในสมัยราชวงศ์โจฬะ ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๖ แต่ผ่านมาทางชวาภาคกลาง และนิยมสร้างรูปพระศิวะมากกว่าการสร้างศิวลึงค์
          ฝั่งทะเลตะวันออก (อ่าวไทย) พบหลักฐานศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ทั้งไวณพนิกายและไศวนิกาย ดังนี้
          - ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๑ พบพระวิษณุที่แหล่งโบราณคดีวัดศาลาทึง จ.สุราษฏร์ธานี และพบศิวลึงค์ที่โบสถ์พราหมณ์ จ.นครศรีธรรมราช เป็นต้น
          - พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ พบศิวลึงค์ที่แหล่งโบราณคดีท่าศาลา-สิชล จ.นครศรีธรรมราช และที่แหล่งโบราณคดียะรัง จ.ปัตตานี พบเอกมุขลึงค์ที่แหล่งโบราณคดีท่าชนะ จ.สุราษฏร์ธานี พบพระวิษณุที่แหล่งโบราณคดีเขาศรีวิชัย จ.สุราษฏร์ธานี พระวิษณุที่แหล่งโบราณคดีเวียงสระ จ.สุราษฏร์ธานี รวมทั้งพบพระคเณศซึ่งอาจได้รับการบูชาในลัทธิคาณปัตยะควบคู่กันด้วย
          - พุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๖ พบพระศิวมหาเทพ และพระอคัสตยะ ที่แหล่งโบราณคดีใน จ.สงขลา พบพระวฏุกไภรวะ และพระวิษณุ ที่แหล่งโบราณคดีเวียงสระ จ.สุราษฏร์ธานี โดยประติมากรรมพระวิษณุเริ่มพบเบาบางลงและหมดความนิยมลงไป สำหรับพระคเณศนั้นยังพบต่อเนื่องเรื่อยมา และเป็นที่น่าสังเกตว่าพื้นที่ฝั่งทะเลตะวันออก (อ่าวไทย) มีการพบประติมากรรมพระสุริยะใน จ.สุราษฏร์ธานีอีกด้วย
          สำหรับฝั่งทะเลตะวันตก (อันดามัน) พบหลักฐานทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖ ทั้งลัทธิไวษณพนิกาย ไศวนิกาย และอาจรวมถึงลัทธิคาณปัตยะด้วยเช่นกัน หลักฐานเหล่านี้พบกระจายอยู่ในชุมชนโบราณตะกั่วป่า จ.พังงา ที่แหล่งโบราณคดีเขาพระเหนอ ต.บางนายสี อ.ตะกั่วป่า แหล่งโบราณคดีเหมืองทอง-เกาะคอเขา (ทุ่งตึก) ต.เกาะคอเขา อ.ตะกั่วป่า และแหล่งโบราณเขาพระนารายณ์ (เขาเวียง) ต.เหล อ.กะปง หลักฐานที่พบมากที่สุดคือ ประติมากรรมพระวิษณุ รวมทั้งพบหลักฐานอื่นๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เช่น จารึกเขาพระนารายณ์ (จารึกหลักที่ ๒๖) และเหรียญโบราณที่มีจารึกชื่อเทพในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู เป็นต้น







------------------------------------------------
ค้นคว้า/เรียบเรียงข้อมูล : น.ส.สุขกมล วงศ์สวรรค์ ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ
------------------------------------------------

อ้างอิง :
- ผาสุข อินทราวุธ, รูปเคารพในศาสนาฮินดู (นครปฐม : มหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์, ๒๕๒๒ - รองศาตราจารย์ ดร.ผาสุข อินทราวุธ, “ความสัมพันธ์ทางด้านศาสนาและความเชื่อของเมืองสงขลากับหัวเมืองต่างๆ และดินแดนภายนอก, การสัมมนาทางวิชาการเรื่องสงขลาศึกษา : ประวัติศาสตร์และโบราณคดีเมืองสงขลา ๒๗-๒๙ สิงหาคม ๒๕๓๔ ณ สถาบันทักษิณคดีศึกษา จังหวังขลา .สงขลา : สถาบันทักษิณศึกษา, ๒๕๓๕.

(จำนวนผู้เข้าชม 6463 ครั้ง)