...

อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
          โบราณสถานวัดพระสี่อิริยาบถตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศเหนือที่เป็นเขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชร ผังของตัววัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านหน้าวัดมีอาคารอาบน้ำและบ่อน้ำที่ขุดเจาะลงไปในชั้นศิลาแลงเพื่อนำศิลาแลงมาใช้ในการก่อสร้างอาคาร
          สิ่งก่อสร้างที่สำคัญของวัดประกอบด้วยอาคารวิหารที่ตั้งอยู่ด้านหน้า มีฐานสองชั้นโดยฐานชั้นล่างหรือที่เรียกว่าฐานประทักษิณสร้างเป็นแบบฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ริมผนังด้านข้างใช้ศิลาแลงก่อเป็นลูกกรงเตี้ย ๆ เลียนแบบเครื่องไม้ ส่วนฐานวิหารที่อยู่ด้านบนเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ภายในปรากฏแท่นอาสนสงฆ์และแท่นชุกชีที่ใช้ประดิษฐานพระพุทธรูป เสารองรับเครื่องบนเป็นศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยม
          ด้านหลังวิหารเป็นอาคารมณฑปขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ภายในกำแพงแก้ว มีประตู ๓ ด้าน คือ ด้านทิศเหนือ ด้านทิศตะวันตกและด้านทิศใต้ ยกเว้นด้านทิศตะวันออกที่เชื่อมต่อกับท้ายวิหาร ลักษณะมณฑปเป็นแบบจัตุรมุข กึ่งกลางเป็นแท่งสี่เหลี่ยมเพื่อรับส่วนยอดหลังคา มีมุขยื่นออกมาทั้ง ๔ ทิศ แต่ละด้านของแท่งสี่เหลี่ยมก่อผนังให้เว้าเข้าไปและประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นใน ๔ อิริยาบถ คือ ผนังด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปอิริยาบถเดิน (ลีลา) ด้านทิศเหนือประดิษฐานพระพุทธรูปในอิริยาบถนอน (ไสยาสน์) ด้านทิศใต้ประดิษฐานพระพุทธรูปในอิริยาบถนั่งและด้านทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปในอิริยาบถยืน ซึ่งเป็นด้านที่พระพุทธรูปยังคงปรากฏสภาพค่อนข้างสมบูรณ์มากกว่าด้านอื่น ๆ โดยเป็นพระพุทธรูปในศิลปะสุโขทัย หมวดกำแพงเพชร พิจารณาจากลักษณะของพระพักตร์ คือพระนลาฏกว้าง (หน้าผากกว้าง) และพระหนุเสี้ยม (คางแหลม)
          พระอุโบสถเป็นอาคารขนาดเล็กฐานเตี้ย อยู่ติดกับแนวกำแพงวัดทางด้านทิศใต้ มีใบเสมาทำจากหินชนวนปักบนพื้นดินโดยรอบ ตัวอาคารก่อด้วยศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานอุโบสถก่อเป็นฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยม ๒ ชั้น
          ที่มาของการสร้างพระพุทธรูปในอิริยาบถต่าง ๆ ที่ประดิษฐานภายในอาคารมณฑปนั้น ปรากฏในหลายแนวคิด เช่น เป็นรูปแบบอิริยาบถที่ใช้ในการพักผ่อนภายในหนึ่งวันของพระพุทธเจ้าหรือเป็นเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฏในพุทธประวัติ คือ อิริยาบถยืนเป็นปางห้ามพระแก่นจันทร์หรือปางแสดงธรรม อิริยาบถนั่งเป็นปางสมาธิหรือปางมารวิชัย อิริยาบถนอน (ไสยาสน์) เป็นปางโปรดอสุรินทราหู และอิริยาบถเดิน (ลีลา) เป็นปางเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
           พระราชนิพนธ์ “เสด็จประพาสต้น” ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ระบุถึงการเสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๙ โดยได้เสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชรโบราณในเขตอรัญญิก ในวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๔๙ และได้ทรงมีพระราชนิพนธ์บรรยายเกี่ยวกับโบราณสถานวัดพระสี่อิริยาบถ ดังนี้
          “...ตั้งชื่อไว้ว่าวัดพระยืน มีสะพานข้ามคู...ชิ้นกลางเห็นจะเป็นวิหารยอดจัตุรมุข แต่สูงใหญ่เหลือเกิน มุขหน้าเป็นพระเดิน มุขหลังเป็นพระยืน มุขซ้ายเป็นพระนอน มุขขวาเป็นพระนั่ง ที่มุมปั้นเป็นรูปนารายณ์ขี่ครุฑใหญ่มาก จะรับหลังคาอย่างไรน่าคิด แต่พระเหล่านี้เป็นพระปั้นด้วยปูน ใครจะมาซ่อมมาทำเพิ่มเติมอย่างไรภายหลัง แต่รูปพรรณสัณฐานคงเป็นพระกำแพง ไม่ใช่ช่างเมืองอื่นมาทำ พระยืนนั้นขนาดพระโลกนาถวัดเชตุพน แต่ประเปรียวกว่า เห็นว่าให้ชื่อว่าวัดพระยืนไม่เข้าเค้า จึงเปลี่ยนให้เรียกว่าวัดพระเชตุพนไปพลาง กว่าจะมีชื่ออื่นดีกว่า เหตุด้วยเมืองสุโขทัยมีวัดเชตุพน บางทีเขาจะตั้งชื่อซ้ำกันบ้าง...”
          การเสด็จประพาสหัวเมืองเหนือที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์เรื่อง “เที่ยวเมืองพระร่วง” ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๕๐ ได้เสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชรโบราณในเขตอรัญญิก ในระหว่างวันที่ ๑๕ – ๑๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๐ และได้ทรงมีพระราชนิพนธ์บรรยายเกี่ยวกับโบราณสถานวัดพระสี่อิริยาบถ ดังนี้
          “…ส่วนที่วัดพระสี่อิริยาบถนั้น มีชิ้นสำคัญอยู่ คือวิหารสี่คูหา มีพระยืนด้านหนึ่ง พระนั่งด้านหนึ่ง พระลีลาด้านหนึ่ง พระไสยาสน์ด้านหนึ่ง พระยืน พระนั่ง พระลีลา ยังอยู่พอเป็นรูปร่างเห็นได้ถนัด แต่พระนอนนั้นชำรุดจนไม่เป็นรูป รอบวิหารมีผนังลูกกรงโปร่ง มองเข้าไปได้ทั้งสี่ด้าน แต่วัดนี้เหมือนวัดเชตุพนที่สุโขทัยเกือบจะไม่มีผิด…”
          วัดพระสี่อิริยาบถจึงถือเป็นโบราณสถานอีกแห่งในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรที่มีความสำคัญยิ่ง ทั้งงานศิลปกรรมที่ปรากฏผ่านทางงานสถาปัตยกรรมและประติมากรรม รวมทั้งเรื่องราวทางประวัติศาสตร์โบราณคดี













-------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : อุทยานประวัติศาสตร์ กำแพงเพชร
-------------------------------------------

เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ: บริษัทบางกอกอินเฮ้าส์จำกัด, ๒๕๖๑. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. เสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ ๕. พิมพ์ครั้งที่ ๒๖. กรุงเทพฯ : ไทยร่มเกล้า, ๒๕๒๙. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. เที่ยวเมืองพระร่วง. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๑๙. พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. “กำแพงเพชรกับสุโขทัย นอนไม่เหมือนกัน” ศิลปวัฒนธรรม. (ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๕,มีนาคม ๒๕๔๐). ภัคพดี อยู่คงดี. “พระสี่อิริยาบถ เมืองกำแพงเพชร” สาระนิพนธ์ปริญญาศิลปะศาสตร์บัณฑิต. ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๕๒๓. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปกรรมโบราณในอาณาจักรสุโขทัย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส, ๒๕๖๑.

(จำนวนผู้เข้าชม 949 ครั้ง)