...

บันทึกเรื่องลายรดน้ำ “KUNST UND KUNSTGEWERBE IN SIAM” ของ คาร์ล ซิกฟริด ดอห์ริ่ง (Professor Dr. Karl Siegfried Doehring)
เรื่องเล่าจากหอสมุดแห่งชาติ: บันทึกเรื่องลายรดน้ำ “KUNST UND KUNSTGEWERBE IN SIAM” ของ คาร์ล ซิกฟริด ดอห์ริ่ง (Professor Dr. Karl Siegfried Doehring)
          KUNST UND KUNSTGEWERBE IN SIAM เป็นงานเขียนของ คาร์ล ซิกฟริด ดอห์ริ่ง (Professor Dr. Karl Siegfried Doehring) สถาปนิก นักประวัติศาสตร์ศิลปะ และนักโบราณคดีชาวเยอรมัน ซึ่งเข้ามารับราชการในสยาม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ โดยทำงานในตำแหน่งวิศวกรผู้ช่วยประจำกรมรถไฟ กระทรวงโยธาธิการ ภายหลังในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งสถาปนิกและวิศวกร กรมสุขาภิบาล กระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่ตรวจการสุขาภิบาลหัวเมือง รับผิดชอบงานออกแบบและแก้ไขน้ำโสโครก ทำถนน สร้างสะพาน และอื่นๆ
          จนกระทั่งเดือนตุลาคมในปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริ จะจัดสร้างพระราชวังขึ้นที่เมืองเพชรบุรี โดยพระราชทานนามว่า “พระราชวังบ้านปืน” จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง คาร์ล ซิกฟริด ดอห์ริ่ง เป็นสถาปนิกเขียนแบบพระราชวังและโปรดเกล้าฯ ให้เป็นวิศวกรควบคุมการก่อสร้างด้วยในคราวเดียวกัน ปัจจุบันคือ “พระรามราชนิเวศน์” โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามขึ้นใหม่ นอกจากนั้นได้ออกแบบและก่อสร้างตำหนักสมเด็จ ภายในวังบางขุนพรหม โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงมีพระดำริจัดสร้างตำหนักสมเด็จ เพื่อใช้เป็นที่ประทับของ สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี พระมารดา และผลงานสุดท้ายก่อนที่ คาร์ล ซิกฟริด ดอห์ริ่ง จะเดินทางกลับประเทศเยอรมนี คือ ผลงานการออกแบบวังวรดิศ วังที่ประทับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และนอกเหนือจากงานออกแบบและวิศวกรแล้ว คาร์ล ซิกฟริด ดอห์ริ่ง ยังเป็นชาวต่างชาติที่มีความรอบรู้เกี่ยวกับศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมไทยเป็นอย่างดี โดยปรากฎเป็นงานเขียนหลากหลายเล่ม และหนึ่งในงานเขียนชิ้นสำคัญคือ KUNST UND KUNSTGEWERBE IN SIAM


ภาพ : คาร์ล ซิกฟริด ดอห์ริ่ง (Professor Dr. Karl Siegfried Doehring) KUNST UND KUNSTGEWERBE IN SIAM

          KUNST UND KUNSTGEWERBE IN SIAM จัดพิมพ์ขึ้นเป็นภาษาเยอรมัน โดยพิมพ์ขึ้นที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เมื่อ ค.ศ. ๑๙๒๕ หรือ พ.ศ. ๒๔๖๘ ตรงกับในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สำหรับความพิเศษของหนังสือเล่มนี้คือ เป็นหนังสือที่มีขนาดใหญ่ มีขนาด ๔๙x๖๒ ซ.ม. จำนวน ๒ เล่มจบ หน้าปกหุ้มด้วยผ้าลินินสีทอง พิมพ์ตัวอักษรคำว่า SIAM และรูปภาพจากเรื่องรามเกียรติ์อยู่ตรงกลางของหน้าปก โดยใช้ระบบการพิมพ์แบบเลตเตอร์เพรสซึ่งเป็นระบบการพิมพ์แบบโบราณ คืองานพิมพ์จะมีผิว ไม่เรียบ เนื่องด้วยการพิมพ์จะมีแรงกดทำให้ได้ผิวต่างระดับเหมือนการปั๊มจม หมึกจะหนาตามบริเวณขอบ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของเลตเตอร์เพรส และที่สำคัญหนังสือเล่มนี้สถาบันวัฒนธรรมเยอรมัน พระนคร ได้มอบให้เป็นสมบัติของหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร

           สำหรับเนื้อหาภายในเล่มของ KUNST UND KUNSTGEWERBE IN SIAM เล่มที่ ๑ นั้น คาร์ล ซิกฟริด ดอห์ริ่ง ได้เขียนเล่าเรื่องราว “ลายรดน้ำ” ซึ่งเป็นหนึ่งในศิลปะชิ้นเอกของไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา ที่ประดับตกแต่งอยู่บนบานประตู หน้าต่าง โบสถ์ วิหาร และตู้พระธรรมของวัดสำคัญๆ ในพระนคร ทั้งนี้ชื่อวัดต่างๆ ที่คาร์ล ซิกฟริด ดอห์ริ่ง บันทึกไว้นั้น เป็นชื่อวัดที่ปรากฏเรียกขาน ณ ช่วงเวลานั้น ผู้เขียนจึงได้แนบชื่อวัดต่างๆ ที่เรียกขานในปัจจุบันไว้ด้วย เพื่อสะดวกในการค้นคว้าข้อมูลต่อไป ซึ่งประกอบด้วย วัดสุทัศนเทพวราราม (วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร) วัดเบญจมบพิตร (วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร) วัดพระแก้ว (วัดพระศรีรัตนศาสดาราม) วัดจักรวรรดิ (วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร) วัดพลับพลาชัย วัดน้อยทองอยู่ (ปัจจุบันเป็นวัดร้างซึ่งได้รับความเสียหายจากสงครามมหาเอเชียบูรพา โดยตั้งอยู่ติดกับรั้วโรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฝั่งธนบุรี) วัดยานนาวา วัดอรุณ (วัดอรุณราช วรารามราชวรมหาวิหาร) วัดมงกุฎกษัตริย์ (วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร) วัดราชาธิวาส (วัดราชาธิวาส ราชวรวิหาร) วัดสำเพ็ง (วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร) วัดทอง และวัดตึก (วัดชัยชนะสงคราม) รวมทั้งลายรดน้ำบนตู้พระธรรมโบราณในหอพระสมุดวชิรญาณ ตลอดจนปรากฎบนสมบัติส่วนบุคคลซึ่งเป็นผลงานศิลปะลายไทยลงรักปิดทองของหลวงนิมิตเวสสุกรรม พระยาวรพงศ์พิพัฒน์ และนายอยู่ นอกจากนี้ยังนับรวมถึงวัตถุของสยามที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ Berlin, Dresden และMunich ด้วย








ภาพหน้าปก หน้าปกใน และรายละเอียดแบบลายรดน้ำบางส่วน ซึ่งพิมพ์เป็นภาษาเยอรมัน ใน KUNST UND KUNSTGEWERBE IN SIAM เล่ม ๑

          สำหรับเนื้อหาภายในเล่มของ KUNST UND KUNSTGEWERBE IN SIAM เล่มที่ ๒ นั้น คาร์ล ซิกฟริด ดอห์ริ่ง ได้ประมวลภาพสำเนาที่คัดลอกแบบลายไทยลงรักปิดทองกว่า ๕๐๐ แบบ พร้อมคำอธิบายและเทคนิคการเขียนภาพศิลปะลายรดน้ำแบบไทย ทั้งนี้เพื่อเผยแพร่ให้ชาวต่างประเทศรู้จักและเห็นคุณค่า ปัจจุบันภาพวาดลายรดน้ำที่นำมาตีพิมพ์จำนวนหนึ่ง ได้สูญหายและถูกทำลายไปจากการรื้อถอนเพื่อสร้างบูรณะวัด ขึ้นใหม่ รวมทั้งจากการตกแต่งวาดซ่อมแซมซึ่งทำให้รูปลักษณ์ผิดไปจากเดิม //ผู้อ่านท่านใดที่สนใจงานเขียน เรื่อง KUNST UND KUNSTGEWERBE IN SIAM รวมทั้งผลงานเรื่องอื่นๆ ของ คาร์ล ซิกฟริด ดอห์ริ่ง สามารถหาอ่านได้ที่ห้องหนังสือประเทศไทย อาคาร ๑ ชั้น ๓ และ ห้องบริการหนังสือหายาก อาคาร ๒ ชั้น ๓ สำนักหอสมุดแห่งชาติ






ภาพหน้าปก สารบัญและสำเนาแบบลายรดน้ำบางส่วน ซึ่งพิมพ์เป็นภาษาเยอรมัน ใน KUNST UND KUNSTGEWERBE IN SIAM เล่ม ๒

……………………………………………………………..…………..
นางสาวรวิวรรณ พุฒซ้อน บรรณารักษ์ชำนาญการ กลุ่มบริการทรัพยากรสารสนเทศ สำนักหอสมุดแห่งชาติ
………………………………………………………………………....

บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. ประวัติและผลงานของชาวต่างชาติในประเทศไทย เล่ม ๒. กรุงเทพฯ: กรม, ๒๕๓๙. สถาปนิกฝรั่งเมื่อ 100 ปีก่อนชี้ คนไทยคิดว่า “ตัวเองสำคัญสุดในโลก” และต้อง “สนุก” ไว้ก่อน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๓, จาก: https://www.silpa-mag.com/ history/article_23288. ๒๐๒๐. Art and art-industry in Siam. Bangkok: Asia Publishing House, 1999. 2 V; Illus. Exploring Thai art: Karl Siegfried Dohring. [Online]. retrieved 23 August 2020, from: https://blogs.bl.uk/asian-and-african/2015/11/exploring-thai-art-karl-siegfried- d%C3%B6hring.html

(จำนวนผู้เข้าชม 1771 ครั้ง)