...

แหล่งโบราณคดีบ้านคูเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
          บ้านคูเมืองตั้งอยู่ในเขตคูเมือง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นแหล่งโบราณคดีมีอาณาเขต จำนวน ๓ หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๔ และหมู่ที่ ๗ ที่มีชื่อว่า “คูเมือง”เป็นเพราะมีร่องรอยคูน้ำล้อมรอบพื้นที่เมือง บ้านคูเมืองตั้งอยู่ห่างจากอำเภอวารินชำราบมาทางทิศใต้ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร มีลำห้วยไหลผ่านทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือห่างประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ เมตร และยังมีลำห้วยเล็กๆ ไหลผ่านทางด้านทิศเหนือ เป็น เส้นทางระบายน้ำจากลำห้วยผับมาสู่คูน้ำโบราณ



          แต่เมื่อพิจารณาจากรูปแบบโบราณวัตถุและโบราณสถานที่พบสามารถอธิบายลำดับพัฒนาการการอยู่อาศัยในพื้นที่ได้ ๔ สมัย
          สมัยที่ ๑ ในช่วงก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย (ยุคสำริด-เหล็ก) พบหลักฐานการฝังศพครั้งที่ ๒ และ โบราณวัตถุเช่น ภาชนะดินเผาสีส้มและสีขาวนวลที่กำหนดอายุได้มากกว่า ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว
          สมัยที่ ๒ อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ หรือ ประมาณ ๑,๔๐๐-๑,๒๐๐ ปีมาแล้วตรงกับช่วงสมัยทวารวดี โดยหลักฐานที่พบในสมัยนี้คือเศษภาชนะดินเผารูปทรงต่างๆ
          สมัยที่ ๓ เป็นการอยู่อาศัยต่อเนื่องจากสมัยที่ ๒ คืออยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๙ หรือประมาณ ๑,๑๐๐ ปีมาแล้วตรงกับช่วงอิทธิพลเขมรในประเทศไทย ที่พบหลักฐานภาชนะดินเผาเขมรจากแหล่งเตาบุรีรัมย์ เครื่องถ้วยจีน และพบกิจกรรมการถลุงโลหะด้วย
สมัยที่ ๔ อยู่ในระยะตั้งแต่การอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ของคนลาวที่เป็นบรรพบุรุษของชาวบ้านในปัจจุบันเมื่อประมาณ ๒๐๐ ปีที่ผ่านมา หรือตั้งแต่ระยะต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ เป็นต้นมา






          นอกจากนี้ยังมีโบราณสถานที่สำคัญคือ“โบราณสถานโนนแก”เป็นโบราณสถานสำคัญของบ้านคูเมือง สร้างขึ้นในช่วงสมัยที่ ๓ คือช่วงสมัยอิทธิพลวัฒนธรรมเขมร โดยใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง ในปัจจุบันพบร่องรอยการก่อสร้างอาคารจำนวน ๔ หลัง ซึ่งจากการขุดค้นทางโบราณคดีพบว่าการปรับถมอัดพื้นที่เพื่อทำฐานรากก่อนการก่อสร้างโดยในสมัยแรกน่าจะเป็นศาสนสถานที่มีปราสาทประธานและอาคารประกอบด้านข้างทิศเหนือและสร้างกำแพงล้อมรอบ ส่วนในสมัยที่ ๒ พบการเข้ามาใช้พื้นที่ก่อสร้าง อุโบสถในพุทธศาสนาคืออาคารอีก ๒ หลังที่สร้างด้วยการนำหิน มาเรียงกันขึ้นใหม่บนซากอาคารเดิมในสมัยแรกสร้าง ปัจจุบันยังคงมีการใช้พื้นที่ในโบราณสถานโนนแก โดยการปรับปรุงดูแลรักษาโบราณสถานโนนแก ซึ่งถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน ทำให้โบราณสถานแห่งนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเป็นอย่างมาก
          กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๒ ตอนพิเศษ ๑๒๖ พื้นที่โบราณสถานประมาณ ๓ ไร่ ๑ ตารางวาวันที่ ๕ กันยายน๒๕๔๘

ข้อมูล : นางสาวเมริกา สงวนวงษ์ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี
ที่มา : รายงานการขุดค้นขุดแต่งเพื่อการบูรณะโบราณสถานโนนแก.สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 8 อุบลราชธานี กรมศิลปากร, 2540.

(จำนวนผู้เข้าชม 3367 ครั้ง)