...

สงกรานต์ แผ่นดินพระจอมเกล้าฯ ตอนที่ ๓
          นับตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๐๕ เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ออกประกาศวันมหาสงกรานต์ที่มีรายละเอียดมากขึ้น จากเดิมที่มีเนื้อความว่าด้วยวันมหาสงกรานต์ และวันสำคัญประจำปีนั้น ๆ ปรากฏว่าได้โปรดให้ประกาศเพิ่มเติมเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่จะเกิดขึ้น โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงคำนวณด้วยพระองค์เอง และในประกาศมหาสงกรานต์ นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๐๕ เป็นต้นมา โปรดให้แจ้งกำหนดวันสำหรับพระราชพิธีต่าง ๆ ด้วย ดังความว่า

“...ใน ปีจอจัตวาศกนี้ วันพุธ เดือน ๕ ขึ้น ๓ ค่ำ วันหนึ่ง วันอาทิตย์ เดือน ๑๐แรม ๑๓ ค่ำวันหนึ่ง เปนวันประชุมถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา วันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๓ ค่ำ เปนวันจะทำพระราชพิธีจรดพระนังคัล ให้ราษฎรลงมือทำนาภายหลังวันนั้น ตั้งแต่วันศุกร เดือน ๖ ขึ้น ๔ ค่ำไป ห้ามมิให้ลงมือทำนาก่อน ฤๅในวันนั้นตลอดพระราชอาณาเขตร์ พระราชพิธีจองเปรียงในปีจอจัตวาศกนี้ ยกโคมวันพุธ เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ลดโคมวันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๓ ค่ำ ณวันอาทิตย์ เดือนอ้าย แรมค่ำ ๑ เปนวันชีพ่อพราหมณ์จะได้ทำพระราชพิธีกฤติเกยาณพระเทวสถาน พระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน ๒ ครั้ง แลพระราชพิธีสารท แลพระราชพิธีตรียัมพวายตรีปวาย แลพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ คงทำในวันคืนแลเดือนขึ้นแรมนั้นๆ ตามเคยเหมือนอย่างทุกปี...” และมีในประกาศสงกรานต์ปีขาล อัฐศก พุทธศักราช ๒๔๐๙ ความตอนหนึ่งว่า

“...ในกลางเดือน ๖ นั้นมีแต่ราชการฉัตรมงคล คือในพระบรมมหาราชวังนี้ จะมีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตร ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท วันเสาร์เดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ วันอาทิตย์เดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม วันจันทร์เดือน ๖ แรมค่ำหนึ่ง เปนการมงคลสำหรับพระราชวังตามปี...”

          พระราชพิธีที่ปรากฏในประกาศดังกล่าว บางพระราชพิธีมีมาแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ บางพระราชพิธีเพิ่งเกิดมีขึ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นคราวแรก อย่างเช่น พระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน หรือพระราชพิธีฉัตรมงคล ซึ่งมีที่มาอยู่ในหนังสือ พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในพระปิยมหาราช ความว่า

“....ธรรมเนียมแต่ก่อนมีมาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อเปลี่ยนปีใหม่ถึงเดือนหกพนักงานข้างหน้าข้างในบรรดาซึ่งรักษาเครื่องราชูปโภคและรักษาตำแหน่งหน้าที่มีพระทวารและประตูวังเป็นต้น ต้องทำการสมโภชเครื่องราชูปโภคและตำแหน่งซึ่งตนรักษาคราวหนึ่ง ข้างฝ่ายหน้าแต่ก่อนมาถึงมีสวดมนต์เลี้ยงพระด้วยก็มี แต่ข้างฝ่ายในนั้นมีแต่เครื่องสังเวยเครื่องประโคม แล้วร้อยดอกไม้เป็นตาข่ายอุบะมาลัยแขวนตามกำลังมากและน้อย เป็นส่วนของเจ้าพนักงานทำเอง หาได้เกี่ยวข้องเป็นการหลวงไม่ ครั้นมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกในวันพฤหัสบดีเดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีกุนตรีศก จุลศักราช ๑๒๑๓ จึงทรงพระราชดำริว่าวันบรมราชาภิเษกนั้นเป็นมหามงคลสมัย ซึ่งประเทศทั้งปวงที่มีพระเจ้าแผ่นดินปกครองย่อมนับถือวันนั้นว่าเป็นวันนักขัตฤกษ์มงคลกาล แต่ในกรุงสยามนี้เฉยๆ อยู่มิได้มีการนักขัตฤกษ์อันใด ครั้งนี้การบรมราชาภิเษกของพระองค์เฉพาะตรงกับสมัยที่เจ้าพนักงานเคยสมโภชเครื่องสิริราชูปโภคแต่เดิมมา ควรที่จะมีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตรให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติ จึงได้ทรงพระราชดำริจัดการพระราชกุศล ซึ่งพระราชทานชื่อว่าฉัตรมงคล...”

          ในปี พุทธศักราช ๒๔๐๗ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖๐ พรรษา โปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล และเฉลิมฉลอง ซึ่งได้เป็นแบบอย่างในในเวลาต่อมา
          ประกาศวันสงกรานต์ นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๐๕ มาจนสิ้นรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงมีพระรมราโชวาทพระราชทานแก่ราษฎรว่าด้วยเรื่องของชีวิตและการปฏิบัติตน เช่นในประกาศมหาสงกรานต์ ปีขาลอัฐศก มีว่า
         
“...เมื่อวันคืนเดือนปีล่วงไปๆ ดังนี้ อายุของมนุษย์ทั้งปวงในโลกครั้งนี้ประมาณ ๘๐ ปีแลต่ำลงมากว่านั้นก็หมดไปสิ้นไป ใกล้ต่อเวลาที่จะถึงแก่ความตายเข้าไปทุกวันๆ สั้นเข้าไปทุกเวลา ความตายไม่เลือกหน้าว่าผู้ใด เปนคนจนคนมีผู้ดีแลไพร่ชาวบ้านชาววัด ไม่ล่วงพ้นจากความตายได้เลย ก็แลสัตว์ทั้งปวงมนุษย์ทั้งปวงย่อมรักชีวิตหมดด้วยกัน กลัวตายไม่อยากตายเปนธรรมดา ถึงกระนั้นก็ไม่ล่วงความตายไปได้ตามปราถนา ชีวิตของมนุษย์ทั้งปวงของสัตว์ทั้งปวงน้อยนักน้อยหนามีแต่หมดไปสิ้นไป เหมือนหนึ่งน้ำในแม่น้ำน้อยในคราวระดูแล้ง มีแต่แห้งไปหมดไปถ่ายเดียว ก็อายุของมนุษย์ทั้งหลายสัตวทั้งหลายน้อยนัก ควรที่ผู้เปนคนดีมีปัญญาจะพึงเบื่อหน่ายเกลียดชัง แล้วรีบเร่งประพฤติการดีการชอบ ที่เปนที่ตั้งสุขประโยชน์แก่กันให้มากโดยเปนการเร็วการด่วน เหมือนคนที่ศีร์ษะเพลิงไหม้ รีบร้อนหาน้ำเครื่องเย็นดับเพลิงในศีร์ษะนั้น การประพฤติชอบดี เปนคุณเปนประโยชน์แก่กันแลกัน ซึ่งสำเร็จเปนที่พึ่งพำนักของสัตว์ทั้งปวง ที่นักปราชญ์เปนอันมากเห็นว่าชอบดีพร้อมกันนั้น คือความเมตตากรุณาแลสงเคราะห์อนุเคราะห์เผื่อแผ่ความสุขให้แก่กัน ทั้งในหมู่มนุษย์แลหมู่สัตว์ แลตั้งตนไว้ให้เต็มพร้อมด้วยความดีความชอบ๑๐ อย่าง คือไม่ฆ่าสัตว์เปนให้ตาย ไม่ลักฉ้อทรัพย์ของผู้อื่น ไม่ประพฤติผิดในที่ๆ ไม่ควรล่วง เปนผู้ถือสัตย์ไม่กล่าวเท็จฬ่อลวงให้ผู้อื่นหลงไม่พูดยุยงส่อเสียดให้ผู้อื่นแตกร้าวกัน ไม่พูดคำหยาบให้เจ็บร้อนใจผู้อื่น ไม่พูดเพ้อเจ้อเปล่าจากประโยชน์ ไม่มุ่งหมายอยากได้ทรัพย์ของผู้อื่นด้วยความมักได้ ไม่มีผูกใจเจ็บจนถึงแช่งให้ผู้นั้นตาย ย่อมตริตรองด้วยปัญญาที่ชอบ ไม่ถือมั่นตามความเห็นผิดทางดีทางชั่ว การประพฤติชอบดี ๑๐ อย่างดังว่ามานี้ เปนความดีความชอบมีสำหรับโลกตั้งอยู่เสมอ จะมีผู้ถือก็ดีไม่มีใครถือก็ดี ก็คงมีอยู่อย่างนั้นไม่แปรผันยักเยื้องเปนอย่างอื่นไปเลยเปนอันขาด

          นอกจากนี้ ยังทรงขยายความถึงการประพฤติตนตามหลักพุทธศาสนาเพิ่มเติมไปอีก ในขณะเดียวกัน ก็ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตแก่ประชาราษฎรในการนับถือศาสนา ดังประกาศมหาสงกรานต์ ปีมะโรงสัมฤทธิศก พุทธศักราช ๒๔๑๑

          “... อนึ่งการแสวงหาแลถือสาสนา ซึ่งจะเปนที่พึ่งของตนในชาตินี้ ก็เปนการดีสมควรเปนที่ยิ่งแล้ว ควรที่ท่านทั้งปวงทุกๆ คนจะตริตรองใคร่ครวญด้วยปัญญาตนเอง เมื่อเห็นคุณประจักษ์ว่า สาสนาใดในหมู่ใดพวกใด จะเปนที่พึ่งได้ควรแก่ปัญญาแล้ว ก็จงถือแลปฏิบัติตามสาสนานั้นโดยน้ำใจตนเอง อย่าถือด้วยการตื่นการเกณฑ์ แลการเล่าลือแลว่าธรรมเนียมเคยถือสืบๆ มา ฤๅอาการที่ไม่เห็นมาว่ามาขู่ให้กลัวให้ดีใจ ก็อย่ามีความพิศวงต่อเหตุต่างๆ แล้วถือตามทำตาม เมื่อได้ที่พึ่งนับถืออันงามดีควรแล้ว จงประกอบความเลื่อมใสให้มากจึงปฏิบัติตาม ก็จะมีความเจริญดีแก่ตนทุกๆ คนนั้นแล...”
          เทศกาลสงกรานต์ นับเป็นช่วงเวลาสำคัญของคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอดีต ถือกันว่าเป็นช่วงเวลาของการเข้าสู่ศักราชใหม่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงรอบรู้ในสรรพวิทยา ทรงศึกษาในศาสตร์ต่างๆ อย่างรอบด้าน ได้ทรงให้ความสำคัญกับช่วงเวลาดังกล่าว จึงโปรดให้ออกประกาศสงกรานต์ในเวลาจะเข้าสู่ศักราชใหม่ เพื่อจะทรงแสดงวันเวลาที่ถูกต้อง ด้วยมีพระราชประสงค์จะไม่ให้ราษฎรทั้งหลายเกิดความเข้าใจผิด ทรงให้ความรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่สำคัญที่จะเกิดป้องกันการตื่นตระหนก และที่สำคัญ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงมีพระบรมราโชวาท โดยทรงอ้างอิงคติทางพุทธศาสนาเพื่อเป็นแนวทางสำหรับการดำเนินชีวิต ทั้งยังทรงมีพระราชกระแสตักเตือน ด้วยทรงหวังให้เทศกาลสงกรานต์เป็นเทศกาลแห่งการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และเป็นการเริ่มต้นสิ่งดี ๆ ในชีวิตของประชาราษฎรทั้งหลาย


ภาพ : ถนนสนามไชย ถนนเส้นแรกๆ ในพระนคร มีมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซ้ายมือคือพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ตรงข้าม คือสนามไชย พื้นที่สำหรับประกอบพระราชพิธีบางอย่าง

ที่มา : พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว,พระบาทสมเด็จ. พระราชพิธีสิบสองเดือน.กรุงเทพฯ : แสงดาว, ๒๕๕๖. พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว,พระบาทสมเด็จ. รวมพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๔๘.

ผู้เรียบเรียง : นายวสันต์ ญาติพัฒ ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี

(จำนวนผู้เข้าชม 2339 ครั้ง)