...

แผ่นศิลายันต์ ป้อมเทเวศร์บริรักษ์ กำแพงเมืองสงขลา

แผ่นศิลายันต์
วัสดุ หินแกรนิต
สมัยรัตนโกสินทร์ อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 24
ที่มา พบบริเวณป้อมเทเวศร์บริรักษ์ มุมกำแพงเมืองสงขลาด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ในราวปี พ.ศ. 2496 ปัจจุบันเก็บรักษา ณ วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา

          แผ่นหินแกรนิต รูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัต ขนาด 44 x 44 เซนติเมตร หนา 8 เซนติเมตร ปรากฏการจารึกบนแผ่นหินเป็นรูปตาราง ตัวเลข และอักขระ โดยนายจรัญ ทองวิไล นักภาษาโบราณ หอสมุดแห่งชาติกาญจนาภิเษก สงขลา ได้ทำการศึกษา และสรุปโดยสังเขปว่า แผ่นจารึกนี้จารึกยันต์ที่เรียกว่า “ยันต์สี่” โดยด้านข้างยันต์ทั้งสี่ด้านมีอักขระกำกับไว้ ได้แก่ ด้านที่ 1 สักกัสสะ วชิราวุธัง แปลว่า พระอินทร์มีสายฟ้าเป็นอาวุธ ด้านที่ 2 เวสสุวัณณัสสะ คฑาวุธัง แปลว่า ท้าวเวสสุวรรณมีคฑาเป็นอาวุธ ด้านที่ 3 ยะมัสสะ นะยะนาวุธัง แปลว่า พระยมมีนัยน์ตาเป็นอาวุธ ด้านที่ 4 อาฬะวะกัสสะ ทุสสาวุธัง แปลว่า อาฬวกยักษ์มีผ้าเป็นอาวุธ


          รูปแบบการจัดวางอักขระดังกล่าว มีความสัมพันธ์กับยันต์ “โสฬสมหามงคล” ที่มีการนำเอานามเทวดาและนามศาสตราวุธ 4 ชนิด ลงไว้ตามด้านต่าง ๆ ยันต์นี้มีไว้สำหรับขับไล่ภูติผีปีศาจ ทำลายไสเวทย์คาถาอาคม วัตถุอาถรรพ์ทุกชนิด กันฟ้า กันไฟ กันโจร และอุปัทวันตรายทั้งปวง ส่วนตัวเลขในช่องตารางทั้ง 37 ช่อง นั้นเป็นปริศนาธรรม หมายถึงโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ อันจะนำเวไนยสัตว์ (สัตว์ผู้ควรแก่การแนะนำสั่งสอน) ผู้ประพฤติตามให้ถึงซึ่งพระนิพพาน



          แผ่นศิลายันต์ ถูกค้นพบบริเวณหัวมุมกำแพงเมืองสงขลาด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ อันเป็นตำแหน่งของป้อม “เทเวศร์บริรักษ์” ในคราวที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ได้เข้ามาใช้พื้นที่ในการตั้งชุมสายโทรศัพท์จังหวัดสงขลา เมื่อราวปี พ.ศ. 2496 โดยได้มีการรื้อป้อมเทเวศร์บริรักษ์ทั้งหมด และกำแพงเมืองด้านทิศเหนือที่ติดกับป้อมไปบางส่วน สันนิษฐานว่า แผ่นศิลายันต์ดังกล่าวถูกสร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2379 เมื่อครั้งที่พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ก่อสร้างป้อมและกำแพงเมืองสงขลา ตามพระราชโองการของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) และแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2385


          ทั้งนี้ กำแพงเมืองสงขลาได้มีการซ่อมแซมตลอดมา และได้เริ่มมีการรื้อถอนโดยพระยาสุขุมนัยวินิต ข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครศรีธรรมราช ในปี พ.ศ. 2442 เพื่อขยายเมือง และ ตัดถนน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกำแพงเมืองสงขลาหลงเหลือเพียงด้านทิศเหนือบริเวณถนนจะนะ และด้านทิศตะวันตกบริเวณถนนนครนอก โดยกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2478 และ 21 กันยายน 2519



ความอนุเคราะห์ข้อมูล: นายสารัท ชลอสันติสกุล นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม

อ้างอิง:
1. ณัฐธัญ มณีรัตน์. เลขยันต์ : แผนผังอันศักดิ์สิทธิ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ดรีม แคชเชอร์ กราฟฟิค, 2553.
2. สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา. สารัท ชลอสันติสกุล. รายงานการขุดทางโบราณคดีกำแพงเมืองสงขลาบริเวณถนนนครนอก. ม. ป. ท : ม. ป. ท., 2563 (พิมพ์ในโครงการขุดแต่งเพื่อออกแบบบูรณะกำแพงเมืองสงขลา พุทธศักราช 2560)

เรียบเรียง/ ถ่ายภาพ/ กราฟฟิก : นางสาวธีรนาฎ มีนุ่น ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา

(จำนวนผู้เข้าชม 1132 ครั้ง)


Messenger