...

วันนี้ในอดีต การเสด็จพระราชดำเนินพระนครคีรี ในสมัยรัชกาลที่ 5

        วันนี้ในอดีต : การเสด็จพระราชดำเนินพระนครคีรี ในสมัยรัชกาลที่ 5 

        ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 นอกจากที่พระองค์ทรงโปรดให้บูรณะ “พระนครคีรี” เพื่อทรงใช้เป็นที่ประทับแปรพระราชฐาน ใช้รับรองพระราชอาคันตุกะ หรือการที่พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ว่าราชการเมืองเพชรบุรีสมัยนั้น พระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทียน บุนนาค) ดำเนินการจัดซื้อที่ดินที่บ้านปืน ตำบลบ้านหม้อ ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นเนื้อที่ประมาณ 400 ไร่ เพื่อสร้าง “พระราชวังบ้านปืน” ไว้เป็นที่ประทับ

        จากการที่พระองค์ทรงเสด็จเมืองเพชรบุรีอยู่บ่อยครั้ง ทั้งที่เสด็จไปตรวจราชการอย่างเป็นทางการและเสด็จประพาสเป็นการส่วนพระองค์ รวมไปถึงการที่พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะ “พระนครคีรี” และทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “พระราชวังบ้านปืน” ซึ่งปัจจุบันพระราชวังทั้ง 2 แห่งนี้ นับเป็นโบราณสถานที่มีคุณค่าทางศิลปะและประวัติศาสตร์ เป็นมรดกแห่งความภาคภูมิใจของประชาชนชาวจังหวัดเพชรบุรี และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญยิ่งของจังหวัดเพชรบุรี เป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าพระองค์ทรงโปรดเมืองเพชรบุรีเป็นอย่างมาก อีกทั้งพระองค์ยังได้มีพระราชดำริเกี่ยวกับเมืองเพชรบุรีไว้ว่า

        “. . . เมืองเพชรบุรี เป็นภูมิสถานอันงดงาม และสมบูรณ์เคยเป็นที่ประพาสของพระเจ้าแผ่นดินแต่กาลก่อนตลอดมา  . . .” (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ, 2453)

        ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2418 ปรากฏหลักฐานและเอกสารต่าง ๆ ที่ได้บันทึกเหตุการณ์ที่กล่าวถึงการเสด็จเมืองเพชรบุรีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่อเป็นการย้อนรำลึกถึงพระองค์ในช่วงที่เสด็จพระราชดำเนินพระนครคีรี ทางผู้จัดทำจึงได้เรียบเรียงเรื่องราวนี้ขึ้นมา โดยสรุปความว่าดังนี้

        วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน มาเมืองเพชรบุรีโดยเรือพระที่นั่ง พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารเป็นจำนวนมาก เสด็จถึงพลับพลา บ้านใหม่ ตำบลบางครก เสด็จขึ้นบนพลับพลา ตรัสกับเจ้าเมืองและกรมการทั้งหลาย แล้วเสด็จ พระราชดำเนิน ด้วยรถพระที่นั่งสองล้อ ถึงพระนครคีรี ทอดพระเนตรพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์ และพระที่นั่งราชธรรมสภา

        วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 เสด็จออก ณ พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ ผู้ว่าราชการเมืองกาญจนบุรี และเมืองเพชรบุรีเข้าเฝ้า แล้วเสด็จประพาสเขาบันไดอิฐ

        วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 เสด็จออก ณ พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ ข้าราชการเมืองเพชรบุรีเฝ้า ทูลละอองธุลีพระบาททูลเกล้าฯ ถวายสิ่งของ พระราชทานเสื้อผ้าสักหลาดอย่างดีแก่ข้าราชการที่มาเฝ้าคือ พระพลสงคราม หลวงรามฤทธิรงค์ หลวงยงโยธี หลวงภักดีสงคราม นายแย้มเด็กชา หลวงพิพัฒน์เพชรภูมิ ยกกระบัตร หลวงวิชิตภักดี หลวงมหาดไทย ขุนสัสดี ขุนแพ่ง ขุนแขวง ขุนศุภมาตรา ขุนเทพ ขุนรองปลัด ขุนเทพบุรี โปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินแก่พวกเด็กชาที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทคนละตำลึงบ้างครึ่งตำลึงบ้างคนที่ได้ตำลึงคือคนที่ทรงคุ้นเคยเห็นหน้ากันมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จ พระราชดำเนินมาเมืองเพชรบุรี แล้วเสด็จพระราชดำเนินลงมาจากพระนครคีรี ณ ตรงเชิงเขาตรัสกับ หมอแมคฟาร์แลนด์ แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปยังถ้ำเขาหลวง ทรงนมัสการพระพุทธรูป 4 องค์พระพุทธรูปประจำแผ่นดิน รัชกาลที่ 1, รัชกาลที่ 2, รัชกาลที่ 3, รัชกาลที่ 4 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดให้ช่างปั้นขึ้น เพื่อทรงอุทิศพระราชกุศลถวายพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 1, รัชกาลที่ 2, รัชกาลที่ 3, รัชกาลที่ 4 แล้วทรงเสด็จกลับ 

        วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดมหาสมณาราม เชิงพระนครคีรี พระราชทานเงินเป็นมูลกัปปิยภัณฑ์แก่พระมหาสมณวงศ์เจ้าอาวาส และพระสงฆ์ ทรงแจกเงินแก่สัปบุรุษ

 

 

เอกสารสำหรับการสืบค้น

      กรมศิลปากร. “พระนครคีรี”. เพชรบุรี : กรมศิลปากร.

      พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์  (๒๕๖๑). ถ้ำเขาหลวง มรดกล้ำค่าของเพชรบุรี. กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์.

      วรางคณา นิพัทธ์สุขกิจ.  (2561).  “การเสด็จประพาสเมืองเพชรบุรีสมัยรัชกาลที่ 4-รัชกาลที่ 6”.  ใน คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (ผู้รวบรวม), บทความทางวิชาการวารสาร “วารสารประวัติศาสตร์ 2561”  มหาวิทยาลัยศิลปากร.

       ฐิติมา สุวรรณชาติ และ ไพลิน ทรัพย์อุดมผล.  (2564).  “ความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับเมืองเพชรบุรี ในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 6 (พ.ศ.2394 – 2468)”.  ใน มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี (ผู้รวบรวม), บทความทางวิชาการวารสาร “วารสารมนุษยสังคมปริทัศน์ (มสป.)” มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี,  ปีที่ 23  ฉบับที่ 1 มกราคม – มิถุนายน 2564.

      สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี. เรื่อง ตำหนักศรเพชรปราสาท (พระรามราชนิเวศน์).

.

(จำนวนผู้เข้าชม 28 ครั้ง)