...

วันนี้ในอดีต 20 กรกฎาคม

         วันนี้ในอดีต 20 กรกฎาคม น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ 10 ผู้ทรงเปิด อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครคีรี เมื่อ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2532

        โดยเรื่องราวและความเป็นมาของ “พระนครคีรี” เป็นพระราชวังในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2502 ประกอบไปด้วย หมู่พระที่นั่ง ตําหนักและอาคารต่าง ๆ ซึ่งสร้างด้วยไม้ อิฐ และปูน เมื่อ พ.ศ. 2426 ภายหลังจากที่พระราชวังสร้างแล้วเสร็จ 24 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ก็โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะพระนครคีรีทั่วทั้งบริเวณ ด้วยทรงมีพระราชประสงค์จะใช้เป็นที่ประทับแปรพระราชฐานพักผ่อนพระอิริยาบถ และเพื่อใช้รับรองพระราชอาคันตุกะ นับเป็นการบูรณะซ่อมแซมครั้งแรกของพระราชวังแห่งนี้ ทว่าหลังจากปลาย พ.ศ. 2526 นั้นก็ไม่พบหลักฐานการบูรณะอีกเลยมีเพียงการตกแต่งและดัดแปลงพื้นที่บนพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ เพื่อรับรองพระราชอาคันตุกะ เมื่อต้น พ.ศ. 2553 เท่านั้น หลังจากนั้นพระนครคีรีก็ร้างไป ไม่มีเจ้านายเสด็จมา ประทับอีก จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2496 

        พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดําเนินเป็นการส่วนพระองค์ทอดพระเนตร เห็นความรกร้าง ขาดการดูแล หมู่พระที่นั่งและอาคารต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่ชํารุดทรุดโทรมทั่วกันตามกาลเวลา เช่น สีหมองมัว มีคราบรา และตะไคร่น้ำขึ้นทั่วไป อาคารบางหลังเหลือเพียงเสาหรือผนัง หลังคารั่ว ปูนเปื่อยยุ่ย ผุกร่อนและอาคารบางหลังพังทลายลงในที่สุด พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  จึงมีพระราชดําริให้บูรณปฏิสังขรณ์พระนครคีรีขึ้นให้คงสภาพ

        กรมศิลปากรได้ดําเนินการสํารวจ และประกาศขึ้นทะเบียนพระนครคีรีเป็นโบราณสถานสําคัญของชาติ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478 (ประกาศกรมศิลปากร ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3693 วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2478) กําหนดเขตโบราณสถานไว้ทั้งภูเขา รวม 3 ยอดเขา และกั้นเขตบริเวณโดยรอบพระนครคีรีออกไปจากตีนเขาอีก 20 เมตร และในคราวนั้นเมื่อกรมศิลปากรได้รับงบประมาณจึงดําเนินการบูรณะพระที่นั่งและอาคารบางส่วน นับเป็นการบูรณะครั้งใหญ่ของพระนครคีรี เป็นครั้งที่ 2 

        ต่อมากรมศิลปากรได้ประกาศจัดตั้ง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี เมื่อวันที่ สิงหาคม พ.ศ. 2522 เป็นพิพิธภัณฑ์ประเภทแหล่งอนุสรณ์สถาน และได้ดําเนินการบูรณะเมื่อ พ.ศ. 2524 - 2530 นับเป็นการบูรณะครั้งที่ 3 โดยได้จัดทําโครงการเสนอแผนทํานุบํารุงส่งเสริมศิลป วัฒนธรรมเข้าในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 ชื่อโครงการอุทยานประวัติศาสตร์ พระนครคีรี ซึ่งในครั้งนั้นกรมศิลปากรร่วมกับจังหวัดเพชรบุรี ข้าราชการ คณะสงฆ์ และประชาชน

        ได้มีส่วนร่วมในการตําปูนสําหรับบูรณะพระธาตุจอมเพชรกว่า 2,493 คน เพื่อแสดงความจงรักภักดีและเฉลิมพระเกียรติแก่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัฐบาลในขณะนั้นได้กําหนดให้เป็นหนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร) 

        เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530 และพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 เมื่อกรมศิลปากรดําเนินการบูรณปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10 ) หรือในขณะนั้น คือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อครั้งดํารงพระอิสริยยศที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดําเนินแทนพระองค์ ทรงเปิดอุทยานประวัติศาสตร์ พระนครคีรี พร้อมทั้งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในองค์พระธาตุจอมเพชร เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2532

        ตลอดระยะเวลากว่า 43 ปีที่พระนครคีรี ร้างไปนั้น โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่อยู่ในอาคารและห้องต่าง แต่เดิมได้นําไปเก็บรักษาไว้ที่อื่น ยกเว้นเครื่องราชูปโภคบางองค์ที่อยู่ในสภาพชํารุด ภายหลังเมื่อกรมศิลปากร ได้ดําเนินการบูรณะอาคารจึงนําเครื่องราชูปโภคทั้งหมดที่ได้รับมอบกลับคืนมาจากสํานักพระราชวังและ กระทรวงมหาดไทย มาขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุ อนุรักษ์ และนําออกจัดแสดงภายในพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ และพระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์ โดยจัดแสดงให้อยู่ในสภาพใกล้เคียงกับแบบเดิมให้มากที่สุด

        โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่จัดแสดงและเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี จําแนกได้ เป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

        1. เครื่องราชูปโภคของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) และพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เช่น พระแท่นบรรทม โต๊ะทรงพระอักษร โต๊ะและเก้าอี้รับแขก โต๊ะเสวย และโต๊ะเครื่องพระสําอาง เป็นต้น เครื่องราชูปโภคดังกล่าวนี้ได้แบบมาจากยุโรป แต่ใช้ช่างจีนในเมืองไทยทํา จึงมีลักษณะผสมระหว่างศิลปะยุโรป จีน และไทย นอกจากนี้ยังมีสิ่งของเครื่องใช้ เช่น เชิงเทียน แจกัน ขวด หมึกพร้อมที่วางปากกา ฯลฯ ซึ่งเป็นของที่ซื้อหรือส่งมาจากต่างประเทศ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)

        2. รูปหล่อโลหะสําริดและทองเหลือง ใช้สําหรับตกแต่งห้องต่าง ๆ ในพระที่นั่ง สันนิษฐานว่าพระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงซื้อมาจากต่างประเทศในคราวเสด็จประพาสยุโรป

        3. เครื่องกระเบื้อง ซึ่งมีทั้งเครื่องกระเบื้องของจีน เช่น กระถางต้นไม้และกรองกระถาง เครื่องกระเบื้อง ของญี่ปุ่นที่เป็นเครื่องราชูปโภค เช่น ชุดสรงพระพักตร์และขวดเครื่องพระสําอาง เครื่องใช้ เช่น แจกัน ชุดอาหาร เป็นต้น

 

 

ขอบคุณรูปภาพ : สำนักหอจดหมายเหตุเเห่งชาติ

(จำนวนผู้เข้าชม 144 ครั้ง)