...

ไหว้พระ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เมืองปราจีนบุรี
บทความออนไลน์จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี
“ไหว้พระ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เมืองปราจีนบุรี”
**สำหรับนักท่องเที่ยวสายบุญ เมื่อมาเที่ยวจังหวัดปราจีนบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี ขอแนะนำสถานที่ที่ทุกท่านสามารถไหว้พระ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดปราจีนบุรี ดังนี้
*** หลวงพ่ออภัยวงศ์ วัดแก้วพิจิตร ต.หน้าเมือง อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี
-- วัดแก้วพิจิตร ตั้งอยู่ริมฝั่งขวาแม่น้ำปราจีนบุรี เป็นวัดเก่าแก่ของจังหวัดปราจีนบุรี จากจารึกแผ่นหินภายในบริเวณวัดระบุว่า วัดแก้วพิจิตรสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๒ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยนางประมูล โภคา (แก้ว ประสังสิต) ภรรยาของขุนประมูลภักดี เป็นผู้สร้างวัด ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ได้อพยพครอบครัวจากเมืองพระตะบองมาอยู่ที่ปราจีนบุรี ด้วยเป็นผู้อุปถัมภ์วัดแห่งนี้ ท่านจึงได้เกณฑ์ช่าชาวเขมรให้มาบูรณะปฏิสังขรณ์อุโบสถ พร้อมสร้างพระประธานด้วย จากรูปแบบศิลปะและสถาปัตยกรรมของอุโบสถ จะเห็นลวดลายประดับอาคารที่ผสมผสามกันอย่างงดงามระหว่างศิลปะไทย จีน ยุโรปและเขมร
-- หลวงพ่ออภัยวงศ์หรือพระพุทธรูปปางประทานอภัย ประดิษฐานเป็นพระประธานภายในอุโบสถของวัดแก้วพิจิตร เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ขวายกขึ้นหันพระหัตถ์ออกด้านนอกวางตั้งอยู่บนพระเพลา พระหัตถ์ซ้ายวางหงายพระหัตถ์ขึ้น
*** หลวงพ่อเพชร วัดแจ้ง ต.หน้าเมือง อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี
-- พระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานภายในวิหารหลวงพ่อเพชร วัดแจ้งซึ่งสร้างใหม่คล้ายกับวิหารในภาคเหนือ
-- หลวงพ่อเพชร หรือ พระพุทธรูปปางมารวิชัย องค์นี้เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนา ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร พระเกตุมาลาเป็นต่อมกลม พระรัศมีเป็นดอกบัวตูม ครองจีวรห่มเฉียงเปิดพระอังสาขาว ชายสังฆาฏิสั้นเหนือพระถัน มีชายจีวรห้อยด้านหน้าบริเวณพระเพลา ประทับนั่งอยู่บน ฐาน ๓ ชั้น มีผ้าทิพย์ห้อยด้านหน้า
-- ตามประวัติระบุว่าพบในเจดีย์ร้างกลางทุ่ง โดยเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สมุห์นายกในสมัยรัชกาบที่ ๓
-- พระพุทธรูปหลวงพ่อเพชรองค์นี้ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๒๑ ตอนพิเศษที่ ๕๕ ง หน้า ๒๐ วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๔๗
*** หลวงพ่อเชียงแสน วัดมะกอกสีมาราม ต.รอบเมือง อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี
-- หลวงพ่อเชียงแสนหรือพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์นี้ เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนา มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๓ เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิเพชร พระเกตุมาลาเป็นต่อมกลม พระรัศมีเป็นดอกบัวตูมครองจีวรห่มเฉียงเปิดพระอังสาข้างขวา มีชายสังฆาฏิสั้นเหนือพระถัน มีชายจีวรห้อยด้านหน้าบริเวณพระเพลา ประทับนั่งอยู่บนฐาน มีผ้าทิพย์ห้อยด้านหน้า
-- ตามประวัติระบุว่าเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๐ (สมัยรัชกาลที่ ๕) เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เมื่อครั้งสมัยเป็นแม่ทัพปราบฮ่อได้อัญเชิญมาจากเมืองเชียงแสน มาประดิษฐานที่วัดราชบพิธ กรุงเทพฯ และเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ท่านเจ้าคุณญาณเวที ยติโก เจ้าอาวาสวัดมะกอกสีมาราม ได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดมะกอกสีมาราม
-- พระพุทธรูปหลวงพ่อเชียงแสนองค์นี้ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๒๑ ตอนพิเศษที่ ๕๕ ง หน้า ๒๐ วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๔๗
*** พระคเณศ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี ต.หน้าเมือง อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี
-- พระคเณศ แห่งเมืองศรีมโหสถ อายุกว่า ๑,๔๐๐ ปี พบที่โบราณสถานหมายเลข ๒๒ กลางเมืองศรีมโหสถ เป็นพระคเณศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบในประเทศไทย โดยเป็นพระคเณศที่ประทับอยู่เหนือฐานสี่เหลี่ยมมีร่องน้ำสรง เรียกว่า “ฐานโยนิหรือโยนิโทรณะ” มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่เหมือนช้างธรรมชาติและไม่ทรงเครื่องประดับ เทียบได้กับพระคเณศสมัยเมืองพระนครในศิลปะเขมร อายุราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๒
-- พระคเณศ เป็นเทพเจ้าซึ่งเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมนับถือมากในศาสนาฮินดูในฐานะเทพเจ้าแห่งอุปสรรค ที่ชาวฮินดูเมื่อจะประกอบพิธีทางศาสนาจะต้องบูชาพระคเณศก่อน พระคเณศจึงกลายเป็นแห่งความรู้และความเฉลียวฉลาด เทพอักษรศาสตร์และวรรณคดี และเทพแห่งศิลปวิทยาการ
-- ในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ ๓๑ สิงหาคม – ๙ กันยายน ๒๕๖๕ นี้ตรงกับช่วงเทศกาล “วันคเณศจตุรถี” เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองวันประสูติของพระคเณศซึ่งเชื่อกันว่าเป็นวันที่พระคเณศจะเสด็จลงมายังโลกมนุษย์ เพื่ออวยพรแก่ผู้ที่เลื่อมใสที่ทำพิธีบูชาพระองค์

(จำนวนผู้เข้าชม 4203 ครั้ง)