...

โบราณวัตถุสำคัญที่พบจากปราสาทเขาโล้น เก็บรักษาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี
พิพิธภัณฑ์สรรหาสาระ บทความออนไลน์จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี
“โบราณวัตถุสำคัญที่พบจากปราสาทเขาโล้น”

          จากเรื่องราวการต้อนรับทับหลังปราสาทเขาโล้นและทับหลังปราสาทหนองหงส์กลับคืนสู่ประเทศไทยนั้น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี ขอนำเสนอองค์ความรู้เกี่ยวกับปราสาทเขาโล้นและโบราณวัตถุสำคัญอื่น ๆ ที่พบจากปราสาทเขาโล้น
          ปราสาทเขาโล้น ตั้งอยู่บนภูเขาหินทรายลูกเล็ก ๆ ในเขตตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว การดำเนินงานทางโบราณคดี เมื่อ พ.ศ. 2560-2561 พบว่าปราสาทเขาโล้น เป็นปราสาทก่ออิฐ 3 หลังบนฐานไพที ปัจจุบันคงเหลือเฉพาะปราสาทประธาน ส่วนอีก 2 หลัง เหลือเฉพาะฐาน นอกจากนั้นยังมีบรรณาลัยอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว และมีโคปุระหรือซุ้มประตูทางด้านทิศตะวันออก ทิศตะวันตกและทิศใต้ รวมทั้งยังมีการนำหินทรายมาวางเรียงเป็นบันไดจากเชิงเขาขึ้นสู่ปราสาทด้วย
          ทับหลังปราสาทเขาโล้น ปรากฏในบทความเรื่อง “ศิลปสมัยลพบุรี” ของ ศ.มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2510 ซึ่งได้กล่าวถึงปราสาทเขาโล้นว่า “เป็นปราสาทหลังเดียวก่ออิฐ มีทับหลังสลักรูปเทวดานั่งชันเข่าบนเกียรติมุข” ต่อมาทับหลังปราสาทเขาโล้น ได้สูญหายไปเป็นระยะเวลาหลายปี จนกระทั่ง มีนักวิชาการอิสระ พบทับหลังปราสาทเขาโล้น จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย ชง-มูน ลี (Chong-Moon Lee) เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา คณะกรรมการติดตามทวงคืนโบราณวัตถุ ฯ ซึ่งประกอบไปด้วยกรมศิลปากร หน่วยงานราชการ หน่วยงานเอกชน ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการอิสระ จึงได้ดำเนินการติดตามทวงคืน ทับหลังปราสาทเขาโล้น พร้อมด้วยทับหลังปราสาทหนองหงส์ จนกระทั่งสามารถติดตามทวงคืนได้สำเร็จ และทำพิธีบวงสรวงต้อนรับกลับสู่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564          
          โบราณวัตถุสำคัญที่พบจากปราสาทเขาโล้น อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว
          - อสูร (ยักษ์) ทวารบาล ศิลปะเขมรในประเทศไทย (แบบบันทายสรี) อายุประมาณ พ.ศ. 1510-1550 เป็นประติมากรรมทวารบาล คงเหลือเฉพาะส่วนร่างกายช่วงบน บางส่วนของใบหน้าแตกกะเทาะหายไป แต่ยังปรากฏรูปปากที่มีเขี้ยวอยู่มุมปาก เกล้ามวยผมเป็นรูปทรงกระบอก ด้านหลังปล่อยปลายผมยาวประบ่าผมหยิกเป็นก้นหอย ใส่ตุ้มหูแผ่นกลมใหญ่
          - ยอดปราสาท พบบริเวณมุมปราสาทประธาน ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีลักษณะเป็นทรงกลม คล้ายหม้อน้ำหรือกลศ มีการเจาะรูตรงกลาง แกะสลักลายแถวกลีบบัว และแถวกระจังใบเทศโดยรอบ
          - แถวกลีบบัวเหนือทับหลัง พบบริเวณด้านหน้าของปราสาทประธาน ระหว่างการดำเนินงานทางโบราณคดี เป็นแถวกลีบบัว ทำจากหินทราย ซึ่งเป็นกลีบบัวซ้อนกันเรียงต่อเป็นแนว และเป็นแถวกลีบบัวที่เคยประดับเหนือทับหลังบริเวณด้านทิศตะวันออกของปราสาทประธาน ซึ่งมีลักษณะตรงกับแถวกลีบบัวที่ปรากฏในบทความ เรื่อง “ศิลปสมัยลพบุรี” ของ ศ.มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2510
          - แท่นบรรจุวัตถุมงคล พบอยู่บริเวณโคปุระด้านทิศตะวันออก มีลักษณะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตรงกลางเซาะเป็นร่องในแนวแกนตั้งและแนวแกนนอน ทำให้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน จุดตัดตรงกลางเจาะเป็นช่องทะลุ ในแต่ละช่องเจาะเป็นรูขนาดเล็กเพื่อบรรจุวัตถุมงคล สันนิษฐานว่าเป็นแผ่นหินฤกษ์ ซึ่งสัมพันธ์กับคติความเชื่อในพิธีกรรมการวางฤกษ์ของปราสาทในวัฒนธรรมเขมร
          - ปลายกรอบหน้าบัน พบบริเวณด้านหน้าของบรรณาลัย ทำเป็นรูปสามเหลี่ยมสลักลวดลายเป็นรูปมกรอ้าปากชูงวง และประดับด้วยลายกระหนก ปลายกรอบหน้าบันที่พบจากปราสาทเขาโล้น มีลักษณะคล้ายกับปลายกรอบหน้าบันของอาคารที่ปราสาทบันทายสรี ประเทศกัมพูชา
          - กลีบบัวประดับเชิงชาย เป็นกลีบบัวหลายกลีบเรียงต่อกัน แกะสลักลวดลายเป็นกลีบบัวซ้อนกัน 2 ชั้น กรอบนอกสลักลายแข้งสิงห์เรียงต่อกัน ใช้ประดับบริเวณเชิงชายของหลังคาบรรณาลัย
          - ปราสาทจำลอง เป็นชิ้นส่วนประกอบสถาปัตยกรรม ใช้สำหรับวางประดับบริเวณมุมของอาคารจำลองแต่ละชั้น ในส่วนยอดของปราสาท ปราสาทจำลองที่พบจากปราสาทเขาโล้น สามารถจัดจำแนกตามความสูงที่แตกต่างกันได้เป็น 4 กลุ่ม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการทำชั้นซ้อนลดหลั่นกัน 4 ชั้น ของรูปแบบอาคารจำลองส่วนยอดปราสาท โดยปราสาทจำลองที่ประดับชั้นล่างสุดจะมีขนาดใหญ่ที่สุดและมีการแกะสลักลวดลายแบบพิเศษ เช่น ลายกระจังปฏิญาณ รูปบุคคล ปราสาทจำลองชั้นที่ 2 และ ชั้นที่ 3 จะสลักลวดลายทั่วไป ได้แก่ ลายสามเหลี่ยมเรียงแถวกัน ส่วนปราสาทจำลองที่ประดับชั้นบนสุด จะมีขนาดเล็กที่สุด ไม่มีการสลักลวดลาย
          - บันแถลง เป็นชิ้นส่วนประกอบสถาปัตยกรรม ใช้วางประดับในแต่ละด้านของยอดปราสาท มีลักษณะคล้ายกับปราสาทจำลอง แต่มีลักษณะเป็นแผ่นแบนและมีเดือยสำหรับเสียบลงไปตรงส่วนยอดของปราสาท ทำเป็นรูปบุคคลยืนตรง มือทั้งสองข้างแนบลำตัว หน้าเป็นรูปสี่เหลี่ยม ไว้ผมแบบมีกระบังหน้า กุณฑลเป็นพู่รูปสามเหลี่ยม สวมผ้านุ่งเป็นริ้วยาวจรดข้อเท้า ชายผ้านุ่งพับออกบริเวณเอว โดยรอบนางอัปสรประดับใบระกาเรียบ
          นอกจากนี้ยังสามารถศึกษาข้อมูลองค์ความรู้ของปราสาทเขาโล้นเพิ่มเติม โดยสำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรีได้ที่
          ปราสาทเขาโล้น 1/4 : การดำเนินงานโบราณคดี
          ปราสาทเขาโล้น 2/4 : โบราณวัตถุชิ้นเด่นและการกำหนดอายุ
          ปราสาทเขาโล้น 3/4 : การอนุรักษ์โบราณสถานด้วยวิธีการก่ออิฐดั้งเดิมของสถาปัตยกรรมเขมร
          ปราสาทเขาโล้น 4/4 : ทับหลังและซุ้มประตูด้านตะวันออกของปราสาทประธาน

เอกสารอ้างอิง
- สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี. “รายงานการดำเนินงานโบราณคดี โบราณสถานปราสาทเขาโล้น ตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว”, 2560.
- สิขรินทร์ ศรีสุวิทธานนท์. “ปราสาทเขาโล้น อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว” ใน ศิลปากร, ปีที่ 63, ฉบับที่ 3 (พฤษภาคม-มิถุนายน 2563): 64-85.
- สุภัทรดิศ ดิศกุล, ม.จ.. “ศิลปสมัยลพบุรี” กรุงเทพฯ, 2510.
 
ผู้เรียบเรียง นายเพิ่มพันธ์ นนตะศรี ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี







(จำนวนผู้เข้าชม 2456 ครั้ง)