พระคเณศ: พระผู้มีงาเพียงข้างเดียว
พระคเณศเป็นเทพเจ้าสำคัญของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูที่มีผู้เคารพศรัทธาและนับถืออย่างแพร่หลายในหมู่คนหลายชาติหลายภาษา และทุกชนชั้น พระองค์เป็นเทพเจ้าผู้ขจัดอุปสรรค ประทานความสำเร็จ ความเจริญรุ่งเรือง ทรงปกป้องคุ้มครองจากเคราะห์ร้าย และเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า พระคเณศเป็นเทพเจ้าแห่งความฉลาด สติปัญญา ความรู้ การเรียน ความมั่งคั่ง สัมฤทธิผล ความสำเร็จ และการบรรลุซึ่งความปรารถนาทั้งปวง
“คเณศ” มาจากคำว่า “คณะ” รวมกับ “อีศะ” หมายถึง เจ้าแห่งคณะ ทั้งนี้ในทางปรัชญา อักษร “ค” แปลว่า ชญาณ ส่วนอักษร “ณ” แปลว่า ทางหลุดพ้น ขณะที่ “อีศะ” แปลว่า เจ้า เมื่อรวมกันแล้วจึงหมายถึง ผู้เป็นเจ้าทั้งชญาณและทางหลุดพ้น
พระคเณศ เป็นเทพเจ้าที่ปรากฏพระนามถึง ๑๐๘ พระนาม โดยบางพระนามเหล่านี้บ่งบอกให้ทราบถึงการกำเนิด การปรากฏขึ้นของพระองค์ รูปลักษณ์ และบุคลิกภาพของพระองค์ เช่น “เอกทันตะ” หรือ “เอกศฤงคะ” แปลว่า เจ้าผู้มีงาข้างเดียว
ตำนานเกี่ยวกับพระผู้มีงาเพียงข้างเดียว มีอยู่ด้วยกันหลายตำนาน เช่น
๑. ถูกปรศุราม (อวตารของพระวิษณุเทพในปางที่ ๖) ใช้ขวานจาม เนื่องจากปรศุรามจะเข้าเฝ้าพระอิศวรที่เขาไกรลาส แต่พระคเณศซึ่งเฝ้าอยู่ไม่ให้ใครเข้ามารบกวนขณะที่พระอิศวรกำลังบรรทม จึงเกิดการต่อสู้กันขึ้น ปรศุรามไม่สามารถเอาชนะพระคเณศได้ จึงใช้ขวานที่พระอิศวรประทานให้เป็นอาวุธจามลงบนเศียรพระคเณศ พระคเณศเห็นขวานนั้นก็จำได้ว่าเป็นของพระบิดาก็ไม่กล้าตอบโต้ด้วย จึงเบี่ยงเศียรเอางาข้างหนึ่งรับไว้ (บางทีก็ว่าเป็นข้างซ้ายและบางครั้งก็พบเห็นในภาพเป็นงาข้างขวา)งานั้นก็ถูกคมขวานขาดสะบั้นลง พระคเณศจึงเก็บเอางาข้างที่ขาดถือกำไว้ในมือ ต่อมางาข้างที่ขาดนั้นก็ถือว่าเป็นอาวุธวิเศษ ใช้ปราบพวกมารขององค์พระคเณศ
๒. เมื่อครั้งพระอิศวรและพระอุมา จะจัดให้มีพิธีโสกันต์ (โกนจุก) ให้กับพระคเณศในวันอังคาร จึงได้เชิญทวยเทพและพระวิษณุมาร่วมอำนวยพรและเป็นสักขีพยาน แต่เนื่องด้วยพระวิษณุทรงบรรทมหลับสนิทอยู่เมื่อถูกปลุกให้ตื่นจากการบรรทมจึงพลั้งพระโอษฐ์ออกไปว่า “ไอ้ลูกหัวหายจะนอนให้สบายก็ไม่ได้” ด้วยอำนาจวาจาสิทธิ์แห่งพระวิษณุที่ตรัสออกมานั้น จึงทำให้พระเศียรของพระโอรสขาดหายไป เหล่าบรรดาทวยเทพต่างก็ประหลาดใจจึงลงความเห็นว่าวันนี้เป็นวันฤกษ์ไม่ดีห้ามทำการมงคลในวันอังคาร และเรียกวันนี้ว่า “วันโลกาวินาศ”จากนั้นพระอิศวรจึงมีบัญชาให้พระวิษณุไปหาเศียรของมนุษย์ที่เสียชีวิตแล้วมาต่อให้พระคเณศ แต่ปรากฏว่าในวันนั้นซึ่งเป็นวันอังคารไม่มีมนุษย์คนใดถึงฆาต จะมีก็เพียงช้างพลายที่มีงาเพียงข้างเดียวนอนตายหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก จึงตัดเอาเศียรนั้นมาต่อให้กับพระคเณศ กำเนิดเป็นองค์พระคเณศผู้มีเศียรเป็นช้างและมีงาเพียงข้างเดียว
๓. ถูกพระอิศวรใช้ขวานจาม เมื่อครั้งพระอุมามีรับสั่งให้พระคเณศเฝ้าประตูทางเข้าห้องสรงน้ำ พระอิศวรต้องการเข้าพบพระอุมา แต่พระคเณศไม่ยอมให้เข้าพบ ตอนนั้นพระอิศวรยังไม่รู้ว่าพระคเณศเป็นลูกที่เกิดจากพระอุมาจึงเกิดการต่อสู้กัน พระอิศวรจึงใช้ขวานจามลงไปถูกงาของพระคเณศขาดสะบั้นลงเสียข้างหนึ่ง
๔. พระคเณศสามารถถอดงาออกได้เองตามธรรมชาติ เมื่อคราวต่อสู้กับอสูรอสุรภัค พระคเณศได้ถอดเอางาข้างหนึ่งของตัวเองใช้เป็นอาวุธขว้างไปที่อสูรอสุรภัค
จากการที่พระคเณศทรงมีเศียรเป็นช้างและมีงาเพียงข้างเดียว (แม้เป็นภาวะที่ไม่สมบูรณ์หรือพิการ) แสดงให้เห็นว่า พระองค์อุทิศอวัยวะของพระองค์เองเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีและเชิดชูการเรียนรู้ และงาที่หักไปนั้นชี้ให้เห็นว่า คนเราต้องปลดปล่อยตัวเองให้พ้นจากอหังการ (ความรู้สึกว่ามีตัวเอง) และ มมังการ (ความรู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง) เพื่อโฆกษะ คือการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. พระคเณศ เทพแห่งศิลปากร = Ganesha: Lord of Fine Arts.กรุงเทพฯ: สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๕๔.
เจริญ มาบุตร. การวาดภาพพระพิฆเณศวร. กรุงเทพฯ: วาดศิลป์, ๒๕๕๓.
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์. คเณชา. ปทุมธานี: เวิร์คพอยท์, ๒๕๕๔.
ศุภลักษณ์ หัตถพนม. การศึกษาวิเคราะห์การเคารพบูชาพระคเณศของชาวพุทธในสังคมไทย. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (พุทธศาสนศึกษา). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๕๘.
เรียบเรียงโดย: นางสาวอรวรรณ เจริญกูลบรรณารักษ์ชำนาญการ สำนักหอสมุดแห่งชาติ
Star vote. Star vote. Star vote. Star vote. Star vote.

(จำนวนผู้เข้าชม 604 ครั้ง)