...

ภาพ ‘ริมธารรัก’ ของ ประสงค์ ปัทมานุช

         ภาพ ‘ริมธารรัก’ ของ ประสงค์ ปัทมานุช

         100 ปี ศิลปสู่สยาม สุนทรียศิลปแห่งนวสมัย

         ประสงค์ ปัทมานุช (พ.ศ. 2461 – 2532) ศิลปินชั้นเยี่ยม สาขาทัศนศิลป์ (มัณฑนศิลป์) ประจำปี 2497 และศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี 2529 เป็นศิลปินที่สร้างสรรค์งานจิตรกรรมได้อย่างโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี กล่าวถึงท่านไว้ในบทความ ‘ศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย’ ว่า “ประสงค์ ปัทมานุช เป็นจิตรกร – มัณฑนากรโดยกำเนิด ด้วยแนวโน้มในการแสดงออกแบบใหม่อย่างน่าประหลาด” ประสงค์มีความสนใจในด้านศิลปะและการวาดภาพมาตั้งแต่เด็ก เมื่อเติบโตขึ้นได้เริ่มศึกษาวิชาศิลปะขั้นต้นที่โรงเรียนเพาะช่าง จนมีความรู้แตกฉานในด้านการเขียนภาพไทยและลายไทย ต่อมาจึงเข้าศึกษาที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ด้านจิตรกรรม กับศาสตราจารย์ศิลป์เป็นเวลา 4 ปี จนจบการศึกษาในปี 2483 มีความรู้ความสามารถทั้งศิลปะแบบไทยประเพณีและสากลอย่างตะวันตกเป็นอย่างดี ในปีต่อมา ท่านเข้ารับราชการที่กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร และเป็นอาจารย์รุ่นแรกสอนวิชาจิตรกรรมที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

         ประสงค์ถือเป็นศิลปินผู้บุกเบิกงานจิตรกรรมไทยสมัยใหม่ ที่ถ่ายทอดความประทับใจในวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแบบไทย มีความหลากหลายทั้งรูปแบบของผลงาน เทคนิค และการใช้สี อาทิ ผลงานแบบไทยประยุกต์ที่นำเอารูปแบบและเทคนิคของงานจิตรกรรมไทยประเพณีมาผสมผสาน ผลงานแบบคิวบิสม์ (Cubism) ที่มีลักษณะแบนตัดกันไปมา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากทิวทัศน์และสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของไทย และผลงานออกแบบนิเทศศิลป์ โดยเฉพาะผลงานแบบไทยประยุกต์ที่หยิบยก “ภาพกาก” หรือภาพที่อยู่รายรอบเรื่องราวหลักในงานจิตรกรรมฝาผนังแบบไทยประเพณีตามวัดวาอาราม มาใช้เป็นหัวข้อหลักในการเขียนภาพ

         ‘ริมธารรัก’ (พ.ศ. 2502) เป็นงานจิตรกรรมแบบไทยประยุกต์ เขียนด้วยสีฝุ่นบนกระดานอัด (Masonite Board) แสดงภาพหนุ่มสาวนั่งหยอกล้อกันอยู่ริมน้ำตกและลำธาร การเขียนภาพบุคคลยังคงลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์แบบไทยโบราณ เช่น การเขียนเค้าโครงใบหน้า และการแสดงท่าทางของบุคคลอย่างนาฏลักษณ์ (ท่าร่ายรำ) ผสมผสานกับการจัดองค์ประกอบภาพแบบงานศิลปะตะวันตก ซึ่งแตกต่างจากงานจิตรกรรมแบบไทยประเพณีโดยทั่วไป ประสงค์ลงสีรูปบุคคลเพื่อสร้างแสงเงาบนใบหน้าและร่างกายให้มีลักษณะเหมือนจริง ท่าทางของหนุ่มสาวที่นั่งหยอกล้อกันมีความนุ่มนวลอ่อนช้อย ประกอบกับบรรยากาศของริมธารน้ำที่ใช้สีเขียว ฟ้า และน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีโทนเย็นไล่น้ำหนักอ่อนแก่ที่บริเวณพื้นหลัง สร้างบรรยากาศยามเย็นที่แดดร่มลมตกให้มีความรื่นรมย์มากยิ่งขึ้น ในปีเดียวกันนั้น ท่านได้เขียนภาพ ‘จันทร์แรม’ (พ.ศ. 2502) ซึ่งจัดแสดงอยู่คู่กันใน นิทรรศการพิเศษ “100 ปี ศิลปสู่สยาม สุนทรียศิลปแห่งนวสมัย” (ภาพอยู่ในคอมเมนต์)

         พ.ศ. 2492 ประสงค์ลาออกจากกรมศิลปากร และเข้าทำงานที่แผนกช่างเขียน กองโฆษณาการ ธนาคารออมสิน เป็นผู้บุกเบิกงานด้านการออกแบบตกแต่ง โฆษณา และนิเทศศิลป์ เช่น โปสเตอร์ สิ่งพิมพ์ และปฏิทินภาพไทย นอกเหนือจากเวลางาน ท่านยังคงสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอย่างต่อเนื่องตามแนวทางของตน แม้จะเกษียณอายุราชการเมื่อ พ.ศ. 2522 แล้วก็ตาม ประสงค์ถึงแก่กรรมด้วยโรคเบาหวาน เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2532 สิริอายุ 71 ปี

         ภาพ ‘ริมธารรัก’ ของ ประสงค์ ปัทมานุช จัดแสดงอยู่ในนิทรรศการพิเศษ “100 ปี ศิลปสู่สยาม สุนทรียศิลปแห่งนวสมัย” ระหว่างวันที่ 18 มกราคม – 9 เมษายน 2566 ณ อาคารนิทรรศการ 4 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป นอกจากนี้ ยังสามารถชื่นชมผลงานชิ้นอื่นๆ ของท่านได้ในนิทรรศการ “ศิลปกรรมสมัยรัชกาลที่ ๙” นิทรรศการส่วนต่อขยายที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับงานศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัยของไทย ณ อาคารนิทรรศการ 3 ทั้ง 2 นิทรรศการ เปิดให้เข้าชมวันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา 9.00 – 16.00 น. (ปิดวันจันทร์ – วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์)

 

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ประสงค์ ปัทมานุช ได้ที่

https://www.facebook.com/.../a.242467477.../2526269274171080

อ้างอิงจาก

1. หนังสือ “ประสงค์ ปัทมานุช” โดย ธนาคารออมสิน

(จำนวนผู้เข้าชม 507 ครั้ง)