...

ประวัติและบทบาทหน้าที่

ประวัติ

          พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ ตั้งอยู่ข้างสะพานพระปิ่นเกล้า ถนนเจ้าฟ้า สร้างขึ้นตามลักษณะสถาปัตยกรรมตะวันตก โดย นายคาร์โลอัลเลกรี (Carlo Allegri) สถาปนิกชาวอิตาเลียนประจำราชสำนักสยามเป็นผู้ออกแบบ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากโรงงานเครื่องจักรที่เมืองเบอร์มิ่งแฮม ประเทศอังกฤษ มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมคือ อาคารหลักด้านหน้าเป็นทรงปั้นหยา สูงสองชั้น หลังคามุงกระเบื้องว่าว สองข้างอาคารหลักต่อเป็นปีกทอดยาว เป็นอาคารชั้นเดียวหักมุมฉากสี่ด้านบรรจบกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเชื่อมต่อกัน บริเวณสันหลังคา เชิงชาย ช่องบานประตู หน้าต่างประดับด้วยลวดลายฉลุไม้อย่างงดงาม

          เดิมเป็นสถานที่ตั้งพระตำหนักของเจ้านายฝ่ายวังหน้า(กรมพระราชวังบวรสถานมงคล) ตั้งแต่ครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้กลายมาเป็น “โรงกษาปณ์สิทธิการ” ต่อมาใน พ.ศ.2517 เป็นวาระครบรอบ 100 ปี การพิพิธภัณฑ์ไทย กรมศิลปากรได้ริเริ่มโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานประเภทศิลปะสมัยใหม่ กรมธนารักษ์ได้อนุมัติมอบอาคารแห่งนี้ให้กรมศิลปากรเพื่อจัดตั้งเป็น “หอศิลปแห่งชาติ” ไม่นานได้ปิดปรับปรุงและเปลี่ยนชื่อให้ตรงตามพระราชบัญญัติ โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เป็น “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป” และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2521 ในครั้งนั้นได้มีการจัดนิทรรศการพิเศษเรื่อง "จิตรกรรมไทยแบบประเพณี" และในปีเดียวกันนี้ กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2521

           ปัจจุบันเป็นศูนย์รวบรวม และจัดแสดงผลงานศิลปะทั้งแบบประเพณีไทยโบราณ และแบบสากลร่วมสมัยของศิลปินที่มีชื่อเสียงของศิลปินขาวไทยและชาวต่างประเทศทั้งในอดีตและปัจจุบัน แบ่งเป็นห้องจัดแสดงศิลปะไทยประเพณี จัดแสดงจิตรกรรมไทยประเพณีซึ่งเป็นจิตรกรรมที่มีวิธีการสร้างสรรค์อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและได้รับสืบทอดมาตั้งแต่อดีตจนกลายเป็นระเบียบแบบแผน โดยมีเนื้อหาหลักที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาที่สอดแทรกด้วยเรื่องราวในวรรณคดีและวีถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในสมัยก่อนด้วย เช่น พระบฏ (จิตรกรรมไทยประเพณีบนผืนผ้า) ในสมัยอยุธยา, จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ของ สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์, จิตรกรรมชุดพงศาวดารประกอบโคลง ในสมัยพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น ห้องจัดแสดงศิลปะไทยแบบตะวันตกจัดแสดงผลงานในแบบตะวันตกที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยศิลปินชาวตะวันตกที่เข้ามารับราชการในเมืองไทยและศิลปินไทยที่ได้ไปศึกษางานศิลปะยังต่างประเทศ เช่น ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เขียนโดยศิลปินชาวตะวันตก โดยใช้เทคนิคภาพพิมพ์ เป็นต้น ห้องเฉลิมพระเกียรติ จัดแสดงภาพเขียนฝีพระหัตถ์ของพระมหากษัตริย์  เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสชื่นชมในพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรม เช่น ผลงานภาพฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ห้องจัดแสดงศิลปกรรมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 –ปัจจุบันจัดแสดงศิลปกรรมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 – 2510 เริ่มตั้งแต่ยุคของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบบประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2475 เช่น  ผลงานของ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี , เฟื้อ หริพิทักษ์ และการจัดแสดงศิลปวัตถุตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511

ที่มาของชื่อ "หอศิลปเจ้าฟ้า"

          คำว่า "หอศิลปเจ้าฟ้า" เป็นคำที่คุ้นหูคุ้นปากของผู้คนโดยทั่วไป ทั้งนี้มิได้หมายความว่าเดิม ที่ตั้งของหอศิลป จะเป็นวังของเจ้าฟ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง เพราะพื้นที่บริเวณนี้ในสมัยรัตนโกสินทร์เป็นที่ประทับของเจ้านายวังหน้าหลายพระองค์ แต่เหตุที่เรียกชื่อเช่นนั้นเป็นเพราะเป็นการเรียกชื่อตามชื่อถนน ที่ตั้งของหอศิลป คือ ถนนเจ้าฟ้า
          เมื่อมีการสืบค้นต่อไปพบว่า เป็นวังที่ประทับของเจ้าฟ้าองค์สุดท้ายที่ประทับอยู่ ที่วังปากคลอง วัดชนะสงคราม (บริเวณที่ตั้งของกรมข่าวทหารบก) เมื่อมีการตัดถนนผ่านบริเวณวังของพระองค์ จึงถวายพระเกียรติของพระองค์ ด้วยการเรียกถนนที่ตัดใหม่นี้ว่า ถนนเจ้าฟ้า 
 
บทบาทและหน้าที่
1.เป็นศูนย์ กลางการเก็บรักษาและการจัดแสดงผลงานทั้งศิลปะแบบไทยประเพณีและศิลปะร่วมสมัย ของศิลปินที่มีชื่อเสียงของประเทศ ทั้งประเภทจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์และสื่อผสม ฯลฯ
2.ศึกษา วิเคราะห์ และวิจัย เรื่องราวทางด้านศิลปะสาขาทัศนศิลป์และสาขาอื่นๆที่เกี่ยวข้องเพื่อการพัฒนา ด้านวิชาการ
3.ให้บริการทางการศึกษาโดยการจัดกิจกรรมประเภทต่างๆและการประชาสัมพันธ์ เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางด้านศิลปะแก่สาธารณชนเพื่อให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป  เป็นแหล่งเรียนรู้ของสังคมตามนโยบายของรัฐได้อย่างแท้จริง
4.เป็นศูนย์กลางการประสานงานด้านศิลปกรรม ทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการและการจัดแสดงนิทรรศการกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ
5.ให้คำปรึกษา แนะนำ ทางวิชาการ และให้ความร่วมมือ ส่งเสริมสนับสนุนกิจการและการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ด้านศิลปะทั้งของภาครัฐและ เอกชน
6.ป้องกันการเสื่อมสภาพและซ่อมสงวนรักษาศิลปวัตถุในพิพิธภัณฑ์ตามหลักการการอนุรักษ์

(จำนวนผู้เข้าชม 2589 ครั้ง)


Messenger