...

ชิต เหรียญประชา (พ.ศ. 2451 – 2537)
ชิต เหรียญประชา เกิดเมื่อวันพุธที่ 1 กรกฎาคม 2451 ที่จังหวัดนครปฐม เริ่มเรียนศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่าง แต่เมื่อเหลือเวลาอีก 1 ปี ก่อนจะจบการศึกษา ชิตกลับลาออก เนื่องจากมองไม่เห็นอนาคตในอาชีพศิลปิน ต่อมาชิตได้ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร ด้วยเหตุที่ชิตเป็นผู้มีความรู้ทางด้านศิลปะ จึงย้ายไปช่วยงานที่กรมทหารช่าง และสอบบรรจุเป็นนายสิบ แต่เนื่องจากเงินเดือนที่ได้ไม่พอใช้ในครอบครัว จึงลาออกมาเป็นช่างอิสระ รับจ้างเขียนลายรดน้ำ ปิดทองโต๊ะหมู่บูชา พ.ศ. 2473 ชิตทำงานเป็นช่างศิลป์ให้กับสำนักงานศิลปาคาร ในการออกแบบแกะบล็อกและตราเครื่องหมายต่างๆ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ชิตรับงานผลิตตราขององค์การสงเคราะห์ประชากรสงคราม ทำให้มีทุนเพียงพอสำหรับการเปิดร้าน ช.ช่าง รับงานแกะสลักทุกชนิด โดยเมื่อว่างจากการรับงานที่ร้าน ชิตได้ทุ่มเทเวลาในการสร้างสรรค์ผลงานแกะสลักในแบบฉบับของตนเอง ในปี 2493 ชิตและเพื่อนศิลปินร่วมกันก่อตั้งจิตรกรปฏิมากรสมาคม ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งศิลปะอันเป็นวัฒนธรรมของชาติ และรวบรวมศิลปินให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ชิตได้รับการยกย่องในแวดวงศิลปะว่ามีความเป็นเลิศในด้านการแกะสลักไม้และงาช้าง และเป็นผู้ที่มีความสามารถในการนำเอารูปแบบของศิลปะไทยประเพณีมาผสมผสานเข้ากับรูปแบบและวิธีการของงานศิลปะสมัยใหม่ โดยได้รับแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากพระพุทธรูปแบบสุโขทัย ซึ่งมีสัดส่วนและท่าทางการแสดงออกที่มีความอ่อนช้อยงดงาม ชิตได้กล่าวถึงการสร้างสรรค์ผลงานของตนไว้ว่า “ผมทำตามอารมณ์... ต้องการให้เส้นที่ปรากฏออกมาในแบบไทยๆ แต่ form เป็นสากล”
ในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 3 (พ.ศ. 2494) ผลงาน “รำมะนา” ของชิตได้รับรางวัลเกียรตินิยมอับดับ 1 เหรียญทอง สาขาประติมากรรม ผลงานแกะสลักจากไม้มะฮอกกานี เป็นรูปผู้ชายกำลังนั่งเล่นกลองขึงหนังหน้าเดียวที่เรียกว่า รำมะนา มีการลดทอนรายละเอียดของกล้ามเนื้อ คงไว้ซึ่งรูปร่างที่มีลักษณะอ่อนช้อย โดยออกแบบใบหน้า ท่าทาง และเค้าโครงของงานประติมากรรม ให้แสดงเส้นสายของร่างกายที่ลื่นไหลเป็นวงโค้งล้อรับกันกับเครื่องดนตรี เผยให้เห็นถึงลีลาท่าทางของนักดนตรีที่กำลังรัวกลองเร้าอารมณ์อย่างสนุกสนาน ดูได้จากนิ้วมือ นิ้วเท้า และการโยกตัวตามจังหวะอย่างพลิ้วไหว ผลงานชิ้นนี้จึงมีความประณีตสูงและสื่อสารอารมณ์ถึงผู้ชมได้เป็นอย่างดี
จากการส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1 – 4 (พ.ศ. 2492 – 2496) ชิตได้รับรางวัลเกียรตินิยมอับดับ 1 เหรียญทอง 2 ครั้ง และรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 2 เหรียญเงิน 2 ครั้ง จึงได้รับเกียรติยกย่องเป็นศิลปินชั้นเยี่ยม สาขาประติมากรรม ในปี 2496
ถึงแม้ว่าชิตจะเป็นศิลปินชั้นเยี่ยมแล้ว ก็ยังคงส่งผลงานเข้าร่วมแสดงอีกหลายครั้ง ในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 10 (พ.ศ. 2502) ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้กล่าวถึงผลงานของชิตไว้ว่า “…รูปสลักไม้ หญิงไทย ของ ชิต เหรียญประชา ซึ่งศิลปินผู้นี้ได้ตัดส่วนหยุมหยิมของทรงรูปนอกออกเสีย ก็เพื่อจะให้เกิดความเหมาะสมขึ้นในลักษณะพิเศษของศิลปตามแบบประเพณีของเรา ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาเป็นศิลปินผู้มีฝีมือช่ำชองอยู่ตลอดมา…”
พ.ศ. 2530 ชิตได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาประติมากรรม จากมหาวิทยาลัยศิลปากร และได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ชิตถึงแก่กรรมด้วยโรคภาวะหัวใจล้มเหลว เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2537 สิริอายุ 86 ปี
ที่มา
1. หนังสือ “5 ทศวรรษ ศิลปกรรมแห่งชาติ 2492 – 2541” โดย หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
2. หนังสือ “ชิต เหรียญประชา ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป (ประติมากรรม) พ.ศ. 2530” โดย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
3. หนังสือ “บทความ ข้อเขียน และงานศิลปกรรมของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี” โดย หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
Star vote. Star vote. Star vote. Star vote. Star vote.

(จำนวนผู้เข้าชม 3139 ครั้ง)