...

ภาพ ‘หญิงสาว’ และ ‘ชายหนุ่ม’ ของ สมโภชน์ อุปอินทร์

         ภาพ ‘หญิงสาว’ และ ‘ชายหนุ่ม’ ของ สมโภชน์ อุปอินทร์

         100 ปี ศิลปสู่สยาม สุนทรีศิลปแห่งนวสมัย

         สมโภชน์ อุปอินทร์ (พ.ศ. 2477 – 2557) เป็นหนึ่งในลูกศิษย์ของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่มีความโดดเด่นในด้านการสร้างสรรค์งานจิตรกรรมแนวคิวบิสม์ (Cubism Art) สมโภชน์เรียนจบจากสาขาประติมากรรม คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่กลับมีความสนใจในงานจิตรกรรมมากกว่า ลาวัณย์ อุปอินทร์ ศิลปินแห่งชาติ ผู้เป็นภรรยาของสมโภชน์เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ครอบครัวของสมโภชน์ไม่ได้ร่ำรวย จึงไม่มีเงินพอสำหรับซื้อสีมาเขียนภาพ ทำให้สมโภชน์ต้องเลือกเรียนสาขาประติมากรรมแทน เนื่องจากใช้ทุนทรัพย์น้อยกว่า แต่ก็มิได้ทำให้ความชื่นชอบและความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์งานจิตรกรรมของสมโภชน์ลดลง สมโภชน์และศิลปินหลายคนในยุคนั้นนิยมนำวัสดุที่หาได้ง่ายและมีราคาถูกอย่างแผ่นกระดานอัด (Masonite Board) มาใช้ในการเขียนภาพเช่นเดียวกันกับผืนผ้าใบ พ.ศ. 2502 ขณะยังเป็นนักศึกษา สมโภชน์เขียนภาพ ‘หญิงสาว’ ด้วยสีน้ำมันบนแผ่นกระดานอัด สมโภชน์ใช้เส้นและระนาบของสีที่มีรูปทรงเรขาคณิตตัดกันไปมา สร้างสรรค์เป็นรูปหญิงสาวแนวคิวบิสม์ได้อย่างลงตัว สีและฝีแปรงที่ปรากฏบนภาพเขียนชวนให้นึกถึงผลงานของ ฌอร์ช บราก (Georges Braque) ศิลปินชาวฝรั่งเศสที่เป็นดั่งบิดาผู้ให้กำเนิดศิลปะแนวคิวบิสม์

         ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งของผลงานชิ้นนี้ก็คือ ข้างหลังภาพ ‘หญิงสาว’ มีภาพ ‘ชายหนุ่ม’ (ภาพอยู่ในคอมเมนต์) ซึ่งเป็นผลงานอีกชิ้นหนึ่งที่สมโภชน์เขียนไว้ด้านหลัง ภาพ ‘ชายหนุ่ม’ กำลังทำเครื่องจักสานเขียนด้วยสีน้ำมันในรูปแบบเหมือนจริง ไม่ปรากฏปีที่วาด แต่สันนิษฐานว่าเป็นผลงานที่เขียนขึ้นในขณะที่ยังเป็นนักศึกษา ภาพเขียนชิ้นนี้ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความแม่นยำในการเขียนภาพคนของสมโภชน์ ที่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจเรื่องกายวิภาคของมนุษย์เป็นอย่างดี 

         ภาพ ‘หญิงสาว’ ของ สมโภชน์ อุปอินทร์ จัดแสดงอยู่ในนิทรรศการพิเศษ “100 ปี ศิลปสู่สยาม สุนทรียศิลปแห่งนวสมัย” ระหว่างวันที่ 18 มกราคม – 9 เมษายน 2566 ณ อาคารนิทรรศการ 4 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป เปิดให้เข้าชมวันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา 9.00 – 16.00 น. (ปิดวันจันทร์ – วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์)

 

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ สมโภชน์ อุปอินทร์ ได้ที่

https://www.facebook.com/.../a.242467477.../2475606092570732

(จำนวนผู้เข้าชม 268 ครั้ง)