...

‘พระพุทธรูปปางสมาธิ’ ของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

         ‘พระพุทธรูปปางสมาธิ’ ของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

         100 ปี ศิลปสู่สยาม สุนทรีศิลปแห่งนวสมัย

         พ.ศ. 2495 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี มีดำริให้จัดงานเฉลิมฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เนื่องในวโรกาสมหามงคลกาลที่พระพุทธศักราชเวียนมาบรรจบครบ 2,500 ปี ในวันวิสาขบูชา พ.ศ. 2500 โดยให้มีการก่อสร้าง ‘พุทธมณฑล’ ณ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เพื่อเป็นพุทธานุสรณียสถานและศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของประเทศ รัฐบาลได้มอบหมายให้กรมศิลปากร ซึ่งมี ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี คณบดีคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้ออกแบบและปั้นหล่อพระพุทธรูปพระประธานของพุทธมณฑล

         หนังสือ ‘พุทธมณฑล’ โดย คณะอนุกรรมการจัดทำหนังสืออนุสรณ์พุทธบูชา ในคณะกรรมการอำนวยการจัดสร้างพุทธมณฑล บันทึกไว้ว่า ศาสตราจารย์ศิลป์ได้ปั้นพระพุทธรูปไว้ 4 แบบ นำเสนอต่อคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาให้ความเห็น คณะกรรมการฯ ได้คัดเลือกพระพุทธรูปปางลีลา ซึ่งเป็นต้นแบบให้กับพระศรีศากยะทศพลญาณ พระประธานที่ประดิษฐานเป็นศูนย์กลางของพุทธมณฑล

         ‘พระพุทธรูปปางสมาธิ’ ฝีมือศาสตราจารย์ศิลป์ เดิมตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ ซึ่งเป็นห้องทำงานของท่าน จึงอาจเป็น 1 ใน 4 ของพระพุทธรูปต้นแบบที่ท่านได้ปั้นหล่อไว้เพื่อนำไปเสนอต่อคณะกรรมการฯ พระพุทธรูปองค์นี้เป็นผลงานที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างความเหมือนจริงตามธรรมชาติ และรูปแบบเหนือจริงตามอุดมคติที่อ้างอิงจาก ‘คัมภีร์มหาบุรุษลักษณะ’ โดยมีพุทธลักษณะที่สำคัญ คือ พระพักตร์นิ่งสงบ พระเนตรเหลือบต่ำ มีลักษณะสมจริงเหมือนใบหน้าของมนุษย์ พระรัศมีเป็นเปลวเพลิง ตั้งอยู่บนอุษณีษะ (กะโหลกนูน) คล้ายมวยผม พระเกศาเป็นรูปก้นหอย ครองจีวรห่มเฉียง ริ้วจีวรเป็นธรรมชาติ ประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานบัว

         ‘พระพุทธรูปปางสมาธิ’ ของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี จัดแสดงอยู่ในนิทรรศการพิเศษ “100 ปี ศิลปสู่สยาม สุนทรียศิลปแห่งนวสมัย” ระหว่างวันที่ 18 มกราคม – 9 เมษายน 2566 ณ อาคารนิทรรศการ 4 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป เปิดให้เข้าชมวันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา 9.00 – 16.00 น. (ปิดวันจันทร์ – วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์)

(จำนวนผู้เข้าชม 739 ครั้ง)