ประวัติและบทบาทหน้าที่
ประวัติความเป็นมา
กรมศิลปากรได้เริ่มทำการศึกษา ค้นคว้า วิจัยงานด้านโบราณคดีใต้น้ำ และสำรวจเส้นทางการค้าทางทะเลในสมัยโบราณ อันเป็นหลักฐานแสดงความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจการพาณิชย์นาวีของชาติไทย มาตั้งแต่ปี พุทธศักราช 2517 จากการดำเนินการสำรวจ ขุดค้น พบว่าตามเส้นทางการค้าทะเลโบราณมีเรือบรรทุกสินค้าอับปางอยู่ใต้ทะเลเป็นจำนวนไม่น้อย และในบางแหล่งได้ดำเนินการเก็บกู้โบราณวัตถุที่มี คุณค่าขึ้นมาเพื่อเป็นหลักฐานประกอบการศึกษา ค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์ด้วย ซึ่งผลจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องทำให้โบราณวัตถุที่ถูกนำขึ้นมาจากใต้ทะเลมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ กอปรกับในปี พ.ศ. 2535 กองทัพเรือได้ตรวจและยึดโบราณวัตถุจำนวนนับหมื่นชิ้นได้จากนักล่า สมบัติชาวต่างชาติที่เข้ามาลักลอบงม หาสมบัติใต้ทะเลในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของไทย โบราณวัตถุ ดังกล่าวได้ถูกนำมาเก็บรักษาไว้ที่สำนักงานโบราณคดีใต้น้ำ ค่ายเนินวง อำเภอเมือง จันทบุรี
หน้าที่ ความรับผิดชอบ
1. ศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ และวิจัยเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากหลักฐานที่เป็นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และวัตถุทางชาติพันธุ์ ผนวกกับการสืบค้นจากเอกสารและตำนาน หรือแหล่งข้อมูลอื่น ๆ และพัฒนาเป็นข้อมูลวิชาการสำหรับเป็นเอกสารอ้างอิงระดับชาติและนานาชาติต่อไป
2. ดำเนินการสำรวจ และรวบรวมทรัพย์สินทางวัฒนธรรม ของชาติที่เป็นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุทั้งแบบประเพณี ร่วมสมัย และสมัยใหม่ รวมถึงวัตถุ ทางชาติพันธุ์ ทั้งที่เป็นทรัพย์แผ่นดิน และที่เป็นหลักฐานแสดงถึงเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ ในเขตพื้นที่รับผิดชอบมาเก็บรักษา ควบคุม ดูแล รักษา สมบัติทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 เพื่ออนุรักษ์ไว้เป็นมรดกของชาติสืบไป
3. ประสาน สนับสนุนในการสงวนรักษาทรัพย์สินทางวัฒนธรรมของชาติ ตามหลักการอนุรักษ์โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และวัตถุทางชาติพันธุ์ ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ กับ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
4. เผยแพร่และบริการความรู้ที่ได้จากการศึกษา ค้นคว้าวิจัยต่อสาธารณชนด้วยการจัดแสดง และด้วยสื่อ และนวัตกรรมรูปแบบต่างๆ
5. ตรวจพิสูจน์ กำหนดอายุสมัย โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และวัตถุทางชาติพันธุ์ ที่อยู่ในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบ
6. สำรวจเก็บข้อมูล ประสานส่วนกลางเพื่อดำเนินการขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่อยู่ในความครอบครองของวัดและเอกชน ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ
7. ดำเนินการกำกับ ควบคุม สถานประกอบการค้า การนำเข้า และการส่งออกสิ่งเทียมโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุฯ กฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ
8. วางแผนและพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่รับผิดชอบให้มีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามมาตรฐาน
9. ประสาน ส่งเสริม สนับสนุนการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ประจำท้องถิ่น
10. ดำเนินงานเกี่ยวกับเครือข่ายเพื่อการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติในเขตพื้นที่รับผิดชอบ โดยปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือสนับสนุนการให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์ มรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ
11. ปฏิบัติงานหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือตามที่ได้รับมอบหมายภายในมีการจัดแสดงต่าง ๆ ดังนี้
1.ห้องสินค้าและวิถีชีวิตชาวเรือ จัดแสดงเกี่ยวกับประวัติการพาณิชย์นาวีของไทยในสมัยโบราณตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมาจนปัจจุบันเส้นทางการเดินเรือเมืองท่าโบราณสินค้าประเภทต่างๆ โดยจำลองเรือสำเภาขนาดเท่าจริงไว้ภายในเพื่อแสดงให้เห็นถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนบนเรือขณะเดินทางในทะเลตลอดจนสินค้าประเภทต่างๆที่นำไปค้าขาย นอกจากนี้ยังจัดแสดงของมีค่าซึ่งพบจากแหล่งเรือจมบริเวณอ่าวไทย ได้แก่ จี้ทองคำฝังพลอยแดงและกำไลทองคำประดับอัญมณี
2.ห้องแนะนำปฏิบัติการโบราณคดีใต้น้ำ จัดแสดงเกี่ยวกับเทคนิคการทำงานโบราณคดีใต้น้ำโดยการจำลองสภาพแหล่งโบราณคดีใต้น้ำวิธีการทำงานตลอดจนเครื่องมือต่างๆที่ใช้ในการปฏิบัติงานจริง
3.ห้องคลังเก็บโบราณวัตถุ เป็นลักษณะพิเศษที่ออกแบบให้ผนังด้านหนึ่งเป็นกระจกใสทำให้ผู้เข้าชมสามารถมองเห็นโบราณวัตถุที่จัดเก็บไว้ภายในคลังโบราณวัตถุได้
4.ห้องเรือและชีวิตชาวเรือ จัดแสดงเรือจำลองประเภทต่างๆ ที่ใช้ในประเทศไทยทั้งเรือชนิดที่ใช้ในแม่น้ำลำคลองและชนิดที่ใช้ในทะเล เรือพระราชพิธี และเรือรบ เป็นต้น
5.ห้องของดีเมืองจันท์ คือส่วนของพิพิธภัณฑ์เมืองจัดแสดงเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของจังหวัดจันทบุรีตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์สมัยประวัติศาสตร์การก่อตั้งเมืองเหตุการณ์สำคัญและเรื่องราวของชาวชองชนพื้นเมืองดั้งเดิมของจังหวัดจันทบุรีนอกจากนี้ยังได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติรวมทั้งสินค้าและอาหารพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงของจังหวัดจันทบุรีไว้ด้วย
6.ห้องบุคคลสำคัญ จัดแสดงพระราชประวัติพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชรวมทั้งเส้นทางเดินทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเมื่อครั้งตีฝ่าวงล้อมข้าศึกออกมาตั้งทัพเพื่อรวบรวมไพร่พลและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่จังหวัดจันทบุรีก่อนยกทัพกลับไปกอบกู้อิสรภาพคืนจากข้าศึกเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2
(จำนวนผู้เข้าชม 468 ครั้ง)