...

ประวัติและบทบาทหน้าที่

พัฒนาการและงานสำคัญของสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์

 
           สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งของกรมศิลปากรที่ปฏิบัติภารกิจด้านวิชาการเกี่ยวกับภาษาและหนังสือ พัฒนาการของสำนักแบ่งตามหน้าที่ความรับผิดชอบเป็น ๒ ยุค คือ ยุคแรกเป็นระยะที่สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์รับผิดชอบทั้งงานด้านวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ งานจารึก ภาษาโบราณ และงานหอสมุดแห่งชาติ ยุคที่สองเป็นยุคที่สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์รับผิดชอบเฉพาะงานด้านวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ล้วน ๆ โดยที่งานเกี่ยวกับหอสมุดแห่งชาติ จารึก และภาษาโบราณได้แยกตัวออกไปเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งต่างหาก บทบาทสำนักในระยะที่ผ่านมาจวบจนปัจจุบันได้มีส่วนช่วยกรมศิลปากรในการอนุรักษ์ สืบทอด และส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับวรรณกรรมประวัติศาสตร์ และขนบธรรมเนียมประเพณีอันถือว่าเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของชาติด้วยความเข้มแข็ง 
 
            สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในพุทธศักราช ๒๔๖๙ เป็นแผนกหนึ่งในราชบัณฑิตยสภา เรียกว่า แผนกวรรณคดี มีหน้าที่จัดการหอพระสมุดสำหรับพระนคร และสอบสวนพิจารณาวิชาอักษรศาสตร์ ต่อมาเมื่อราชบัณฑิตยสภาถูกยุบลง มีการก่อตั้งกรมศิลปากรขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๔๗๖ ก็ได้มี แผนกวรรณคดี เป็นแผนกหนึ่งในกองศิลปวิทยาการของกรมศิลปากรด้วย มีหน้าที่โดยสรุป คือ ค้นคว้าและบำรุงความรู้ในศิลปะทางวรรณคดี ประเภทของงานในช่วงแรกยังมีไม่มากนัก ได้แก่การตรวจสอบต้นฉบับและจัดพิมพ์หนังสือซึ่งเป็นต้นฉบับของกรมศิลปากรตามที่มีผู้ขออนุญาตจัดพิมพ์ และค้นคว้าเรียบเรียงเรื่องเกี่ยวกับอักษรศาสตร์และวรรณกรรมขึ้นใหม 
 
             หนังสือซึ่งเป็นต้นฉบับของกรมศิลปากรหมายถึง หนังสือด้านวรรณกรรม ประวัติศาสตร์หรือขนบธรรมเนียมประเพณี ที่เป็นหนังสือเก่าตกทอดมาจากหอพระสมุดสำหรับพระนคร ที่ได้มีการตรวจสอบชำระความถูกต้อง และทำเชิงอรรถอธิบายความรู้เพิ่มเติม เป็นต้นฉบับพร้อมที่จะพิมพ์เผยแพร่ได้ กรมศิลปากรอนุญาตให้เอกชนพิมพ์เผยแพร่เป็นวิทยาทานในการกุศลต่าง ๆ หรือจำหน่าย โดยกรมศิลปากรช่วยควบคุมการจัดพิมพ์ และผู้ขออนุญาตต้าองจ่ายค่าภาคหอเป็นเงินหรือหนังสือตามระเบียบที่กำหนด 
 
             ต่อมาในพุทธศักราช ๒๔๘๑ ได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการในกรมศิลปากรใหม่ ฝ่ายวรรณคดีได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น กองวรรณคดี โดยรวมงานของกองหอสมุดเข้ามารวมกัน แบ่งงานภายในออกเป็น ๔ แผนก คือ แผนกกลาง แผนกหอวชิราวุธ แผนกหอวชิรญาณ และแผนกสาขาหอสมุด กองวรรณคดีตั้งที่ทำการอยู่ที่อาคารสังคหวัตถุ หรือตึกแดงหน้าวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นอาคารหอสมุดแห่งชาติ ส่วนลักษณะงานนั้น ๓ แผนกเป็นงานเกี่ยวกับหอสมุด จารึก และภาษาโบราณ ได้แก่ แผนกหอวชิราวุธ แผนกหอวชิรญาณ และแผนกสาขาหอสมุด ส่วนงานในแผนกกลางนั้นจะเป็นงานวิชาการในสาขาวรรณคดีและอักษรศาสตร์ คือ งานตรวจสอบชำระวรรณกรรมของชาติออกพิมพ์เผยแพร่ การอนุมัติตรวจสอบเมื่อมีผู้ขออนุญาตพิมพ์หนังสือที่เป็นต้นฉบับของกรมศิลปากร ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดโต้วาทีช่วยเหลือหน่วยงานอื่นในกรมศิลปากรทางวิชาการด้านประวัติศาสตร์และวรรณคดี กับทำสถิติรายการหนังสือภาษาไทยและต่างประเทศ ที่พิมพ์ในประเทศไทย หัวหน้ากองวรรณคดีคนแรกคือ ศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) ส่วนหัวหน้าแผนกกลางที่ดูแลเกี่ยวกับงานวรรณคดีอักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์คนแรกคือ นายธนิต อยู่โพธิ์ กองวรรณคดีได้ริเริ่มออกหนังสือวารสารศิลปากรซึ่งมีเนื้อหาเผยแพร่ความรู้ด้านวรรณกรรมประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณี และโบราณคดี เป็นครั้งแรกในพุทธศักราช ๒๔๙๐ และในปีนี้ก็ได้เปิดหอสมุดดำรงราชานภาพให้ประชาชนทั่วไปเข้าศึกษาหาความรู้ด้วย 
 
            พุทธศักราช ๒๔๙๑ ได้มีการปรับปรุงกองและแผนกในกรมศิลปากรอีก กองวรรณคดีเปลี่ยนชื่อแผนกกลางเป็นแผนกค้นคว้า และเปลี่ยนแผนกสาขาหอสมุดเป็นแผนกบันทึกเหตุการณ์ อีก ๓ ปีต่อมา หน่วยงานของกองวรรณคดียังคงประกอบด้วยแผนกค้นคว้า แผนกบันทึกเหตุการณ์ แผนกหอวชิราวุธ และแผนกหอวชิรญาณ ลักษณะงานโดยรวมระยะนี้จะมีงานด้านประวัติศาสตร์เพิ่มมากขึ้น นอกเหนือจากงานด้านอักษรศาสตร์ วรรณกรรม ภาษาโบราณ และหอสมุด 
 
          วันที่ ๑๘ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๙๕ ได้มีพระราชกฤษฏีกาจัดวางระเบียบราชการกรมศิลปากรในกระทรวงวัฒนาธรรม พ.ศ. ๒๔๙๕ ขึ้น กองวรรณคดีเปลี่ยนชื่อเป็น กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ แบ่งการบริหารงานภายในเป็น ๖ แผนก ประกอบด้วย แผนกค้นคว้า แผนกแปล แผนกเรียบเรียง แผนกหอวชิราวุธ แผนกหอวชิรญาณ แผนกหอดำรงราชานุภาพ และหอสมุดสาขา ภารกิจหน้าที่ในช่วงนี้นอกจากงานศึกษาค้นคว้า เรียบเรียง จัดพิมพ์ ด้านวรรณกรรมประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณี จารึก ภาษาโบราณ และหอสมุดแล้ว ยังเพิ่มงานแปลเอกสารต่าง ๆ ที่เป็นความรู้ดังกล่าวแล้วจากภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย และภาษาไทยเป็นต่างประเทศด้วย ซึ่งส่งผลดีต่อการติดต่อแลกเปลี่ยนเอกสารความรู้กับสถาบันต่าง ๆ ในนานาประเทศ 
 
           กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ดำเนินงานด้านวิชาการควบคู่กับงานบริการด้านหอสมุดจนกระทั่งถึงปีพุทธศักราช ๒๕๐๔ พระราชกฤษฏีกาแบ่งส่วนราชการกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการซึ่งตราไว้เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๐๔ ได้แบ่งแยกงานวิชาการด้านวรรณคดี ประวัติศาสตร์และหอสมุดแห่งชาติออกจากกัน แบ่งเป็นกองวรรณคดีและประวัติศาสตร์กองหนึ่ง กองหอสมุดแห่งชาติกองหนึ่ง สำหรับกองวรรณคดีและประวัติศาสตร์นั้นแบ่งงานภายในออกเป็น ๓ แผนก คือ แผนกอักษรศาสตร์และวรรณคดี แผนกประวัติศาสตร์และจารีตประเพณี และแผนกแปลและเรียบเรียง ดังนั้นกองวรรณคดีและประวัติศาสตร์จึงรับผิดชอบเฉพาะงานวิชาการไม่มีงานบริการดังก่อน 
 
            วันที่ ๕ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘ ได้มีพระราชกฤษฎีการแบ่งส่วนราชการกรมศิลปากรใหม่ กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ได้ปรับปรุงการบริหารงานภายในออกเป็น ๔ แผนก ประกอบด้วย แผนกวรรณคดี แผนกประวัติศาสตร์ แผนกวัฒนธรรมและจารีตประเพณี และแผนกแปลและลิขสิทธิ์ หน้าที่โดยรวมของกองคือรับผิดชอบเกี่ยวกับการศึกษาค้นหว้า เรียงเรียง ตรวจสอบ ชำระ วิทยาการสาขาวรรณคดี ประวัติศาสตร์ จารีตประเพณี ศิลปวัฒนธรรม แปลและเรียบเรียงเอกสารด้านวรรณดี ประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรมของชาติ โดยพิมพ์ออกเผยแพร่เพื่อประโยชน์ในด้านการศึกษาฟื้นฟู ส่งเสริม และบำรุงรักษางานวรรณคดี ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของชาติ และดำเนินงานคุ้มครองลิขสิทธิ์ วรรณกรรมและศิลปกรรม ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรม และศิลปกรรม ตามอนุสัญญาคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคสมาชิก และเนื่องจากงานด้านลิขสิทธิ์นั้นเป็นเรื่องเกี่ยวพันกับกฎหมายการติดต่อประสานงานต่าง ๆ ทำให้กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ต้องปรับหน่วยงานให้เหมาะสมกับการนี้ยิ่งขึ้น ดังนั้น ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๑ จึงได้แบ่งส่วนงานภายในกองเป็น ๕ งานคือ งานวรรณคดี งานประวัติศาสตร์ งานวัฒนธรรมและจารีตประเพณี งานแปลและเรียบเรียง และงานสารนิเทศลิขสิทธิ์ 
 
            ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงถ่ายโอนงานบางส่วนของกองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ไปยังหน่วยงานอื่นอีก เนื่องจากในพุทธศักราช ๒๕๓๕ คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเป็นชอบให้จัดตั้งกรมทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นในกระทรวงพาณิชย์ เพื่อรวมการบริหารงานและการปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา ๓ ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า และพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ และได้ตราพระราชบัญญัติโอนอำนาจหน้าที่และกิจการบริหารบางส่วนของกรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์ และของกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ ไปเป็นกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๓๕ ดังนั้นในปีต่อมาจึงมีการถ่ายโอนงานสารนิเทศลิขสิทธิ์ไปยังกระทรวงพาณิชย์ ส่วนข้าราชการของกองในส่วนนี้ นอกจากผู้ที่โอนไป

บทบาทและหน้าที่

 

สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ มีอำนาจหน้าที่ดังนี้

๑. ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ภาษาด้านวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ จารีตประเพณี เพื่อการศึกษาและเผยแพร่
๒. ดำเนิน งานวิชาการด้านการศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ วิจัย แปล เรียบเรียง ตรวจสอบ ชำระเอกสารทางด้านวิชาการด้านภาษา วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ และจารีตประเพณี เพื่อนำออกเผยแพร่ในรูปแบบของหนังสือเอกสาร สิ่งพิมพ์ และสื่อต่าง ๆ
๓. เสนอแนะแนวทางในการกำหนดนโยบาย วางแผน วางมาตรฐาน และพัฒนางานด้านภาษา วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ และจารีตประเพณี
๔. ส่ง เสริมและสนับสนุนการดำเนินงานทางวิชาการเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาความรู้ ความเข้าใจด้านภาษา วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ และจารีตประเพณีของชาติ
๕. ให้คำปรึกษาแนะนำ วินิจฉัย ปัญหาที่สำคัญทางวิชาการด้านภาษา วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ และจารีตประเพณีของชาติ
๖. ดำเนิน การโครงการพิเศษที่เกี่ยวข้องกับงานวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ และจารีตประเพณีในพระราชพิธี รัฐพิธี และพิธีการต่าง ๆ ในโอกาสสำคัญของชาติ
๗. ดำเนิน การเกี่ยวกับงานเลขานุการของคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ และคณะกรรมการอื่นที่เกี่ยวข้องกับงานวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ที่อยู่ใน อำนาจหน้าที่ของกรมศิลปากร
๘. ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

(จำนวนผู้เข้าชม 300 ครั้ง)