...

ประวัติและบทบาทหน้าที่

             พระบาทสมเด็จพระปรมินทรภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเมานท์ออเบอร์น (Mount Auburn) เมืองเคมบริดจ์ (Cambridge)
รัฐแมสสาชูเซตต์ (Massachusetts) สหรัฐอเมริกา เมื่อวันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีเถาะ นพศก จุลศักราช ๑๒๘๙ ตรงกับวันที่ ๕ ธันวาคม
พุทธศักราช ๒๔๗๐ มีพระนามเดิมว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช
กรมหลวงสงขลานครินทร์ (พระราชโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี)
และสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ซึ่งภายหลังทั้งสองพระองค์ได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยเป็น สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
และ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา
กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๖๖ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กับ
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทร มหาอานันทมหิดล เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๖๘ ณ เมืองไฮเดลแบร์ก ประเทศเยอรมนี


เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๑ ได้โดยเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนก ซึ่งทรงสำเร็จการศึกษา
ปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐอเมริกา กลับประเทศไทย
ประทับ ณ วังสระปทุม ต่อมาในวันที่ ๒๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๒ สมเด็จพระบรมราชชนกสวรรคต
ขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงเจริญพระชนมายุได้ไม่ถึง ๒ ปี
และเมื่อมีพระชนมายุได้ ๕ ปี ได้ทรงเข้ารับการศึกษาขั้นต้น ณ โรงเรียนมาแตร์เดอี กรุงเทพฯ
จนถึง พุทธศักราช ๒๔๗๖ จึงเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี พระเชษฐภคินี และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เพื่อทรงศึกษาต่อ
ในชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียน Ecole Nouvelle de la Suisse Romande, Chailly-sur-Lausanne
เมื่อทรงรับประกาศนียบัตร Bachelier es Lettres จาก Gymnase Classique Cantonal
แห่งเมืองโลซานน์แล้ว ทรงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยโลซานน์ โดยทรงเลือกศึกษาในแขนงวิชาวิทยาศาสตร์


ในปีพุทธศักราช ๒๔๗๗ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์
รัชกาลที่ ๘ แห่งบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๘ และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช
จึงทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช
และได้โดยเสด็จพระราชดำเนินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล นิวัตประเทศไทยเป็นครั้งแรก
ในปีพุทธศักราช ๒๔๘๑ โดยประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เป็นการชั่วคราว
แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับไปประเทศสวิสเซอร์แลนด์ จนถึงพุทธศักราช ๒๔๘๘ ครั้งนี้ประทับ
ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง
ในวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จสวรรคตโดยกะทันหัน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ
เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช จึงเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติสืบราชสันตติวงศ์ในวันเดียวกันนั้น
แต่เนื่องจากยังมีพระราชกิจด้านการศึกษา จึงต้องทรงอำลาประชาชนชาวไทย
เสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังประเทศสวิสเซอร์แลนด์อีกครั้งหนึ่ง ในเดือนสิงหาคม
พุทธศักราช ๒๔๘๙ เพื่อทรงศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งเดิม
ในครั้งนี้ทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมายและวิชา รัฐศาสตร์แทนวิชาวิทยาศาสตร์ที่ทรงศึกษาอยู่เดิม

 

 

ระหว่างที่ทรงประทับศึกษาอยู่ต่างประเทศนั้น ทรงพบกับ หม่อมราชวงศ์
สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาใน หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร กับ หม่อมหลวงบัว
(สนิทวงศ์) กิติยากร (ภายหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการ
โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอิสริยยศ หม่อมเจ้านักขัตรมงคล ฯ ขึ้นเป็น
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคล เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๓
และขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามว่า พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ
เมื่อ พุทธศักราช ๒๔๙๕) ต่อมาทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร
ในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์

ในพุทธศักราช ๒๔๙๓ เสด็จพระราชดำเนินนิวัตพระนคร ประทับ
ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการ
พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหา-
อานันทมหิดล ในเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ต่อมาในวันที่ ๒๘ เมษายน
ปีเดียวกัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับ
หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ พระตำหนัก สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี
พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในวังสระปทุม ซึ่งในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสนี้
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร
ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์


ในวันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น
ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง เฉลิมพระบรมนามาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภุมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
พร้อมทั้งพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

 

และในโอกาสนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี

หลังจากเสร็จการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้วได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงรักษาพระสุขภาพ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
ตามที่คณะแพทย์ได้ถวายคำแนะนำ และระหว่างที่ประทับในเมืองโลซานน์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี มีพระประสูติกาลพระราชธิดาพระองค์แรก
คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ซึ่งประสูติ ณ โรงพยาบาลมองซัวซีส์ เมืองโลซานน์ เมื่อวันที่ ๕ เมษายน
พุทธศักราช ๒๔๙๔ และเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์แรกเจริญพระชันษาได้ ๗ เดือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินนิวัตพระนคร
ประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต

จากนั้นทรงย้ายไปประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เนื่องจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
สำหรับเป็นที่ประทับแทนการที่รัฐบาลจะจัดสร้างพระตำหนักขึ้นใหม่ และที่พระที่นั่งอัมพรสถานนี้เอง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี
มีพระประสูติกาลพระราชโอรสและ พระราชธิดาอีก ๓ พระองค์ คือ

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ ประสูติเมื่อวันจันทร์ที่ ๒๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๕
ในพุทธศักราช ๒๕๑๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฏราชกุมาร

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๘
ในพุทธศักราช ๒๕๒๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยะชาติ
สยามบรมราชกุมารี

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๐

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระผนวชเมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙ ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง
และประทับจำพรรษา พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศวิหาร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการ
ทรงปฏิบัติราชการแผ่นดินแทนพระองค์ตลอดระยะเวลา ๑๕ วัน ที่ทรงพระผนวชอยู่ จากการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี
ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้อย่างเรียบร้อยเป็นที่พอพระพระราชหฤทัย จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ
สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในปีเดียวกันนั้นเอง และในวันที่ ๓๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๐๐ หลังจากทรงประกอบพิธี
เฉลิมพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ซึ่งได้ต่อเติมขึ้นใหม่แล้ว ทรงย้ายที่ประทับจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต กลับไปประทับ
ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต สืบมา

ระหว่างพุทธศักราช ๒๕๐๒ ถึง ๒๕๑๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ
ทั้งในเอเชีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นการเจริญสัมพันธไมตรีรวม ๒๘ ประเทศ นอกจากนั้นก็ได้ทรงต้อนรับพระราชอาคันตุกะที่เป็นประมุขของประเทศต่างๆ
อยู่เนือง ๆ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ นับตั้งแต่พระราชพิธีสำคัญ ของบ้านเมือง พระราชพิธีและการพระราชกุศล

ทาง พระพุทธศาสนา และที่สำคัญยิ่งคือการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรทั่วทุกภูมิภาค รวมทั้งท้องถิ่นที่ทุรกันดารห่างไกลความเจริญ
อย่างมิทรงเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย นอกจากจะได้ทอดพระเนตรสภาพความเป็นอยู่และปัญหาอันแท้จริงของแต่ละพื้นที่แล้ว
ยังทรงพระราชทานความช่วยเหลือ และทรงนำโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมาใช้ในการแก้ไขปัญหา และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร
ซึ่งครอบคลุมเนื้อหาที่หลากหลายทุกด้านกว่า ๓,๐๐๐ โครงการ

โครงการเหล่านี้มีทั้งที่ทรงดำเนินการด้วยพระองค์เอง และทรงมอบหมายให้หน่วยราชการ หรือองค์กรเอกชนดำเนินการ
และขยายผลให้กว้างขวางออกไป นับได้ว่าเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอย่างงดงาม โดยทรงดำรง
อยู่ในคุณธรรมอันควรแก่พระมหากษัตราธิราชอันมีทศพิธราชธรรมเป็นอาทิ สมดังพระราชปณิธานนับตั้งแต่ต้นรัชกาล ครั้นถึงพุทธศักราช ๒๕๑๓
อันเป็นวาระ ครบ ๑๕ ปีแห่งการครองราชย์ รัฐบาลจึงจัดให้มีพระราชพิธีเฉลิมฉลองเรียกว่า รัชดาภิเษกสมโภช พร้อมทั้งอาณาประชาราษฎร์
ก็ได้ร่วมเฉลิมฉลองโดยถ้วนหน้า

 

เมื่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๕ รอบ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๐ รัฐบาลและประชาชนรู้สึกปลาบปลื้มปีติ
เป็นยิ่งนัก จึงจัดให้มีการเฉลิมฉลองครั้งสำคัญ คือ พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ และต่อมาอีกปีหนึ่ง ก็มีการฉลองอภิลักขิตสมัยอีกครั้ง
คือ พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติคุณที่ทรงได้ครองราชย์มายาวนานกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในประวัติศาสตร์ชาติไทย

 

พระราชกรณียกิจดำเนินต่อมาอีกจนถึงพุทธศักราช ๒๕๓๘ วาระแห่งการดำรงอยู่ในสิริราชสมบัตินับได้ถึง ๕๐ ปี
รัฐบาลก็ได้ประกาศให้เป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองมงคลวาระกันทั่วทั้งประเทศตลอด ๒ ปี เต็ม นับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๓๘ เป็นต้นไป
จนสิ้นปีพุทธศักราช ๒๕๓๙ โดยองค์กรทุกภาคส่วน ทั้งของราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรเอกชน พ่อค้าประชาชนทุกหมู่เหล่า
มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมอย่างกว้างขวาง และในวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๓๙ ก็จัดให้มี พระราชพิธีกาญจนาภิเษกสมโภช
ณ พระที่นั่งกาญจนาภิเษก มณฑลท้องพิธีสนามหลวง นับได้ว่าเป็นการเฉลิมฉลองมหามงคลวโรกาสอันยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของชาติไทย

ครั้นกาลเวลาล่วงมาอีก ๑๐ ปี ชาวไทยและชาวโลกก็ได้ตระหนักรู้อีกครั้งหนึ่งในพระเกียรติคุณที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงบำเพ็ญเพื่อประเทศชาติ และประชาชนมาโดยตลอดเวลาอันยาวนาน ดังที่ประจักษ์กันทั่วไปว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองสิริราชสมบัติ
ยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในสยามประเทศ และยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในโลกปัจจุบัน
ด้วยเหตุดังกล่าว เนื่องในมหามงคลวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี จึงนับว่าเป็นเหตุการณ์ที่ตราตรึงอยู่ในจิตใจของพสกนิกรไทยทุกหมู่เหล่า
ตลอดถึงผู้ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอย่างมิรู้ลืมยิ่งกว่าครั้งใดๆ

 

ในวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงประกอบพระราชพิธีอันเนื่องจากการฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี
ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และในพระบรมมหาราชวัง โดยลำดับ จากนั้นก็ได้เสด็จออกมหาสมาคม ณ สีหบัญชรพระที่นั่งอนันตสมาคม
เพื่อให้พสกนิกรนับแสนได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วยความจงรักภักดี และปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นหาที่สุดมิได้
โดยมีเหตุการณ์ที่น่าประทับใจอีกประการหนึ่งก็คือ มีพระประมุขและพระราชวงศ์ต่างประเทศ หรือผู้แทนของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ๒๕ ประเทศ
เสด็จพระราชดำเนินมาร่วมชุมนุมถวายพระพรในมงคลวโรกาสครั้งนี้อย่างสมพระเกียรติ

 

จวบจนถึงปัจจุบัน ตลอดระยะเวลาอันยาวนานกว่า ๖ ทศวรรษที่ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๙๓ เป็นต้นมานั้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการอันเป็นคุณประโยชน์ยิ่งแก่พสกนิกรชาวไทยอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
ความเป็นปึกแผ่นของชาติโดยทรงมุ่งเน้นที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุขของอาณาประชาราษฎร์เป็นสำคัญ ยังผลให้เกิดความรุ่งเรือง
และปึกแผ่นของชาติตลอดระยะเวลาอันยาวนาน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ล้นเกล้าล้นกระหม่อมต่อประเทศชาติ และประชาชนชาวไทยอย่างหาที่เปรียบมิได้

เนื่องจากโดยส่วนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระปรีชาสามารถรอบรู้หลายสาขา จึงทรงมีผลงานทั้งด้านกีฬา ด้านงานประดิษฐ์คิดค้น
ทางการช่างและเทคโนโลยี และด้านงานสร้างสรรค์ทางศิลปะแขนงต่างๆ อาทิ ภาพวาดฝีพระหัตถ์ งานพระราชนิพนธ์ทางอักษรศาสตร์ งานพระราชนิพนธ์
ทางดนตรี เป็นต้น

(จำนวนผู้เข้าชม 415 ครั้ง)