...

บ้านตาดทอง ประวัติการทำงานที่ผ่านมา

****บ้านตาดทอง ประวัติการทำงานที่ผ่านมา****

-----ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นว่าบ้านตาดทอง เป็นชุมชนโบราณที่มีความสำคัญทำให้เป็นที่สนใจของนักวิชาการทั้งชาวไทยและต่างประเทศ จึงขอนำเสนอประวัติการทำงานที่ผ่านมาโดยสังเขป ดังนี้ (ในที่นี้ขอรวมเอาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับธาตุตาดทองมาเสนอไว้ด้วยในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนโบราณในสมัยหลัง)

-----พ.ศ. ๒๔๔๔ Etienne Aymonier นักภาษาศาสตร์และนักสำรวจชาวฝรั่งเศส กล่าวไว้ใน “Le Cambodge” ว่า “ปราสาทลูกฆ่าแม่” (Prasat Luk Kha Me) ตั้งอยู่ห่างจาก “เมือง ยโสธร” (moeuong Yassonthon) ไปทางตะวันออกราวหนึ่งชั่วโมงครึ่ง Aymonier ได้อธิบายลักษณะของธาตุไว้ว่า “ชาวลาวเรียกที่แห่งนี้ว่า “Prasat Lûk Khâ Me” (ปราสาทลูกฆ่าแม่?) ‘หอคอยของบุตรผู้ฆ่ามารดา’ อนุสาวรีย์ดังกล่าวก่อด้วยอิฐทั้งหลัง กำแพงแต่ละด้านยาว ๒๐ เมตร ล้อมรอบทางเดิน ซึ่งเป็นที่ที่หอคอยทรงพีระมิดตั้งอยู่”

------พ.ศ. ๒๔๗๙ กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานธาตุตาดทอง ซึ่งอยู่ในบริเวณบ้านตาดทอง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๓ หน้า ๑๕๓๓ ตอนที่ ๐ง วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๗๙

------พ.ศ. ๒๕๐๗ George Coedes นักวิชาการชาวฝรั่งเศส เข้ามาศึกษาจารึกบนแผ่นหินที่พบในเมืองโบราณตาดทองซึ่งเก็บรักษาไว้ที่วัดโพธิ์ศรีมงคล ตำบลตาดทอง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร และพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือ “Inscriptions du Cambodge Vol. VII”

------พ.ศ. ๒๕๒๒ สุรพล ดำริห์กุล นักโบราณคดี กรมศิลปากร และคณะ เข้าสำรวจชุมชนโบราณตาดทอง พบร่องรอยคูน้ำ – คันดินโดยรอบ และดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีในบริเวณกลุ่มใบเสมา พบหลักฐานการฝังศพของมนุษย์ในอดีตตั้งแต่ประมาณ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว

------พ.ศ. ๒๕๒๓ ชะเอม แก้วคล้าย ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรโบราณ กรมศิลปากร ทำการสำรวจ ทำสำเนา อ่านและแปลความจารึกบ้านตาดทองด้านที่หนึ่งอีกครั้ง และตีพิมพ์ในหนังสือ “จารึกในประเทศไทย เล่ม ๓”

------พ.ศ. ๒๕๒๔ – ๒๕๒๗ ทิวา ศุภจรรยา และ ผ่องศรี วนาสิน มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ดำเนินโครงการวิจัยชุมชนโบราณจากภาพถ่ายทางอากาศและระบุว่าบ้านตาดทองคือชุมชนโบราณแห่งหนึ่งในจังหวัดยโสธร ในหนังสือ ทะเบียนตำแหน่งที่ตั้งชุมชนโบราณในประเทศไทย เลขที่ ๔๓ – ๑๑ รหัส ยส. ๔๑๕๑๑๗๔๒๖

------พ.ศ. ๒๕๒๕ กรมศิลปากรประกาศขอบเขตโบราณสถานธาตุตาดทอง ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม ๙๙ ตอนที่ ๑๕๕ วันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ เนื้อที่ ๓ งาน ๙๙ ตารางวา

------พ.ศ. ๒๕๔๑ วิลาสินี แช่มสะอาด นักโบราณคดี สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๘ อุบลราชธานี (ปัจจุบันคือ สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี) และคณะ เข้ามาสำรวจชุมชนโบราณบ้านตาดทอง พบหลักฐานทางโบราณคดีคือ จารึกใบเสมาและคูน้ำ – คันดิน ร่วมกับข้อมูลจากการขุดค้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ จึงสันนิษฐานว่าชุมชนแห่งนี้น่าจะมีอายุ ประมาณ ๒,๕๐๐ มาแล้ว

------พ.ศ. ๒๕๔๒ จังหวัดยโสธร จัดทำหนังสือ วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดยโสธร ตามโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ โดยมีเนื้อหากล่าวถึงชุมชนโบราณบ้านตาดทองและหลักฐานทางโบราณคดีที่พบซึ่งสามารถระบุได้ว่ามีพัฒนาการทางวัฒนธรรมมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์-ทวารวดี-เจนละ-ขอมโบราณ-ล้านช้าง ในช่วง ๒,๕๐๐ ปีเป็นต้นมา

------พ.ศ. ๒๕๔๕ ชะเอม แก้วคล้าย ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรโบราณ กรมศิลปากร ได้ทำการอ่านและแปลความจารึกบ้านตาดทองด้านที่สอง พิมพ์เผยแพร่ในนิตยสารศิลปากร ปีที่ ๕๔ ฉบับที่ ๒ (มีนาคม – เมษายน ๒๕๔๕)

------พ.ศ. ๒๕๔๙ สุรพล ดำริห์กุล พิมพ์เผยแพร่ข้อมูลไว้ใน บทที่ ๓ “บ้านตาดทอง : แหล่งโบราณคดีสำคัญสำคัญในอีสานใต้” ในหนังสือ “แผ่นดินอีสาน” โดยกล่าวถึงงานขุดตรวจทางโบราณคดีเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๒๒ ว่าเนินดินที่ทำการขุดตรวจทั้ง ๒ เนินเป็นพื้นที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา และมีการใช้งานอย่างต่อเนื่องของคนกลุ่มเดียวกันถึง ๓ สมัย อิงจากหลักฐานที่มีรูปแบบใกล้เคียงกันที่ปรากฏในชั้นดินตั้งแต่ชั้นล่างสุดขึ้นมา ได้แก่ รูปแบบเศษภาชนะดินเผา และ ลักษณะการฝังศพ ในช่วงท้ายของชั้นวัฒนธรรมที่ ๓ ปริมาณของหลักฐานนั้นเบาบางลง จนกระทั่งเข้าสู่ชั้นวัฒนธรรมที่ ๔ ซึ่งรูปแบบของหลักฐานและร่องรอยได้เปลี่ยนไปจากเดิม แสดงถึงการย้ายเข้ามาอยู่ของคนกลุ่มใหม่

----ซึ่งผู้เขียนกล่าวไว้ในหนังสือว่า “...ในช่วงระยะสมัยนี้ปรากกฎให้เห็นอยู่ในชั้นดินสมัยที่ ๔ ความหนาแน่นของหลักฐานแสดงให้เห็นว่าเป็นชุมชนที่มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นมาก ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่ากลุ่มชนในช่วงสมัยนี้คงเป็นคนไทยลาวที่ได้เริ่มหลั่งไหลมาสู่บริเวณท้องถิ่นนี้นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๑ เป็นต้นมา และก็เป็นบรรพบุรุษของกลุ่มประชาชนที่อาศัยอยู่บนเนินดินบ้านตาดทองในปัจจุบัน หลักฐานที่แสดงให้เห็นได้ชัดก็คือพระธาตุก่องข้าวน้อยนั่นเอง...”

------พ.ศ. ๒๕๕๒ กรมศิลปากรประกาศขอบเขตโบราณสถานธาตุตาดทอง ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๖ ตอนพิเศษ ๖ ง หน้า ๑๒ วันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒ เนื้อที่ ๑ ไร่ ๑ งาน ๕๙ ตารางวา

------พ.ศ. ๒๕๕๕ สำนักศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี ดำเนินงานโครงการศึกษากำแพงเมือง-คูเมืองชุมชนโบราณบ้านตาดทอง ตำบลตาดทอง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร

-----พ.ศ. ๒๕๖๒ สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี ดำเนินงานโครงการขุดค้นทางโบราณคดี โบราณสถานธาตุตาดทอง ตำบลตาดทอง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ผลการขุดค้นทำให้ทราบว่า พื้นที่โบราณสถานธาตุตาดทองถูกใช้งานพื้นที่ ๒ สมัย คือ สมัยทวารวดี ที่ปรากฏร่องรอยของการฝังใบเสมาและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการตกแต่งหินทราย และ สมัยล้านช้าง ที่ปรากฏการปรับถมพื้นที่ก่อนการก่อสร้างธาตุ รวมทั้งร่องรอยของลานดินสำหรับเผาอิฐที่ใช้ในการก่อสร้าง

-----สำหรับเรื่องบ้านตาดทอง มีข้อมูลองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาอยู่มากมาย ในตอนต่อไปจะนำเสนอเรื่องใด โปรดรอติดตามเร็ว ๆ นี้ครับ

+++นายพงษ์พิศิษฏ์ กรมขันธ์ นักโบราณคดีปฏิบัติการ ผู้เรียบเรียง+++

-----ข้อมูลจาก ----

----Etienne Aymonier, Khmer Heritage in Thailand. แปลจาก Le Cambodge II, Les Provinces Siamoises, Ernest Lerous Editeur, Paris ๑๙๐๑. แปลโดย E.J. Tips, Walter, (กรุงเทพฯ, White Lotus, ๒๕๔๒), หน้า ๑๘๒.

-----ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๓ หน้า ๑๕๓๓ ตอนที่ ๐ง วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๗๙

-----ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม ๙๙ ตอนที่ ๑๕๕ วันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๕

-----ปรุงศรี วัลลิโภดม,บรรณาธิการ., วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดยโสธร(กรุงเทพฯ : คณะกรรมการ,๒๕๔๒), ๖๗.

-----สุรพล ดำริห์กุล.(๒๕๔๙). แผ่นดินอีสาน. กรุงเทพฯ: ด่านสุทธาการพิมพ์.

-----ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๖ ตอนพิเศษ ๖ ง หน้า ๑๒ วันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒

-----ชินณวุฒิ วิลยาลัย.(๒๕๕๔) ชุมชนโบราณบ้านตาดทอง ตำบลตาดทอง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร(เอกสารอัดสำเนา), กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี.

-----นายพงษ์พิศิษฏ์ กรมขันธ์, นายสาริศ วัฒนากาล.(๒๕๖๒) รายงานการขุดค้นทางโบราณคดีโบราณสถานธาตุตาดทอง ตำบลตาดทอง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร(เอกสารอัดสำเนา). สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี

 

ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:

(จำนวนผู้เข้าชม 765 ครั้ง)