ประวัติและบทบาทหน้าที่
ประวัติ
สำนักศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานีเริ่มต้นขึ้นด้วยการเป็น สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๘ อุบลราชธานี จากการที่กรมศิลปากรได้ปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการใหม่ ตามพระราชกฤษฎีกาการแบ่งส่วนราชการกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ ปีพุทธศักราช ๒๕๓๘ จากเดิมมี ๙ หน่วยศิลปากรภูมิภาค เป็นสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในภูมิภาคจำนวน ๑๒ สำนักงาน โดยมีฐานะเป็นหน่วยงานระดับส่วน สังกัดสำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ทำหน้าที่บริหารจัดการด้านโบราณคดี โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุทยานประวัติศาสตร์ ในแต่ละพื้นที่รับผิดชอบ โดยสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๘ อุบลราชธานี มีสำนักงานตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี มีพื้นที่รับผิดชอบ ๗ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด นครพนม มุกดาหาร ยโสธร และอำนาจเจริญ
หลังจากนั้น ได้มีพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไป ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พุทธศักราช ๒๕๔๕ ได้ตั้งกระทรวงวัฒนธรรมขึ้นและได้โอนกรมศิลปากรให้มาสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม และได้มีกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมศิลปากร พุทธศักราช ๒๕๔๕ แบ่งสำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เป็นสำนักโบราณคดีและสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๑-๑๒ เดิมเป็น สำนักงานศิลปากรที่ ๑-๑๕ ซึ่งทำให้สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๘ อุบลราชธานี เปลี่ยนเป็น สำนักงานศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี ขึ้นตรงกับสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร ปฏิบัติหน้าที่การบังคับบัญชาในฐานะผู้อำนวยการกอง รับผิดชอบการบริหารจัดการกิจการด้านโบราณคดี โบราณสถาน อุทยานประวัติศาสตร์ ในเขตพื้นที่ ๕ จังหวัด คือ จังหวัดอุบลราชธานี มุกดาหาร ยโสธร ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ อีกทั้งได้ย้ายที่ตั้งมาอยู่ที่ ตำบลแจระแม อำเภอเมืองอุบลราชธานี ในบริเวณเดียวกันกับหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร อุบลราชธานี
จนถึงปี พุทธศักราช ๒๕๕๐ กรมศิลปากรได้ปรับปรุงโครงสร้างและการบริหารของสำนักงานศิลปากรที่ ๑-๑๕ จากหน่วยงานภายใต้สังกัดสำนักโบราณคดี เป็นหน่วยราชการส่วนกลางในภูมิภาคขึ้นตรงต่อกรมศิลปากร ในชื่อ สำนักศิลปากรที่ ๑-๑๕ รับผิดชอบการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของกรมศิลปากรในเขตพื้นที่ส่วนภูมิภาค และมีการปรับปรุงคำสั่งมอบอำนาจให้มีอำนาจหน้าที่กว้างขวางมากขึ้นดังใน ปัจจุบัน ซึ่งสำนักงานศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี ก็ได้เปลี่ยนเป็น สำนักศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี
อำนาจหน้าที่ สำนักศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี
๑. ดำเนิน งานที่อยู่ในหน้าที่ของกรมศิลปากรในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ในการธำรงรักษาคุณค่าและเอกลักษณ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ ด้านโบราณคดี โบราณสถาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ภาษา วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี เอกสารหนังสือ จดหมายเหตุ นาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ คีตศิลป์ สถาปัตยกรรมและศิลปรรม
๒. กำกับ ดูแล ให้คำปรึกษาและสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รวมทั้งกฎหมายและระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้อง
๓. ปฏิบัติ งานทางวิชาการด้านมรดกศิลปวัฒนธรรมทุกสาขาในเขตพื้นที่รับผิดชอบ พัฒนา สร้างสรรค์ ถ่ายทอด และเผยแพร่องค์ความรู้ที่ได้จากมรดกศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งเป็นศูนย์ข้อมูลด้านมรดกทางศิลปวัฒนธรรมสาขาต่างๆ
๔. ส่งเสริมและประสานการดำเนินงานทางวิชาการของหน่วยงานในเขตพื้นที่รับผิดชอบ
๕. สร้าง ความรู้ ความร่วมมือ ให้คำแนะนำประสานกับจังหวัด หน่วยงานราชการอื่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน ประชาชน ในการดำเนินงานมรดกศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งขยายเครือข่ายการอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรมในเขตพื้นที่รับผิดชอบ
๖. ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย
พื้นที่ดูแลรับผิดชอบในส่วนงานโบราณคดีและการอนุรักษ์โบราณสถาน
สำนัก ศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี มีพื้นที่รับผิดชอบในส่วนงานโบราณคดีและงานอนุรักษ์โบราณสถานใน ๕ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดยโสธร และจังหวัดมุกดาหาร
สำนัก ศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี มีพื้นที่รับผิดชอบในส่วนงานโบราณคดีและงานอนุรักษ์โบราณสถานใน ๕ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดยโสธร และจังหวัดมุกดาหาร
(จำนวนผู้เข้าชม 465 ครั้ง)